"ระดมสมองวางกฎเหล็กสื่อ" บทเรียนจากเหตุการณ์กราดยิงโคราช


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กระทรวงดิจิทัลฯ ผู้บริหาร กสทช. ผู้บริหารองค์กรผู้ผลิตสื่อ ระดมสมองวางกฎเหล็กให้สื่อ หลังถูกโจมตีไร้จรรยาบรรณจากเหตุการณ์กราดยิงโคราช

“สื่อไร้จรรยาบรรณ” คือคำที่ปรากฏขึ้นในโลกโซเชียลมีเดีย ในช่วงที่เกิดเหตุกราดยิงที่โคราช ที่ประชาชนผู้เสพข่าววิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อมวลชน จนนำมาสู่การเปิดเวทีเพื่อระดมความคิดเห็นต่อประเด็นการทำงานของสื่อมวลชนอีกครั้ง ภายใต้งานเสวนา “รู้เท่าทัน-วางกฎเหล็ก Mass Shooting สังหารหมู่ซ้ำบนสื่อทีวี-ออนไลน์” โดยมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงสื่อมานั่งพูดคุยเพื่อถกถึงสาเหตุของปัญหา และแนวทางมาตรการการป้องกันแก้ไข

กสทช.เตรียมทำ "หลักเกณฑ์" คุมสื่อรายงานในภาวะวิกฤต

“เฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์” พร้อมลบภาพผู้เสียชีวิต ออกจากระบบ

สาเหตุใหญ่มาจากคนที่เรียกตัวเองว่า “สื่อแต่ไม่ใช่สื่อ”

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในบนเวทีในตอนหนึ่ง

“ผมเชื่อว่าสื่อหลักที่อยู่ในการดูแลทุกคนมีจรรยาบรรณ กว่าจะสร้างข่าวออกมาได้มันมีหลายขั้นตอน เพราะทุกคนไม่ต้องการให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น แต่ปัญหาเกิดจากคนที่ไม่ใช่สื่อ เขาลงข่าว มีความเสียหายเกิดขึ้น แล้วมีคนตามเยอะ เขาก็ทำอีก คนที่ทำเขาเรียกตัวเองว่าสื่อ แต่จริง ๆ แล้วเขาไม่ใช่สื่อ”

ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล จ.นครราชสีมา เป็นความรุนแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์สิ้นสุด และมีความเสียหายเกิดขึ้น ก็ต้องมาร่วมกันหาทางป้องกันและแก้ไข โดยเฉพาะกับแวดวงการทำงานของสื่อมวลชน จนเกิดการวิพากวิจารณ์ว่าเป็น “สื่อไร้จรรยาบรรณ” แต่สิ่งที่มาพร้อมกับคำนี้คีย์เวิร์ดหนึ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวของทุกคนคือ “เรตติ้ง”

หวั่นรัฐสบช่องวางกลไกคุมสื่อเบ็ดเสร็จ

“เรตติ้ง” สำคัญเพราะการแข่งขันที่สูง

ภาพเหมารวมของสังคมปัจจุบันมักมองว่า วงการสื่อไทยกำลังอยู่ในสภาพที่ทุกสำนัก ต้องพยายามแข่งขันกันเพื่อความอยู่รอด โดยมีเครื่องชี้วัดเป็น “เรตติ้ง ยอดไลค์ ยอดวิว ยอดแชร์” ตามแต่แพลตฟอร์มของสื่อ ธรรมชาติของสื่อจึงกลายเป็นต้องแข่งกันหาข่าวที่ดีที่สุด ลึกที่สุด ขายได้มากที่สุด เพื่อที่ท้ายที่สุดแล้วจะนำ “ตัวเลข” เหล่านั้นไปต่อยอดเป็นรายได้จากการขายโฆษณา หรืออื่น ๆ ต่อไป

พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บอกว่า คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นเวลาสื่อนำเสนอข่าวคือ การเสนอของสื่อไปวุ่นวายกับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่หรือเปล่า ถ้าสื่อรายงานว่ามีการใช้โดรนตรวจจับความร้อนบินอยู่บริเวณต่าง ๆ ผู้ร้ายก็เปิดสื่อดูแล้วก็หลบหนีไปได้ ทำให้มองว่าการทำงานบางครั้งของสื่อไม่ว่าจะด้วยความหวังดีหรือด้วยความคิดบางอย่าง ส่งผลกระทบกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่โดยตรง

ขณะเดียวกัน ยังมีประเด็นดราม่า เช่น ข่าวฆ่าหั่นศพ ทำข่าวแค่ว่ามีคนตาย ไม่ต้องแสดงภาพก็ได้ แต่บางสื่อใช้เครื่องมือ แอนิเมชัน ผลิตตัวการ์ตูน แสดงให้เห็นว่าหั่นอย่างนี้ ซ่อนอย่างนี้ “ถามแบบสามัญชนว่าจะไปเสนอทำไม นั่นไม่ใช่ข่าว นั่นเป็นดราม่า”

หรือบางสื่อไม่ใช้แอนิเมชัน แต่ชำนาญการซักไซ้ ก็ไปถามคน ๆ หนึ่งที่สูญเสียคนในครอบครัว คุณไปดูเขาร้องไห้โหยหวนแล้วก็ทำหน้าเศร้าไปด้วย แล้วก็ถามว่ารู้สึกยังไง คนตายทั้งคนจะไปถามอย่างนั้นทำไม จะไปเสนออย่างนั้นทำไม ฉะนั้นการเสนอที่เป็นดราม่า ที่เกินกว่าข่าว มันมีผลกระทบกับสังคม จึงจัดงานนี้เพื่อร่วมกันหาทางออก

เขายังมองว่า การที่สื่อถูกตีตราว่าไร้จรรยาบรรณเป็นผลพวงต่อเนื่องมาจากระบบการแข่งขันของสื่อไทย เพราะการแข่งขันต้องแย่งคนดู หากยกตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น เยอรมนี คนดูสื่อจะถูกเก็บเงินเข้าส่วนกลางแล้วนำเงินนั้นไปช่วยสร้างสรรค์รายการดี ๆ แต่ประเทศไทย ค่าใช้จ่ายในการผลิตรายการสูง ต้องไปหารายได้เอง ต้องไปหาเรตติ้ง คนทำรายการก็คิดว่าต้องทำแล้วคุ้ม จึงต้องไปหาเครื่องมือ แสดงขั้นตอน นำเสนอดราม่า เพราะมันดูแล้วสนุก ทั้งที่บางทีข้อมูลยังไม่ถูกต้อง ถ้าจะแก้ไข อาจจะไม่ใช่ตอนนี้ แต่ต้องคำนึงถึงบริบทนี้ได้แล้ว ต้องทบทวนและมองภาพระยะยาว จะปล่อยให้ทีวีแข่งกันในทุนนิยม มันมีความเสี่ยง หรือถ้าจะประยุกต์รายการดีๆ แต่ไม่มีความเสี่ยงมาใช้กับรายการอื่นได้มั้ย ไม่ได้หมายความว่าเก็บเงินคนดูนะ แต่จะปล่อยสื่อให้รับผิดชอบตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ จึงอยากฝากถึงสื่อว่าต้องนึกถึงผลกระทบที่จะตามมา

เปิดพฤติกรรมบริโภคสื่อ คาดสื่อดั้งเดิมอยู่ได้ถึง 10 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วปัญหาของการรายงานที่ข้ามเส้นจนถูกตราหน้าว่าไร้จรรยาบรรณนั้น ยังมีรายละเอียดและความลึกของสถานการณ์มากกว่าแค่การรายงานแบบเรียกเรตติ้ง เพราะบางครั้งสื่อต่าง ๆ ก็ไม่รู้ว่าควรจะหาข่าวแบบใด และนำเสนออย่างไร ซึ่งแตกต่างจากเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ติดถ้ำหลวงเมื่อปี 2561 ซึ่งครั้งนั้นมีการจัดตั้งศูนย์กลางการให้ข้อมูลโดยภาครัฐ จึงเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย

ซึ่งเมื่อถึงประเด็นนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอแนวทางการป้องกันข่าวที่ไม่เหมาะสมว่า เมื่อเกิดสถานการณ์ สิ่งหนึ่งที่ต้องทำ นอกจากมีผู้บัญชาการปฏิบัติการฝ่ายปฏิบัติ คือต้องมี “ผู้บัญชาการด้านการสื่อสาร” มี Press Center

มุมมองของคนทำสื่อ เห็นด้วยมี National Press Center

เขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท. เห็นตรงกันกับข้อเสนอดังกล่าว พร้อมยกตัวอย่างว่า กรณีไวรัสโควิด-19 ได้รับแนวทางจากทางการจีน ที่มีการควบคุมข้อความการสื่อสารในสังคม วันที่ฉลองตรุษจีน ระหว่างที่คนเฉลิมฉลอง ผู้นำ สี จิ้น ผิง ประกาศเรื่องไวรัสอู่ฮั่น และทำ Press Center เพื่อบล็อกข้อมูล มี China Media Group มีทั้งซินหัว และสื่ออื่น ๆ นำเสนอข้อความเดียวกัน ควบคุมจากที่เดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก

“ แพลตฟอร์มหรือรูปแบบการจัดการแบบนี้ควรนำมาใช้ในเมืองไทย ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะถ้ำหลวง โคโรนา มาจนถึงโคราช เราเรียนรู้แล้วก็มาถอดรหัสทุกครั้งเสมอเลย วิธีแก้คือต้องมี National Press Center”

จุฬาฯ แนะใช้จิตวิทยาทำข่าวปรับมาตรฐานทุกสื่อให้เป็นเส้นเดียว

ด้าน ดร.สุภาพร โพธิ์แก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ถ้าสามารถปรับมาตรฐานการเสนอข่าวของทุกสื่อให้เป็นเส้นเดียวกันได้ และสื่อมีการประยุกต์นำความรู้ด้านจิตวิทยามาใช้มากขึ้น จะสามารถป้องกันเหตุการณ์สื่อไร้จรรยาบรรณได้ เพราะต้นน้ำเป็นเรื่องสำคัญ จิตวิทยาหรือความเข้าใจเรื่องผลกระทบ ปกติอยู่แค่ในรายการเด็ก ไม่มีใครทันนึกว่าเรามีคนเปราะบางในเหตุการณ์ความรุนแรง ถ้าสามารถทำให้สื่อทำงานอย่างเข้าใจ ในจิตวิทยาเกี่ยวกับการรับรู้ความรุนแรงจะทำให้เรามีวิธีคิดที่ต่างจากเดิม เวลานี้ต้องนำเสนอเรื่องนี้ ควรหยุดนำเสนอเรื่องอะไร งานจะมีคุณภาพขึ้น ควรทำงานกับสื่อตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งอาจจะต้องทำชุดคู่มือ นักข่าวจำเป็นต้องมี เพราะเราอาจต้องเจอข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงอีก

“ น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ถ้าเขาทำงานด้วยความเข้าใจ จะสื่อสารได้อย่างเข้าใจ ถ้าทำได้ ภาระการจัดการของภาครัฐจะลดลงเรื่อยๆ ไม่ต้องมาลงโทษตามหลัง เหตุจบต้องมาลงไม้เรียวตี แต่เรื่องนี้เราไม่เคยเจอมาก่อน”

ในท้ายที่สุด แม้ว่าจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน แต่ทุกฝ่ายต้องมานั่งพูดคุยกัน คนไทย สื่อ  ภาครัฐ ทุกภาคส่วน ต้องช่วยกันหาทางออก หากในอนาคตมีวิกฤตเกิดขึ้น เหตุการณ์สื่อไร้จรรยาบรรณก็จะไม่เกิดขึ้นอีก

“ซึ่งการที่เราเป็นสื่อหรือไม่ใช่ก็ตาม การนำข้อมูลมาเผยแพร่ต้องมีความรับผิดชอบ”

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สื่อมวลชนถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงาน แต่นี่ก็เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้พวกเราในฐานะสื่อเกิดการตระหนัก และจะร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อหามาตรการปองกันที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์สุดท้าย ที่สื่อไทยจะถูกตีตราว่าเป็น “สื่อไร้จรรยาบรรณ”

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ