ผู้ว่า ธปท.ชี้ รัฐบาลควร “เลิกแจกเงินแบบไร้ประสิทธิภาพ”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้ว่าแบงก์ชาติ แนะรัฐบาล ควรเลิกนโยบายแจกเงินที่ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาระยะยาว เพราะจะทำให้เกิดความเคยชิน แต่ควรมีการกำหนดเงื่อนไขเพื่อให้เกิดการปรับปรุงผลิตภาพ พร้อมยกตัวอย่างโครงการจำนำข้าว ที่ก่อให้เกิดปัญหาผลิตภาพต่ำ

“เพื่อไทย” ซัด “ชิม ช้อป ใช้ อินเตอร์” คิดเยอะๆก่อนเอาภาษีปชช.มาแจก 

“อนาคตใหม่” ชี้ มาตรการกระตุ้นศก.เม็ดเงินกระจุกตัว “ธุรกิจกลาง-ใหญ่”กินรวบ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวช่วงหนึ่งในปาฐกถาพิเศษ ครบรอบ 25 ปี สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ระบุว่า การจะพัฒนาผลิตภาพ หรือ Productivity ที่จะกำหนดศักยภาพของเศรษฐกิจในอนาคตได้นั้น หนึ่งในแนวทางที่รัฐบาลต้องทำคือ เลิกการใช้นโยบายที่ไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพระยะยาว หรือนโยบายให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าไปเรื่อยๆ เช่น นโยบายช่วยเหลือเกษตรกรไทยแบบระยะสั้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น นโยบายรับจำนำข้าวแบบไม่จำกัดปริมาณ ที่ส่งผลให้เกษตรกรเลือกปลูกข้าวคุณภาพต่ำ ระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้น เน้นปริมาณผลผลิตสูง เพราะสามารถนำไปจำนำและรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลได้มากกว่า ผู้ประกอบการธุรกิจก็จะเกิดความเคยชิน ดำเนินชีวิต ธุรกิจ แบบเดิมๆ เพราะปัญหาผลิตภาพต่ำจะไม่ถูกการแก้ไข

นายวิรไท ยังได้ยกตัวอย่างโครงการที่การแจกเงินขนาดใหญ่ของเม็กซิโก ที่กำหนดเงื่อนไขว่าผู้ร่วมโครงการจะต้องส่งลูกหลานเข้ารับการศึกษาในโรงเรียน รับอาหารเสริม ตรวจสุขภาพ ผลการวิจัยหลังการดำเนินการไป 10 ปี พบว่า บุตรหลานของผู้เข้าร่วมโครงการมีพัฒนาการทั้งร่างกายและสติปัญญา ดีกว่าที่ผู้ที่ไม่เข้าร่วมโครงการมาก ซึ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ฉะนั้นการช่วยเหลือ จะต้องมีแรงจูงใจที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดการพัฒนาในระยะยาวด้วย

อีกหนึ่งกรณีของไทย ที่จัดแรงจูงใจได้ไม่เหมาะสม คือ การกำหนดค่าจ้าง 15,000 บาทเป็นพื้นฐานให้กับผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จนมีคนแห่ไปเรียนกันจำนวนมาก ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของประเทศ

นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย  ประเมินว่า ธุรกิจประกันชีวิตปี 2563 จะไม่เติบโต จากปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมที่ 610,000 ล้านบาท จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และ การระบาดของของไวรัสโควิด 19 ก็ส่งให้ผู้บริโภคเก็บเงินไว้ใช้กับปัจจัย 4 ก่อน

อย่างไรก็ตาม การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในอีกมุม ก็เป็นโอกาสของบริษัทประกัน ที่จะเสนอแผนประกันที่มีความคุ้มครองที่สูงขึ้นให้กับลูกค้าที่ต้องการด้วย ซึ่งในปี 2562 ธุรกิจประกันชีวิต มียอดเบี้ยประกันภัยรับรวม 610,914 ล้านบาท เป็นการเติบโตที่ลดลง 2.63%

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ