ไวรัสโคโรนา: เปิดข้อมูลกลไกเชื้อไวรัสโคโรนา “ยา-วัคซีน” ชนิดไหน..รักษาได้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หมอจุฬาฯ เผยข้อมูลวิชาการกลไกการเกิดเชื้อไวรัสโคโรนา กับทิศทางการใช้ยา HIV  กับปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะใช้รักษา 

วันที่ 3 ก.พ.2563  ศ.นพ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่  คณะแพทยศาสตร์จุฬา สภากาชาดไทย กล่าวถึงยารักษาโรคปอดอักเสบรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า   จากการรวบรวมข้อมูล โดยใช้โครงจาก วารสาร Bioscience Trends 28 มกราคม 2020 และรายงานการรักษาในคนที่ติดเชื้อไวรัส RNA ชนิดต่างๆและกระบวนการในการเพิ่มจำนวนและแพร่กระจายในมนุษย์ ทำให้ทราบว่า ไวรัสตัวนี้เป็นไวรัสในกลุ่ม  RNA ซึ่งมีไวรัสอื่นๆหลายตัวซึ่งมีกระบวนการ ในการเข้าสู่มนุษย์ ผลิตตัวเพิ่มจำนวนในเซลล์มนุษย์และกระจายไปทั่วร่างกาย  อีกทั้งยังมีกลไกในการหลีกหนีการตรวจจับ ตรวจตราของระบบภูมิคุ้มกันแต่เมื่อสามารถตั้งตัวได้กลับยั่วยุระบบภูมิคุ้มกันให้มาทำสงครามกันเกิดเป็นการอักเสบอย่างมโหฬารและทำให้โรครุนแรงหนักขึ้นไปอีก

ไวรัสโคโรนา: รพ.ราชวิถี ทดลองใช้ยา 2 ชนิด รักษาคนไข้ติดเชื้ออู่ฮั่น ได้ผลดีภายใน 48 ชม.

ไวรัสโคโรนา: เปิดสูตรรักษาผู้ป่วยไวรัสโคโรนา อาการดีขึ้นใน 48 ชั่วโมง

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า พร้อมกันนั้นเองไวรัสโคโรน่ายังมีความชาญฉลาดจากการที่มีวิวัฒนาการตนเองข้ามมาจากค้างคาวสู่สัตว์เดินดินจนลงมาสู่คน  และเมื่อเข้าคนก็รู้จักปรับตัวเองให้หน้าตาเปลี่ยนไปจนภูมิคุ้มกันจำเพาะที่เริ่มจะสร้างขึ้นเพื่อที่จะทำลายไวรัสมองไม่เห็นจำไม่ได้  และเป็นที่เกรงกันว่าเมื่อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้เกิดการติดเชื้อในวงกว้างและคนในพื้นที่นั้นๆ เริ่มจะมีภูมิคุ้มกันของตนเองหลังจากที่ได้รับไวรัสตัวนี้โดยที่ติดเชื้อไปในปริมาณน้อยๆโดยที่ไม่มีอาการ  หรืออาการแต่น้อย  เปรียบเสมือนกับได้รับวัคซีนตามธรรมชาติ    แต่เมื่อไวรัสเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาไปแม้ว่าร่างกายมนุษย์จะพอจำได้ก็ตามแต่แทนที่จะเข้าไปกำจัดกลับช่วยเหลือไวรัสและทำให้กระบวนการของโรคกลับรุนแรงขึ้นไปอีก   

 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ไวรัสโคโรนานั้น แม้จะมีหลายตัวที่อยู่ในคนแล้วก็ตามและทำให้เกิดอาการเล็กๆน้อยๆเหมือนไข้หวัด ไอจาม น้ำมูกไหล  อย่างเช่นไวรัสโคโรน่า  NL 63 และปกติทำให้เกิดอาการน้อยนิดได้ในเด็กคนแก่  หรือคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้แต่แล้ว ปี 2018 (รายงานในปี 2020) ปรากฏว่าเด็ก 23 รายมีปอดบวมอย่างรุนแรงหรือหลอดลมอักเสบ ทั้งนี้ เกิดขึ้นจากการที่มีไวรัสแยกเป็นกลุ่มใหม่  (subgenotypes) คือ C3 และ B มีการ ผันแปรของรหัสพันธุกรรม ที่ ตำแหน่ง 1507 L ใน ส่วนหนามที่จะจับกับเซลล์ที่จะทำให้ไวรัสเข้าเซลล์ (spike Protein receptor binding domain ) ทำให้เก่งกาจขึ้นในการที่วิ่งเข้าเซลล์ ได้

 

“ในส่วนของไวรัสโคโรน่า 2019 จากการติดตามรหัสพันธุกรรมทั้งตัวตั้งแต่เริ่มที่มีการระบาดพบว่ามีการผันแปรของรหัสพันธุกรรม ในแทบทุกส่วนอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งจะต้องจับตามอง ว่าจะมีการพัฒนาในทางดุร้ายขึ้น  กระจายได้เร็วขึ้นและสามารถติดต่อได้กว้างขวางในทางลมหายใจ เนื่องจากไม่มีวัคซีนหรือยาใดๆ ชัดเจนในไวรัสตระกูลRNA” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า  ทั้งหมดดังที่กล่าวข้างต้น วิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือรวบรวมยาต้านไวรัสครอบจักรวาลง่ายๆที่มีอยู่ขณะนี้   โดยมีข้อได้เปรียบตรงที่มีการใช้มาก่อนและรู้ขนาด รู้การบริหารยาและผลข้างเคียงต่างๆ  อาทิ ยาอินเตอร์เฟียรอน I และ II เป็นต้น  วิธีการถัดมา โดยการพิเคราะห์กระบวนการ   ที่ไวรัสมีการเพิ่มจำนวนในเซลล์ในหลอดทดลองต่างๆ   และไปเทียบเคียงกับสารต่างๆที่อยู่ในสารบบสารบัญว่าจะมีตัวใดสามารถออกฤทธิ์ขัดขวางในขั้นตอนกลไกต่างๆ

 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า วิธีการอีกวิธีเป็นวิธีที่ มีการค้นหากันทั่วโลกในขณะนี้โดยการพัฒนาขึ้นมาใหม่หรือใช้ยาที่มีประสบการณ์ในการใช้ในช่วงตั้งแต่อีโบล่า  ซาร์ส เมอร์ส และปรับนำมาใช้กับโคโรน่า 2019  ทั้งนี้สามารถพัฒนาเป็นทั้งวัคซีนและยารักษาคนที่ติดเชื้อและเกิดอาการ แล้วโดยขัดขวางกระบวนการที่ไวรัสจะเข้าเซลล์  ที่ S1 และ/หรือ S2 spike  ระบวนการที่ขัดขวางการแยกไวรัสออกเป็นชิ้นในเซลล์และจะทำการเพิ่มจำนวน  เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์ ยาครอบจักรวาล ที่ขัดขวางเอนไซม์ในการเพิ่มจำนวนไวรัส RNA dependent RNA polymerase inhibitor ดังที่มีการใช้ใน โคโรน่า 2019 ในผู้ป่วยที่สหรัฐ  remdesivir และแม้แต่  favipiravir ที่เป็นยาที่ขึ้นทะเบียนในประเทศญี่ปุ่นสำหรับรักษาไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรง  และคณะของเราได้ใช้ในการรักษาหนูที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าในสมองและรอดชีวิตได้ 10% แต่อย่างไรก็ตามผลลัพธ์และประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นในหลอดทดลองหรือที่ใช้ในผู้ป่วยเองยังไม่สามารถสรุปผลได้

 

“ข้อแนะนำปฏิบัติในประเทศจีนขณะนี้มีตั้งแต่การใช้  อินเตอร์เฟียรอนอัลฟ่า  5ล้านหน่วย วันละสองครั้ง   ยาผสม looinavir/ritinavir (ขนาด 400/100มก วันละ 2 ครั้ง) ทั้งนี้จากประสบการณ์ในฮ่องกงจากการรักษาโรคซาร์ส พบว่า ยาผสมสองตัวกับยาต้านไวรัส  ribavirin ช่วยลดความรุนแรงของอาการปอดบวม และเช่นเดียวกันยาตัวอื่นที่เพิ่มขึ้นมาและอาจจะใช้ได้ เป็นยาครอบจักรวาล nucleiside analogs เช่น fabiravir ribavirin และการใช้ร่วมกันระหว่าง  oseltamivir กับ fabiravir จะดีกว่า oseltamivir โดดๆ นอกจากนั้น remdesivir ที่เป็นยาอีกดัวที่ครอบจักรวาล  ดูว่าอาจจะมีภาษีดีกว่าตัวอื่นในสัตว์ทดลอง ที่ติดเชื้อเมอร์ส และอยู่ในการศึกษาระยะที่สาม ในคนที่ติดเชื้ออีโบล่า แต่ ยังคงถือว่าเป็นขั้นศึกษาติดตาม” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว  

 

อาจารย์จุฬาฯ ยังบอกว่า การใช้  oseltamivir zanamivir peramivir มีมานานและแพร่หลายในไข้หวัดใหญ่  รวมทั้ง oseltamivir มีการใช้แพร่หลายในประเทศจีนขณะนี้ที่ติดเชื้อโคโรน่า 2019  แต่ยังไม่มีข้อมูลถึงประสิทธิภาพชัดเจน  ทั้งนี้โดยที่ประเทศจีนมีการใช้ยาหลายชนิดประกบประกอบกันในผู้ป่วยที่มีอาการปวดบวมและอาการหนักอยู่แล้ว แต่ก็ยังสรุปผลไม่ได้ และยังมียาอีกหลายตัวที่ขัดขวาง การเกาะติดเข้าเซลล์ EK1. Abidol.  ขัดขวางการสร้าง RNA เข่น TDF และ 3TC ยาต้านการอักเสบ ไม่ว่าจะเป็นยาปัจจุบันหรือสมุนไพรต่างๆ

 

กล่าวโดยรวม  จากคณะทำงานของประเทศจีนที่ได้รับการสนับสนุนการวิจัยของรัฐบาลจีนเอง ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสโคโรน่า 2019 ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนป้องกันหรือยาที่ใช้รักษา

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ