จิตแพทย์แนะวิธีเยียวยาจิตใจ หลังผ่านเหตุการณ์โคราช  


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รายการเป็นเรื่องเป็นข่าววันนี้ (12 ก.พ.) เชิญจิตแพทย์มาให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวหลังเผชิญเหตุร้าย ทำอย่างไรไม่ให้ความกลัวฝังจิตใจยาวนาน

จากเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช ได้เกิดความสูญเสียอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สิ่งที่น่ากังวล และต้องเฝ้าระวัง เพื่อดูแลเยียวยาอย่างเหมาะสม คือ ผู้ประสบเหตุการณ์ รวมไปถึงทุกคนที่มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ เราต้องมีวิธีในการเยียวยาจิตใจอย่างไร

กรมสุขภาพจิตติดตามผู้ประสบเหตุโคราช แบ่ง  3 กลุ่มฟื้นฟูสภาพจิตใจ

รายการ เป็นเรื่องเป็นข่าววันนี้ (12 ก.พ.)   ได้เชิญ นพ.ณัฐ ไกรภัสสร์พงษ์  จิตแพทย์ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์  มาให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อดูแลสภาพจิตใจของเรา  ในตอน.. ถอดบนเรียน “โศกนาฎกรรมโคราช”  

นพ.ณัฐ   ให้ข้อมูลว่า สิ่งสำคัญคือ ต้องให้ความสำคัญกับผู้ประสบเหตุการณ์มากที่สุด การจะมาถามว่า เพราะอะไรเขาถึงก่อเหตุ แต่จริงๆ ตอนนี้เราต้องมาเน้นที่คนที่ประสบเหตุด้วย รวมทั้งคนที่ได้รับข้อมูลข่าวสารเช่นกัน  อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่เสี่ยงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ คือ กลุ่มผู้ประสบเหตุ กลุ่มที่เป็นญาติ ซึ่งผู้สูญเสียไม่ใช่เรื่องเสียชีวิต แต่ยังรวมทั้งจิตใจ ทรัพย์สิน กลุ่มนี้ต้องได้รับการดูแลเร่งด่วน ทางกรมสุขภาพจิตจึงต้องเข้าไปดูแลคนกลุ่มนี้ แน่นอนว่า คนกลุ่มนี้ยังไม่เกิดโรคตอนนี้ แต่ในอนาคตจะฝังลึกไปตลอดได้ แม้กระบวนการในธรรมชาติจะเยียวยาตัวเองได้ประมาณหนึ่ง แต่บางครั้งก็อาจต้องการตัวช่วยด้วย

นพ.ณัฐ กล่าวว่า ภาพที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เป็นภาพน่ากลัว ยิ่งมาจากมนุษย์ด้วยกัน ก็จะยิ่งกว่าเกิดจากธรรมชาติ ภาพนี้จะเป็นจุดใหญ่ แต่เมื่อผ่านไปเรื่อยๆ ภาพนั้นก็จะค่อยๆลดลง ซึ่งก็จะยืนยันได้ว่า ตัวเขาผ่านมาได้แล้ว โดยเราต้องก้าวข้ามไปให้ได้ แม้ช่วงแรกๆจะยาก ซึ่งโดยธรรมชาติจะทำได้ แต่บางครั้งจะมีลักษณะว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะเทือนขวัญมาก มีบางกลุ่มที่ภาพนี้ยังติดอยู่ในใจ จนเกิดอาการที่ต้องเผชิญภับภาวะสะเทือนขวัญ มีภาพความหวาดกลัวผุดขึ้นเรื่อยๆ ตามหลอกหลอนตลอด

“จริงๆ คนรอบข้างมีส่วนช่วยมาก โดยเราต้องสอดส่องมองหาว่า คนรอบข้างเรามีอะไรเปลี่ยนไปหรือไม่ วิตกกังวลหรือไม่ อารมณ์เปลี่ยน จากนั้นต้องใส่ใจรับฟัง เพราะจะทำให้คนประสบเหตุรู้ว่ายังมีคนรอบข้างที่พร้อมจะสู้ไปกับเขา กำลังใจจากคนรอบข้างสำคัญที่สุด หรือบางครั้งแค่มีคนใกล้ๆ กอด โอบไหล่ ก็รู้สึกดี” นพ.ณัฐ กล่าว

เมื่อถามว่าจำเป็นต้องไปค้นหาเหตุผลการก่อเหตุร้ายครั้งนี้เพื่อหาทางป้องกันหรือไม่ นพ.ณัฐ กล่าวว่า การป้องกันความรุนแรงเป็นสิ่งที่ต้องป้องกันอยู่แล้ว แม้จะไม่มีเหตุการณ์นี้ แต่การไปค้นหามากๆ อาจเป็นดาบสองคม กลายเป็นการเลียนแบบพฤติกรรมซ้ำๆ เหมือน CopyCat ตรงนี้ต้องระวัง ส่วนประเด็นการแก้ไขสาเหตุ ป้องกันปัญหาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อถามว่ามีหลายคนมองว่าการไปหาสาเหตุการก่อเหตุครั้งนี้มาจากการถูกกดขี่ข่มเหง ซึ่งบางฝ่ายเกิดเห็นใจ นพ.ณัฐ กล่าวว่า คนเราเห็นใจได้ แต่ไม่ได้แปลว่าต้องยอมรับพฤติกรรมความรุนแรง และไม่ได้แปลว่าเราต้องพูดถึงพฤติกรรมความรุนแรงซ้ำๆ ซึ่งก็จะกระตุ้นให้คนที่ได้รับข้อมูลรู้สึกแย่  

“ในเรื่องของการเสพข่าวไม่ให้เครียดนั้น ปกติเราอยากได้ข้อเท็จจริง แต่บางครั้งก็มีบางอย่างที่คอยกระตุ้นในสิ่งที่เราไม่อยากเจอ เช่น เสียงดนตรีประกอบ คำว่า คลั่ง บ้า ก็กระตุ้น และเราควรลดจำนวนชั่วโมงการติดตามข่าวลง การไปติดตามตลอดเวลาก็อาจทำให้เราจิตตกได้ และขอย้ำว่าอย่าไปหาคำตอบทุกอย่างก็ได้ เหมือนคำสอนพระพุทธเจ้าว่า คำตอบบางอย่างก็ไม่ได้ทำให้เราพ้นทุกข์ อย่างการป้องกันความรุนแรงต้องทำอยู่แล้ว เพียงแต่มีหลายวิธี” จิตแพทย์ กล่าว

เมื่อถามว่ากรณีมีคนโพสต์เฟซบุ๊กปลอมเป็นคนร้าย บ้างก็โพสต์เลียนแบบผู้ก่อเหตุ ถือเป็นพฤติกรรมเลียนแบบหรือไม่ นพ.ณัฐ กล่าวอีกว่า การพูดชื่อผู้ก่อเหตุบ่อยๆ บางครรั้งอยากรู้ข้อเท็จจริง แต่ก็อาจเป็นดาบสองคม จนทำให้เกิดการเลียนแบบ เพราะมีบางคนคิดว่าเป็นฮี่โร แต่จริงๆไม่ใช่ มีผลกระทบกับสังคมพอสมควร และหากเราทำบ่อยๆ ก็จะมีเฟซปลอมขึ้นมา หรือมีการโพสต์บางอย่างคล้ายผู้ก่อเหตุ  ส่วนพฤติกรรมเลียนแบบนั้น มักเจอประมาณ 2 สัปดาห์หลังเกิดเหตุ เพราะเริ่มซาไปแล้ว

“คนที่ทำแบบนี้อาจคิดว่าจะได้เป็นจุดสนใจ มีตัวตน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด และสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ หลายๆครั้งก็ควรหยุด ไม่ควรไปโหมกระแสเกินไป คนจะโฟกัสมาก ทำให้เศร้า และบางคนอยากเลียนแบบ เพราะรู้สึกว่าถูกพูดบ่อยๆ และคนที่จะเป็นแบบนี้ก็ไม่ได้จำเป็นต้องป่วยเป็นจิตเวช ซึ่งไม่ใช่ อย่าลืมว่า ควมเจ็บป่วยไม่เท่ากับการมีพฤติกรรมรุนแรง” นพ.ณัฐ กล่าว

นอกจากนี้ อยากเตือนผู้ที่เสพข่าวว่า เวลาเสพข่าวนั้น บางครั้งข่าวมาพร้อมกับการกระตุ้นอารมรณ์ ดังนั้นผู้เสพข่าวต้องรู้จักดูอารมณ์ตัวเองว่า เมื่อเรารับรู้ข่าวทำให้เราอารมณ์เปลี่ยนหรือไม่ หากเปลี่ยนต้องพัก ยิ่งการเสพข่าวผ่านโซเชียลฯ ก็ต้องระวัง ดังนั้น ไปทำกิจกรรมอย่างอื่นด้วย จริงๆ ข่าวไม่ได้มีแค่มิติความรุนแรง ยังมีมิติเชิงบวก ทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และทุกคนที่คอยช่วยเหลือ การร่วมกันบริจาคโลหิต การแสดงให้เห็นถึงน้ำใจของคนไทย เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นที่โคราช แต่หลายคนก็อยากจะผ่านพ้นจุดนี้ไปด้วยกัน” นพ.ณัฐ กล่าว

ทั้งนี้ เรามีสายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรได้ 24 ชั่วโมง และหากรู้สึกว่าต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ก็ควรไปพบจิตแพทย์ เพราะการพบจิตแพทย์ไม่ได้หมายถึงว่า เราเป็นบ้า เราต้องเปลี่ยนความคิดตรงนี้...

“กรมสุขภาพจิต” เตือน เสพข่าวการเมืองมาก ส่งผลสุขภาพจิต

 

 

 

 

 

 

 

 

  

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ