ไวรัสโคโรนา :  สธ.เผยจนขณะนี้ยังไม่ทราบความรุนแรง-อัตราตายจากเชื้ออู่ฮั่น


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หมอห่วงเดือนเดียวผู้ป่วยไวรัสโคโรนาแซง “ซาร์ส” แล้ว  ย้ำแม้มีมาตรการเข้ม แต่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ก็ยังมีความเสี่ยง   เชื่อหากเมื่อไหร่ไม่ได้รับความร่วมมือจากนทท.  ผู้บริหารปท.ปรับมาตรการขึ้นแน่นอน

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโคโรนาในประเทศไทย ภายหลังพบแท็กซี่คนไทยติดเชื้อ 1 ราย ว่า  เชื้อโคโรนา เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่ผ่านมาไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง แต่ระยะต่อมา เราเจอที่ก่อให้เกิดความรุนแรง ตัวแรกคือ ซาร์ส ป่วย 8,000 กว่าคน เสียชีวิตไม่ถึง 10% ตัวต่อมาคือ เชื้อเมอร์ส ตั้งแต่ ปี 2012 มีผู้ป่วย 2,000  คน ทุกวันนี้ยังพบอยู่จากตะวันออกกลาง ซึ่งโรคเมอร์สรุนแรงกว่าซาร์ส เพราะป่วย 100 คนตายประมาณ 30 กว่าคน แต่โรคซาร์ส ไม่เจอแล้ว  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไวรัสโคโรนา แค่เดือนเดียวตัวเลขผู้ป่วยจะแซงหน้าซาร์สแล้ว แต่ความรุนแรงเรายังไม่รู้  ส่วนตัวเลขอัตราการเสียชีวิตก็ยังไม่ทราบแน่ชัด ซึ่งเป็นตัวเลขที่จำเป็นและต้องการทราบมาก

ไวรัสโคโรนา: สธ.ยืนยัน "แท็กซี่คนไทย" ติดเชื้อโคโรนาจากคนสู่คนเป็นรายแรก!

ไวรัสโคโรนา : สธ.ย้ำอย่าวิตก “คนขับแท็กซี่” เมื่อป่วยหยุดขับรถทันที ตัดวงจรแพร่ระบาด

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ความเสี่ยง ขึ้นอยู่กับโอกาสที่เราจะสัมผัสเชื้อมีมากแค่ไหน อันดับแรก เมื่อเราเดินออกจากบ้าน โอกาสจะเจอผุ้ป่วยมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทุกวันนี้ในประเทศไทยที่มีผู้ป่วยยังน้อย จะเป็นผู้ป่วยชาวจีน หากเราไม่สัมผัสผู้ป่วย โอกาสติดเชื้อต้องบอกว่า เป็นศูนย์ เพราะโอกาสติดเชื้อต้องมาจากผู้ป่วย การสัมผัสมี 2 แบบ คือ การหายใจเอาละอองเชื้อเข้าไป โดยเชื้อนี้เป็นไวรัส วิธีการแพร่โรคก็มาจากการพูด การไอ ที่กระเด็นออกมา อีกคนหายใจเข้าไป  วิธีแบบที่ 2 คนไข้อาจไอแล้วเอามือปิดปาก และเอามือไปเช็ดพื้นผิวต่างๆ คนที่สองบังเอิญไปโดนพื้นผิวเหล่านี้ และนำมาลูกหน้า ขยี้ตา จมูก ดังนั้น การลดความเสี่ยง คือ การลดโอกาสที่เชื้อจะเข้าสู่ทางเดินหายใจ และการสัมผัสเอามือมาขยี้ตา ปาก เป็นต้น

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า   เมื่อมีการสื่อสาร อยากให้นำเสนอว่า วันนี้คนไทยมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน และเราจะลดความเสี่ยงส่วนตัวของเราได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม หากใครทำงานใกล้ชิดกับคนจีน ก็จะมีความเสี่ยงสูงกว่าวันๆคนที่อยู่แต่ในบ้าน ดังนั้น แต่ละคนต้องดูแลตามระดับความเสี่ยงที่ตัวเองมี อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ป่วยยังเท่าเดิม 19 คน กลับบ้านแล้ว 7 คน และนอนรักษารพ. 12 คน ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 344 คนรวมคนจีน และคนไทยที่มีประวัติสัมผัสคนจีน  โดยกลับบ้านแล้ว 70 คน เนื่องจากผลเชื้อเป็นลบ เป็นการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ อย่างไรก็ตาม  ระยะหลังผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเราขยายวงกว้างมากออกไป เดิมเราคัดกรองจากอู่ฮั่น แต่ตอนนี้ทุกเมือง และระยะหลังเราเพิ่มคนไทยที่สัมผัสใกล้ชิด  โดยพิจารณาจากผู้สัมผัสใกล้ชิด ที่มีการพูดจา หันหน้าหากันในระยะเวลาหนึ่ง หรือการอยู่ในสถานที่ปิด เช่น ในรถ หรือในสถานที่ที่ปิดนานพอสมควร เป็นต้น

นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับคนไทยที่ต้องระมัดระวัง อย่างคนขับรถสาธารณะ คนขับแท็กซี่ ต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ล้างรถ ยิ่งหากต้องขับรถส่งผู้โดยสารชาวจีนก็ต้องระมัดระวังตัวเอง ส่วนคนไทยอื่นๆ โอกาสสัมผัสผู้ป่วยน้อยมาก บางพื้นที่ที่ไม่มีคนจีนท่องเที่ยวก็ดำเนินชีวิตได้ปกติ แต่หากใครเริ่มรู้สึกป่วย มีไข้ ไอ เจ็บคอ ก็ให้โทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 และแจ้งแพทย์ไว้ก่อนเลยว่า เรามาพบแพทย์ด้วยเรื่องอะไร จะได้ป้องกันได้ทันที

“ปัจจุบันมาตรการที่เรามี ถือว่าเข้มงวดมากแล้ว เพราะอย่างไรเสียตราบใดยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ ตรงไปตรงมา แต่หากเมื่อไหร่ที่เราไม่ได้รับความร่วมมือกับนักท่องเที่ยวที่ดีพอ ก็เชื่อว่าผู้บริหารประเทศอาจต้องมีการปรับมาตรการในการควบคุมขึ้น” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

เมื่อถามต่อว่าแท็กซี่ที่ติดเชื้อ มีการแจ้งผลช้าหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า โรคไวรัสโคโรนา เป็นโรคใหม่ ก่อนหน้านี้เราเคยเจอคนไทยมีผลเป็นบวก แต่ยืนยันซ้ำมีผลเป็นลบ พูดง่ายผลบวกปลอม เราจึงต้องตรวจซ้ำ เช่นเดียวกันกับแท็กซี่รายนี้เราต้องยืนยันก่อนว่า ใช่หรือไม่ เมื่อผลได้แล้ว และนำเข้าคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ เมื่อมีการพิจารณาออกมา เราก็แถลงทันที ขณะเดียวกันไม่ใช่ว่าแถลงแล้วค่อยดำเนินการป้องกัน เรามีการดำเนินการเรื่องอื่นๆไปก่อนหน้านั้นแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการดูแลกลุ่มผู้ป่วยเข้าเกณฑ์จำนวน 344 คน อย่างไร   นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  หากสัมผัสใกล้ชิด และมีอาการเข้าได้กับการติดเชื้อก็จะอยู่ในห้องความดันลบในโรงพยาบาล และได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดทุกราย

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช  รองอธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้จัดผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาดูแลตัวเอง และยังได้ปรับระบบการดูแลสำหรับผู้เข้าเกณฑ์ โดยใช้ทรัพยกรจากกรมการแพทย์ และสถาบันบำราศนราดูร พร้อมทั้งยังหารือร่วมกับโรงพยาบาลสังกัดกทม. โดยวันที่ 3 ก.พ.นี้  ที่โรงแรมเอเชีย จะมีการประชุมปรับระบบการบริการทั้งหมด ทั้งภาครัฐและเอกชน  

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ