วิเคราะห์สาเหตุ “ยีราฟ” ตกน้ำตาย ปัจจัยไหน ใครรับผิดชอบ!!


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รายการ “เป็นเรื่องเป็นข่าว” วันนี้(30 ม.ค.63)  สะท้อนปัญหาสาเหตุการตายของยีราฟ หลังโดดหนีจากกรงเพื่อไปสวนสัตว์ปราจีนบุรี ใครต้องรับผิดชอบ

ภายหลังพนักงานของสวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ และเจ้าหน้าที่กู้ภัยฉะเชิงเทรา ออกตามหายีราฟอีก 1 ตัวที่หลุดออกจากกรงขังบนรถบรรทุกไปที่สวนสัตว์ที่ปราจีนบุรี บริเวณสี่แยกบางคล้า ถนนสาย 304 มุ่งหน้า อ.พนมสารคาม ตั้งแต่คืนวันที่ 28 ม.ค.   ที่ผ่านมา ล่าสุดวันที่ 30 ม.ค.2563 พบยีราฟตัวดังกล่าวแล้ว แต่น่าสลดใจ เพราะการพบครั้งนี้ กลับเป็นซากยีราฟตกบ่อบัวตาย

ด่วน!! พบ “ยีราฟ” ตายในร่องน้ำหน้าโรงแรมซันไรส์ลากูน

เจ้าหน้าที่กู้ภัยคาดยีราฟยังอยู่ใกล้กับจุดที่หลุดจากกรง

 

ผู้สื่อข่าว PPTV HD 36  รายงานว่า  การพบซากยีราฟ เป็นการพบโดยบังเอิญ หลังจากทีมงานซาฟารีเวิลด์   ค้นหาแล้วไม่พบ จนลูกเจ้าของซาฟารีเวิลด์มาพบช่วงบ่าย อาจเป็นไปได้ว่าตอนแรกอาจจมอยู่ในน้ำ มีใบบัว รากไม้พันอยู่ จนกระทั่งลอยขึ้นมานั่นเอง ขณะเดียวกันล่าสุดศูนย์ขยายพันธุ์สัตว์และเพาะเลี้ยง จ.ปราจีนบุรี ได้มีการขนย้ายซากยีราฟเพื่อชันสูตรหาสาเหตุการตายแล้ว

วันนี้ (30 ม.ค.2563) รายการเป็นเรื่องเป็นข่าว  มาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในตอน ไขปม “ยีราฟ” ตาย!  โดยเชิญ   รศ.น.สพ. ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ และสัตววิทยาประยุกต์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

รศ.น.สพ. ปานเทพ   กล่าวถึงสาเหตุการตาย ว่า   จะให้แน่ชัดก็ต้องชันสูตรซากยีราฟ จะทำให้ทราบว่า  ตายก่อนจมน้ำ หรือจมน้ำตาย ก็จะประมวลสาเหตุได้ ซึ่งอาจมาจากสาเหตุเดียว หรือหลายสาเหตุก็เป็นได้ การผ่าซากบอกได้ระดับหนึ่ง อีกสิ่งที่ต้องพิจารณาคือ การขนย้ายเป็นไปตามแผนหรือไม่ และอะไรเป็นปัจจัยทำให้ยีราฟลงไปในน้ำ ทั้งนี้ ในธรรมชาติของสัตว์ชนิดนี้อยู่ในพื้นที่ที่โล่ง หลายคนบอกว่าขายาว คอยาวจะจมน้ำได้อย่างไร แต่หากนอนราบก็ตายอยู่ดี และสัตว์ประเภทนี้ว่ายน้ำไม่เป็น บางทีกลางคืนวิ่งข้ามถนนมาก็อาจพลัดตกน้ำและจมลงไปก็ได้

เมื่อถามว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับกรณียิงยาสลบมาก่อนหน้านี้ประมาณ  1 โดสทำให้อ่อนแอหรือไม่...

รศ.น.สพ. ปานเทพ ตอบว่า ก็ต้องดูว่า ให้ตามโดสหรือไม่ อาจไม่ออกฤทธิ์ หรืออาจออกฤทธิ์ไม่เต็มที่ ทำให้สลึมเสลอ แต่ก็มีปัจจัยอื่นอาจตกใจกลัวด้วย ไม่ใช่แค่ 1+1 เท่ากับ 2 ต้องดูหลายๆอย่างด้วย แม้แต่วิธีการหาตัวสัตว์ตั้งแต่เริ่มต้น มีการวางแผนหรือไม่อันนี้สำคัญ กรณีหากโดนสัตว์อื่นทำร้ายนั้น ก็ต้องดูว่ามีสัตว์จรจัดเป็นกลุ่มหรือไม่ เพราะยีราฟเป็นสัตว์กินพืช ไม่ใช่สัตว์นักล่า หากโดนจริงก็อาจเป็นสุนัขก็ได้ อาจโดนวิ่งไล่และตกใจไปตกน้ำก็เป็นได้ แต่หากเป็นจริงก็ต้องได้ยินเสียงแล้ว ซึ่งพวกนี้ก็เป็นสิ่งคาดเดาทั้งนั้น

เมื่อถามว่าเดิมใช้พารามอเตอร์ในการค้นหา เพื่อให้ยีราฟตกใจกลัวจากเสียงดัง..

รศ.น.สพ.ปานเทพ กล่าวว่า ยีราฟเป็นสัตว์ตื่นตัวได้ง่าย เพราะเป็นสัตว์ถูกล่า ซึ่งเชื่อว่าเขาจะพรางตัว และเราก็ไม่สามารถกำหนดทิศทางได้ว่า เขาจะออกมาตอนไหน ยิ่งมีใกล้แหล่งน้ำ ก็ยิ่งน่ากลัว การจะทำอะไรก็ต้องให้สัตว์ปลอดภัย ต้องดูว่าการจะทำอะไรต้องให้ปลอดภัยทั้งสัตว์ ทั้งคน ซึ่งอาจต้องให้สงบและหาวิธี ซึ่งก็อาจเป็นอีกวิธีหนึ่ง  จริงๆ เราก็ต้องมาใช้วิธีดูรอยเท้า การจะไปคนจำนวนมาก จนเสียงดัง สัตว์ยิ่งแตกตื่น ซึ่งเมื่อสัตว์เครียดมากๆ ก็จะทำให้สัตว์ระแวง ประสาทตื่นตัวตลอดเวลา ไม่กินไม่พัก ต่อให้รอดได้อาจจะเสียชีวิตในอีก 7-14 วันก็เป็นได้ เพราะเมื่อเครียดไม่กินก็อาจเกิดโรคได้

“จริงๆเราควรมีการฝึกซ้อมรับสถานการณ์แบบนี้ไว้ หากไม่มี เมื่อเกิดปัญหาก็จะเกิดความเสียหาย เราต้องมีทั้งแผน คน อุปกรณ์ ต้องเตรียมพร้อมทั้งหมด เพียงแต่ว่า สถานการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน แต่เราก็ต้องเตรียมไว้ อาจไม่ใช่แค่ยีราฟ แต่สัตว์ชนิดอื่นๆ ทั้งเจ้าของ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน ส่วนใครจะรับผิดชอบก็ต้องอยู่ที่การสืบสวนจะได้หาทางป้องกันได้” รศ.น.สพ.ปานเทพ กล่าวทิ้งท้าย

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ