เปิดเครือข่ายแม่อุ้มบุญใหญ่สุดในไทย จับแล้ว 9 คน พบส่งออกเด็กทารกข้ามชาติ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แถลงข่าวจับกุมกระบวนการอุ้มบุญผิดกฎหมายข้ามชาติ คาดใหญ่สุดในไทย ล่าสุดรวบรวมข้อมูลพบแม่อุ้มบุญในกระบวนการกว่า 29 คน เตรียมขยายผลมีใครเกี่ยวข้อง รวมทั้งแพทย์ แต่ยังเปิดเผยไม่ได้

ตามที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำโดยกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904  พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน บุกเข้าตรวจค้นพื้นที่ 10 จุด ใน กทม. เพื่อทลายเครือข่ายแม่อุ้มบุญที่รับจ้างตั้งครรภ์ ก่อนจะส่งเด็กทารกไปยังประเทศจีนนั้น

บช.ก. บุกค้น 10จุดใน กทม. ทลายแก๊ง “อุ้มบุญ” ข้ามชาติ

พบแพทย์ 1 ใน 4 คลินิก ถูกพาดพิงมีประวัติทำอุ้มบุญ

ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 13 ก.พ.2563   พล.ต.ต.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบก.ปคม.  กล่าวว่า เราได้สนธิกำลังหลายหน่วยงานในการดำเนินการครั้งนี้ ทั้งอธิบดี สบส. และจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยเรื่องนี้ได้ตั้งคณะทำงานตั้งแต่เดือนพฤษภาคม สืบสวนเรื่อยมาจนพบกระบวนการของผู้ต้องหา ซึ่งพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับหลายพื้นที่ เชื่อว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เบื้องต้นออกหมายจับ 10 คน คนหนึ่งไปต่างประเทศ น่าจะออกหมายจับไปจับที่จีน และยังมีอีก 9 คนเราก็ออกหมายจับ โดย 10 จุดที่เราตรวจค้นก็พบหลักฐานมากมาย  

“กระบวนการนี้เป็นกระบวนการต่างชาติมาจากหญิงสาวในการอุ้มบุญ ซึ่งก่อนกฎหมายออกก็มีลักษณะทำแบบนี้ และฝากครรภ์ คลอดในประเทศไทย แต่เมื่อมีกฎหมายออกมาควบคุม ก็เปลี่ยนเป็นมาฝากครรภ์ในไทย และไปคลอดที่ประเทศปลายทาง ซึ่งกระบวนการเกี่ยวข้องมีหลายประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการสอบพยานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยผู้ต้องหาในวันนี้มี 3 คนเป็นชาวต่างชาติ อีก 6 คนเป็นคนไทย มีตั้งแต่นายจ้าง เจ้าของทุน มีนายหน้า คนขับรถ คนจดเวชระเบียน คนดูแลเด็ก ทั้งหมดก็จับกุมและยึดทรัพย์ได้”พล.ต.ต.วรวัฒน์ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังจนถึงปัจจุบันมีแม่อุ้มบุญทั้งหมด 29 คน

พล.ต.ต.วรวัฒน์ กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้ถือเป็นการช่วยเหลือเด็ก เพราะเราไม่รู้ว่าปลายทางจะดำเนินการอย่างไร เบื้องต้นแจ้งข้อหา 2 พ.ร.บ. คือ   พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 (พ.ร.บ.อุ้มบุญ) มีโทษไม่เกิน 10 ปี  และ พ.ร.บ.การมีส่วนร่วมองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ จะมีโทษจำคุก 4-5 ปี ปรับ 8 หมื่น- 3  แสนบาท  อย่างไรก็ตาม วันนี้จากการตรวจค้น เราพบแม่เด็กที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ในบ้านผู้ต้องหาอีก 7 คน และยังพบเด็กอายุ 22 วัน กับ 4 เดือนอยู่ในบ้านผู้ต้องหา ซึ่งเด็กก็ยังไม่ทราบว่าพ่อแม่เป็นใคร โดยการทำแบบนี้ก็เพื่อหยุดยั้งกระบวนการผิดกฎหมายทั้งหมด เรื่องนี้จะมีการขยายเครือข่ายต่อไป เพราะเชื่อว่ายังมีอีกจำนวนมาก

พ.ต.อ.มานะ กลีบสัตบุศย์ รอง ผบก.ปคม. กล่าวอีกว่า เราได้ข้อมูลมาจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกระทรวงพัฒนาสังคมฯ โดยเราก็ย้อนหาเคสเก่าๆ ตั้งแต่ก่อนปี 2558 เอามาเป็นแนวเพื่อขยายผล จนบุกตรวจได้ 10 เป้าหมาย จับได้ 9 คน ในการขยายผลนั้น หลังจากปี 2558 มีเด็กที่อยู่ในบ้านผุ้ต้องหา 14 ราย ซึ่งออกเดินทางไปต่างประเทศหมดแล้ว โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นกระบวนการข้ามชาติ และ 14 คนที่เดินทางไปแล้ว ก็จะมีการขยายต่อว่า แม่อุ้มบุญเป็นอย่างไร ซึ่งก็มีการสอบสวนและขยายผลไปเรื่อยๆ และดูจากเคสเดิมตั้งแต่แรกด้วย  อย่างไรก็ตาม เคสนี้เราพบว่า แม่อุ้มบุญไปฝังตัวอื่นที่สปป.ลาว  แต่ที่ยังพบเด็กทารก ออกนอกประเทศไม่ได้ อาจมาจากเป็นช่วงระบาดไวรัสโคโรนา นอกจากนี้ยังพบเอกสารเกี่ยวข้อง ทั้งเกี่ยวกับแพทย์ และแม่อุ้มบุญ ซึ่งพบว่ามีอีกจำนวนมากมิติแรก ขยายผลไปยังแม่อุ้มบุญที่เกี่ยวข้อง และมิติต่อไปคือ เด็กที่มีการเดินทางไปต่างประเทศ รวมไปถึงภารกิจที่เราดำเนินการอื่นๆ ส

นพ.ธเรศ กรัยนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  กล่าวว่า  สืบเนื่องจากเมื่อ 2 ปีที่แล้วที่มีการดำเนินคดีหิ้วอสุจิข้ามชาติจากชายแดน โดยดำเนินการกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงพัฒนาสังคมฯ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ จนสามารถสืบสวนและจับกุมได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ผิดในส่วนมาตรา 24  มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และผู้ที่เป็นนายหน้าก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งทางสบส. ก็ยังดูแลสถานพยาบาลขออนุญาตรับตั้งครรภ์แทน โดยเราได้ข้อมูลว่า มีสถานพยาบาลที่ขออนุญาตเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ 9 แห่ง ซึ่งมีทั้งรพ.และคลินิก โดยจะร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจลงไปตรวจสอบ

“พ.ร.บ.นี้ จริงๆวางระบบให้ตั้งครรภ์แทนตามกฎหมายได้ คือ ต้องเป็นสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายไทย หรือสามีหรือภรรยาคนใดคนหนึ่งเป็นคนไทย แต่ต้องแต่งงานสมรสกันมาอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งการจะทำต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย มีสถานพยาบาลที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย ขณะนี้มี 91 แห่งกระจายทั่วประเทศ รวมทั้งแพทย์จะทำก็ต้องได้รับการอนุญาตจากแพทยสภา ดังนั้น หากต้องการจะอุ้มบุญ ต้องติดต่อสถานพยาบาลที่ขอขึ้นทะเบียนถูกต้อง เพราะจะมีการดำเนินการและขอมาทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะมีคณะกรรมการพิจารณาอีกครั้งก่อนอนุญาตให้ทำ ซึ่งข้อมูลที่ผ่านมามี 317 เคสที่มาขออนุญาตและได้ดำเนินการแล้ว”นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า  นอกจากนี้ พ.ร.บ.อุ้มบุญนี้ มีข้อห้ามในการทำ คือ ห้ามซื้อขายส่งออกนำเข้าอสุจิ ไข่ ตัวอ่อน ห้ามรับจ้าง ห้ามโฆษณา ห้ามโคลนนิ่ง ห้ามปฏิเสธที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน และการทำตรงนี้ต้องผ่านการรับรอง และต้องขออนุญาตทุกรายในการตั้งครรภ์แทน

ผู้สื่อข่าวถามว่า เพราะอะไรจีน จึงมาใช้บริการอุ้มบุญในไทย เพราะประชากรในจีนก็มีมาก นพ.ธเรศ กล่าวว่า  บางประเทศอาจมีการกฎหมายกำหนดจำนวนบุตรอยู่ ซึ่งประเทศจีนอาจมีกฎหมายห้ามการอุ้มบุญ จึงมาหาบริการจากต่างประเทศ เพราะบางท่านอาจอยากมีลูกคนที่ 2 คนที่ 3 หรืออาจอยากมีเพศอื่น ส่วนที่ว่าจะนำเด็กไปทำอะไรหรือไม่ ยังไม่ทราบข้อมูล ซึ่งกระทรวงต่างประเทศกำลังดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป  ส่วนที่ว่าจะมีแพทย์เกี่ยวข้องหรือไม่ ขอสอบสวนเชิงลึกก่อน

อนึ่ง สำหรับผู้ที่จะมาอุ้มบุญนั้น จะต้องเป็นญาติสืบสายโลหิตในครอบครัวของทางฝ่ายสามีหรือภริยา แต่ต้องไม่ใช่บิดามารดา และลูกสืบสายโลหิต เว้นแต่ในกรณีที่ไม่มีญาติสืบสายโลหิต กฏหมายได้เปิดโอกาสให้หญิงอื่นเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทนได้   ต้องเคยมีบุตรมาก่อนแล้ว ถ้าหญิงนั้นมีสามีอยู่จะต้องได้รับความยินยอมจากสามีด้วยถึงจะตั้งครรภ์แทนได้  ต้องไม่ใช่เจ้าของไข่ที่ให้กำเนิดตัวอ่อน เพื่อป้องกันความเชื่อมโยงทางพันธุกรรม และความรู้สึกผูกพันของผู้รับตั้งครรภ์แทนต่อเด็ก

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ