ทางของฝุ่น


โดย PPTV Online

เผยแพร่




“เผาไร่อ้อยผิดมั้ย ก็เราเป็นประเทศส่งออกน้ำตาลอันดับ2นะ”

ช่วงต้นเดือนยาวมาถึงประมาณวันที่ 20  มกราคมที่ผ่านมา เรียกได้ว่าชาวกรุงเทพฯแทบจะจมูกพัง ปอดทะลุ กันเลยทีเดียว กับสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ. PM2.5ที่พุ่งสูงเกิน50 มิลลิกรัม/ไมโครกรัม บางจุดพุ่งสูงแตะหลักร้อย จุดสีแดง ส้ม เหลือง กระจายในแผนที่รายงานสภาพอากาศทุกพื้นที่

ผู้การฯเลย สั่งทุกโรงพัก จับมือ“เผาป่า-เผาอ้อย” หลังเผชิญฝุ่นPM2.5

จ.เลย รณรงค์ห้ามเผาลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5

นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนไปปีที่แล้ว หรือย้อนไปเมื่อสองปีที่แล้ว ในช่วงเวลานี้ กรุงเทพมหานครประสบกับปัญหาฝุ่นเช่นนี้ทุกปี เป็นวังวนเหมือนวงเวียนชีวิต

ฝุ่นPM2.5ในกรุงเทพฯมาจากไหน?

นายประลอง  ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ บอกว่า “จากการเก็บรวบรวมข้อมูล  PM2.5. ในกรุงเทพฯ ประมาณ72.5 %เกิดจาก รถเครื่องยนต์ดีเซล  ที่เหลือเกิดจากก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง”

ถ้า PM2.5 ในกรุงเทพฯมาจากรถเครื่องยนต์ดีเซลจริง ทำไมค่าฝุ่นมันถึงรุนแรงในช่วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ของทุกปี ทั้งที่กรุงเทพฯ ก็มีรถเยอะแยะมากมายทั้งปีทั้งชาติ

“เพราะช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่เข้าสู่ฤดูหนาว อากาศนิ่ง ลมไม่พัด ควันรถที่ปล่อยออกมาจึงตลบอบอวลทั่วกทม. เหมือนอากาศหมุนเวียนอยู่ในฝาหม้อ ค่าPM2.5 เลยพุ่งสูง” ทั้งกรมควบคุมมลพิษ และกรมอุตุนิยมวิทยาให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน

พอเข้าสู่ช่วงปลายเดือนมกราคมลมก็มาช่วยชีวิตชาวกทม.อีกครั้ง ข่าว PM2.5เงียบหายไปตามสายลม แต่ปัญหายังอยู่

ในเมื่อปัญหา PM2.5ไม่ใช่ปัญหาใหม่และรัฐบาลถึงขนาดตั้งเป็นวาระแห่งชาติ และมีมาตรการต่างๆเพื่อแก้ปัญหาอย่างเข้มข้น ตรวจจับควันดำอย่างเข้มงวดมาก แต่เมื่อวนมาถึงช่วงนี้ของปี PM2.5 ก็กลับมาอีก

“ถ้าแก้ปัญหาตรงจุด ปัญหามันก็ควรจะคลี่คลายไป แต่นี่เหมือนเดิม”

แล้วปัญหาจริงๆมันมาจากไหน?

เราพบข้อมูลที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้ที่จะเกี่ยวโยงกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ “แท้จริงแล้วปัญหาฝุ่น PM 2.5 กรุงเทพฯอาจไม่ได้มาจากรถเครื่องยนต์ดีเซลอย่างเดียวก็ได้แต่อาจมาจาก "การเผาพื้นที่เกษตรอย่างไร่อ้อย”

รอบกรุงเทพฯ จังหวัดใกล้เคียงทั้งโซนภาคตะวันตก และภาคเหนือตอนล่าง ยาวไปถึงภาคอีสาน ล้วนเป็นพื้นที่ปลูกอ้อย

ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2562 หลังรัฐบาลส่งเสริมให้มีการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย เพราะโควต้าส่งออกน้ำตาลของไทยมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ไร่อ้อยแต่เดิมที่มีอยู่8,456,000 ไร่ ผ่านไปเพียง 3 ปี พื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นเป็น  11,469,000 ไร่ มหกรรมการเผาไร่อ้อยจะเกิดขึ้นในช่วง เดือน พฤศจิกายน ถึง กุมภาพันธ์ของทุกปี เพราะเป็นช่วงฤดูแล้ง เหมาะสมกับการตัดอ้อย และเป็นช่อง “โรงงานน้ำตาลเปิดหีบ” “พอโรงงานเปิดหีบ เราก็ต้องรีบตัดอ้อย เพราะโรงงานจะเปิดหีบรับซื้ออ้อยปีละ 3-4 เดือนเท่านั้น วิธีที่ตัดอ้อยได้เร็วที่สุดคือ เผาก่อนตัด” เกษตรกรชาวไร่อ้อยบอกกับเรา จะเห็นว่าช่วงเวลาของการกระหน่ำเผาไร่อ้อย สอดคล้องกับช่วงที่ ค่าฝุ่น PM 2.5 ทั้งในกรุงเทพฯ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันตก และภาคอีสาน เพิ่มสูงขึ้นด้วย

“มลพิษทางอากาศไม่มีพรมแดนนะครับ การเผาที่เกิดขึ้นรอบกรุงเทพฯมีผลต่อกรุงเทพฯทั้งสิ้น ก็ควันมีนลอยไปได้อย่างอิสระ ทิศทางลมในช่วงเดือนมกราคม –กุมภาพันธ์ ค่อนข้างนิ่ง จึงเกิดการสะสมของมลพิษทางอากาศ” เป็นข้อมูลจาก ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียรจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศ

เมื่อการเผาพื้นที่เกษตรเป็นสาเหตุของฝุ่น PM2.5 แล้วทำไมรัฐบาลไม่แก้ไข ทำไมมัวแต่ไปตรวจจับควันดำ? จริงๆแล้วรัฐบาลมีมาตรการให้ท้องถิ่นควบคุมการเผาในที่โล่งแจ้งเพื่อแก้ปัญหา แต่การเผาไร่อ้อยได้รับการผ่อนผัน มีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 11 มิถุนายน 2562 ผ่อนผันการเผาไร่อ้อยออกไปจนถึงปี 2565 เหตุที่ต้องผ่อนผัน เพราะรัฐบาลรู้ดีว่า ทำไร่อ้อยก็ต้องเผา ถ้าไม่เผาก็ตัดอ้อยไม่ได้ แม้ราคาอ้อยตัดสดจะราคาดีกว่าอ้อยเผา แต่เกษตรกรก็ยังเลือกการเผา เพราะ

1.เผาแล้วตัดได้ไวกว่า ได้ง่ายกว่า

2.ขาดแคลนแรงงาน แรงงานไม่ยอมตัดอ้อยสด

3.ลดต้นทุน ค่าแรงงานตัดอ้อยสดแพงกว่า

4.ใช้เครื่องจักรตัดไม่ได้ เพราะ เกษตรกรที่ปลูกอ้อยส่วนใหญ่เป็นรายย่อย เช่าที่ปลูกอ้อย ไม่คุ้มที่จะซื้อเครื่องจักรมาตัดอ้อย พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับพื้นที่ เป็นที่ลุ่มที่ดอน

5.เผาเพื่อรักษาตออ้อย เพราะ การปลูกอ้อย 1 ครั้ง สามารถเก็บผลผลิตได้ 2-3 ครั้ง

“หน้าลานรับซื้ออ้อยหน้าโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา มีแต่อ้อยเผาทั้งนั้น ที่อยู่บนรถบรรทุก”

แต่ใช่ว่ารัฐบาลจะนิ่งนอนใจ รัฐบาลพยายามออกมาตรการต่างๆมาส่งเสริมการปลูกอ้อยอย่างต่อเนื่องพร้อมกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เสนอโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 ภายใต้กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยมีนโยบายในการให้ความช่วยเหลือเป็น 2 ส่วน คือ วงเงิน 6,500 ล้านบาท ช่วยเหลือปัจจัยการผลิต และวงเงิน 3,500 ล้านบาท ช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสด

การส่งเสริมเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต หมายถึง การซื้อเครื่องจักรคือ รถตัดอ้อย ที่คันหนึ่งราคาประมาณ 10-12 ล้านบาท “เกษตรกรที่ไหนจะมีปัญญาไปซื้อ ธกส.ไม่ได้ให้กู้ซื้อกันง่ายๆนะครับ โรงงานต้องมาค้ำประกันให้ แล้วรถตัดอ้อย 1 คัน ต้องตัดอ้อย 1,000-2,000 ไร่ขึ้นไปถึงจะคุ้ม แล้วบ้านเราคือเกษตรกรรายย่อยทั้งนั้น แถมที่ดินก็ไม่ใช่ที่ราบ ต้องมาปรับพื้นที่อีก ราคาอ้อยก็ไม่ดี แล้วจะไปกู้ซื้อรถตัดอ้อยได้ยังไง ปัญหามากผมก็ว่าจะเลิกทำแล้วล่ะ” เกษตรกรชาวไร่อ้อยในจ.สระแก้ว บอกกับเรา “ตราบที่ไทยยังติดอันดับต้นๆของประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลและระบบการทำเกษตรเชิงพาณิชย์ยังไม่ถูกจัดการอย่างมีระบบ ปีหน้าหรือปีต่อๆไปกรุงเทพมหานคร และแทบทุกภาคของไทย ก็จะยังเผชิญกับปัญหา ฝุ่นPM2.5 ในช่วงต้นปีเช่นเดิม และเป็นวงจรแบบนี้ไปไม่รู้จบ”

ครม.มีมติให้ปัญหาฝุ่นละอองPM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ