เศรษฐกิจไทยเคยถดถอยมาแล้ว 4 ครั้ง แต่ปี 63 อยู่ในภาวะชะลอตัว


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สภาพัฒน์ฯ ชี้แจง สภาวะเศรษฐกิจของไทย อยู่ในภาวะชะลอตัวไม่ใช่การภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่อย่างใด แต่หากย้อนกลับไปไทยก็เคยเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาแล้ว 4 ครั้ง

หลังจากเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) รายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า หลายคนมีความเข้าใจว่า “เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในภาวะถดถอยหรือไม่” สภาพัฒน์ฯ ยืนยันว่า

ผู้ว่า ธปท.ชี้ รัฐบาลควร “เลิกแจกเงินแบบไร้ประสิทธิภาพ”

“ นั่นคือเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ มิใช่การลดลงหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่อย่างใด”

แล้วเศรษฐกิจถดถอย (Recession) คืออะไร...

เศรษฐกิจถดถอย เป็นภาวะลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งวัดโดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ ) จะต้องติดลบติดต่อกันอย่างน้อยสองไตรมาส

ไทยเคยตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย 4 ครั้ง...

สภาพัฒน์ฯ ชี้แจงต่อว่า ประเทศไทยเคยประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิคจำนวน 4 ครั้งในปีคือ ครั้งแรก ปี 2540 เป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ซึ่งส่งผลให้จีดีพี ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2540 ถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2541 เป็นการลดลงต่อเนื่อง สี่ไตรมาสติดต่อกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอขยายความ ว่า ก่อนที่เศรษฐกิจในปี 2540 จะเข้าสู่ภาวะถดถอย เศรษฐกิจไทย มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีการขยายตัวอย่างมาก ขณะที่ภาคเอกชน ก็มีการขยายการลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้การปล่อยสินเชื่อของแบงก์ ก็ขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบการค่าเงินบาทไทยตรึงอยู่ที่ 25บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

การเติบโตของเศรษฐกิจที่ร้อนแรง ทำให้ฟองสบู่ เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจขาดปัจจัยพื้นฐานรองรับ และกลายเป็นช่องโหว่ของ กลุ่ม Hedge Fund เข้าโจมตีค่าเงินบาท จนทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาปกป้องค่าเงินบาทโดยใช้ทุนสำรองจนหมด แต่ที่สุดก็รับมือไม่อยู่ จนรัฐบาลต้องยอมประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2540 และเป็นจุดเริ่มต้นของ วิกฤตเศรษฐกิจ ปี 40 หรือ วิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะธุรกิจล้มละลาย โดยเฉพาะสถาบันการเงินต้องปิดกิจการ และควบรวมกัน รวมถึงภาคธุรกิจด้วย จากปี 2540 เป็นต้นมา ผลกระทบจากภาวะฟองสบู่แตก ทำให้เศรษฐกิจไทย ฟุบยาวนานกว่า 10 ปี

กลับมาดูข้อมูล สภาพัฒน์ฯ กันต่อ ในครั้งที่สองที่เศรษฐกิจไทยเกิดภาวะถดถอยคือ ปี 2551 เป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกหรือ “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” ในสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ GDP ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 เป็นการลดลงสองไตรมาสติดต่อกัน

ครั้งทื่สาม เกิดในปี 2556 เป็นช่วงที่เผชิญกับปัจจัยเสี่ยงภายนอกคือ "การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก" ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับปัจจัยภายในประเทศคือ "ภาวะภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดของไทย" ที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตรกรรม ซึ่งส่งผลให้ จีดีพี ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 เป็นการลดลงสองไตรมาสติดต่อกัน

และ ครั้งที่สี่ เกิดในปี 2556-2557 เป็นช่วงที่เผชิญกับปัจจัย "ความไม่แน่นอนทางการเมือง" ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การลงทุน การค้า และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้ จีพีดี ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 เป็นการลดลงสองไตรมาสติดต่อกัน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2563  เป็นการ “ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ”  ซึ่งในไตรมาส 4 ของปี 2562 มีปัจจัยสำคัญ ๆ จาก ปัจจัยภายนอกประเทศ ได้แก่ การขยายตัวในเกณฑ์ที่ต่ำของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของทิศทางมาตรการกีดกันทางการค้า

ปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ การแข็งค่าของเงินบาท ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ  ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และปัจจัยชั่วคราวในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รถยนต์ และน้ำตาล

และ “เศรษฐกิจไทยปี 2563” จะเป็นอย่างไร  

สภาพัฒน์ หั่นเป้าเศรษฐกิจไทยปี 63 โตแค่ 1.5%

สภาพัฒน์ฯ ระบุว่า มีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 1.5 - 2.5 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.4 ในปี 2562 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2563 จะเผชิญกับข้อจำกัดต่อขยายตัวมากขึ้น ได้แก่ 1.ภาคเกษตรมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ “ภัยแล้ง” ที่มีความชัดเจนมากขึ้น 2.ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก ที่ยังมีข้อจำกัดจากการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของ “เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง” 3.ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ “ไวรัสโควิด-19” และ 4.ความล่าช้าของกระบวนการ ”งบประมาณ” ส่งผลให้แรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภาครัฐอยู่ในเกณฑ์ต่ำและเป็นข้อจำกัดต่อการใช้นโยบายการคลังในการบริหารจัดการเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก  

แต่อย่างไรก็ดี คาดว่า ข้อจำกัดที่เกิดจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณจะยุติลงในไตรมาสแรก และผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะสิ้นสุดลงในช่วงกลางไตรมาสที่สอง ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวคาดว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวเข้าสู่เกณฑ์ปกติในช่วงหลังของปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ การขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของอุปสงค์ภายในประเทศ แรงขับเคลื่อนจากมาตรการภาครัฐ และฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562

ข้อมูล : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ