หมอแนะ ป้องกัน โควิด-19 เจลล้างมือต้องมีแอลกอฮอล์ 70-95% เชื้อตายแน่นอน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ในที่สุด ไทยประกาศ ให้ โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 การให้ความรู้และข้อมูลกับประชาชนเพื่อให้รู้เท่าทันโรค จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะวิธีการป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคมากที่สุด โดยเฉพาะอุปกรณ์พื้นฐานอย่างหน้ากากอนามัย หรือ เจล ล้างมือต้องมีประสิทธิภาพในการป้องกันเพียงพอ

ในตอนหนึ่ง บนเวที การบรรยาย COVID-19 (Coronavirus Disease 2019) ของสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ดร.นพ.พลวัฒน์ ติ่งเพ็ชร สาขาวิชาจุลชีววิทยา และภูมิคุ้มกันวิทยา สถานวิทยาศาสตร์พรีคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงผู้ที่ใช้เจลล้างมือว่า “วิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือใช้แอลกอฮอล์ 70-95% เชื้อตายแน่นอน แนะนำให้ไปดูว่าเจลที่ใช้กันอยู่มีแอลกอฮอล์กี่เปอร์เซ็นต์ ถ้า 50% เชื้อไม่ตาย”

หมอจุฬาฯ ชง “โควิด-19” เป็นโรคติดต่ออันตราย เหตุ 2 เดือนนับจากนี้ยังน่าห่วง!!

รวมถึง ระมัดระวังเรื่องการปรุงอาหารด้วยความร้อน เพราะจากการนำเชื้อไปทดสอบที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เวลา 120 นาที เชื้อจึงตาย ที่ 67 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 30 นาที ดังนั้น การปรุงอาหารควรใช้อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส โดยอิงจากการทดสอบโคโรนาไวรัส 5-6 สายพันธุ์เป็นเหมือนกันทั้งหมด ดังนั้น COVID-19 ก็น่าจะมีหลักเกณฑ์เดียวกัน

ส่วน วิธีการป้องกัน โควิด-19 ง่ายๆ สำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ พญ.พานิภัค กตเวทิวงศ์ ภาควิชาอยุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน จึงทำได้เพียงป้องกันตัวเอง ไม่นำตัวเองไปติดโรค

อันดับแรกคือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย

2.หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่ได้ล้างมือ

3.ถ้ามีอาการเจ็บป่วย “หลีกเลี่ยงการเดินทาง หรือไปในแหล่งชุมชน” สังเกตอาการตนเอง หากอาการและประวัติสงสัยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ให้พบแพทย์โดยเร็ว

4.ไอจามปิดปากจมูกด้วยกระดาษทิชชู และทิ้งให้เหมาะสม แยกใส่ถุงต่างหากก่อนทิ้ง

5.ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านสม่ำเสมอ

6.ล้างมือบ่อย ๆ มากกว่า 20 วินาที โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำ ก่อนปรุงหรือรับประทานอาหาร หลัง ไอ จาม และทุกครั้งเมื่อพบว่ามือสกปรก หากไม่สามารถใช้น้ำและสบู่ สามารถใช้ แอลกอฮอล์สำหรับล้างมือได้

7.ใช้หน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง หันด้านเขียวออก สันเหล็กวางบนดั้ง ไม่จับด้านนอกหรือด้านในของหน้ากาก จับแต่หูข้าง ผู้ที่ควรใส่คือ ผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ต้องเดินทางไปที่แออัด

แล้วถ้ามีอาการเสี่ยงทำอย่างไร?

พญ.พานิภัค กล่าวว่า หากพบว่าตัวเองมีอาการน่าสงสัยคือ ไอ จาม หวัด ไข้ หายใจเหนื่อย ต้องดูประวัติเคียงว่า มีประวัติเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยงมาหรือไม่ รวมถึงผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 50-60 ปี มีความเสี่ยง ถ้าเป็นความดัน โรคหัวใจ โรคปอด มีความเสี่ยง ส่วนในเด็กจะไม่ค่อยรุนแรง ซึ่งเมื่อพบว่าอาการเข้าข่ายน่าสงสัย ต้องปฏิบัติดังนี้

1.พบแพทย์โดยเร็ว

2.แยกโรค หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้อื่น

3.หลีกเลี่ยงการเดินทาง

4.ใส่หน้ากากอนามัย

5.ปิดปาก จมูก เมื่อไอจาม ด้วยกระดาษทิชชู (ไม่ไอจามใส่มือ)

6.หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น

7.ล้างมือบ่อย ๆ

สำหรับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์มี 3 จุดคัดกรองคอยบริการ ตั้งแต่ 08.00น.-00.00 น. บริเวณหน้าอาคารผู้ฝ่วยนอก (อาคาร ม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์), ข้างอาคารผู้ป่วยนอก (อาคาร ม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์) และหน้าอาคารอุบัติเหตุและเหตุฉุกเฉิน”

นอกจากนี้ บนเวทีได้มีการอัพเดทสถานการณ์ของโรค โดย ดร.นพ.พลวัฒน์ ระบุว่า จากงานวิจัยของต่างประเทศ พบว่า โรคโควิด-19 เกิดจากเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบลักษณะทางโครโมโซมแล้วมีความใกล้เคียงกับ SARS-CoV ที่ก่อโรคซาร์สประมาณ 90%

พาหะของโรค?

ดร.นพ.พลวัฒน์ ยกงานวิจัยหนึ่งขึ้นมา ว่า ไวรัสโคโรนาที่สกัดออกมาจากตัวนิ่ม (Pangolins) เมื่อเทียบกับไวรัสโคโรนาในคน พบว่ามีความใกล้เคียงกัน ดังนั้นที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดตอนนี้ จากงานวิจัยนี้ น่าจะมาจากตัวนิ่มประมาณ 90% โดยตัวนิ่มเป็นสัตว์ที่ถูกล่าเพื่อส่งออกมาก เคยมีการค้นพบถึง 3-5 ตัน ซากตัวนิ่มเพื่อส่งออก ทุกตัวที่พบถูกขอดเกล็ด เพื่อไปทำยาจีน ราคา 3,000 เหรียญ (ราว 95,000 บาท) ต่อกิโลกรัม เป็นสัตว์ที่ส่งออกมากที่สุด

ระยะฟักตัวไวรัส COVID-19 ขยายเป็น 24 วัน?

ดร.นพ.พลวัฒน์ ย้ำว่า ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ (Centers for Disease Control, CDC) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) ยืนยันว่าระยะฟักตัวของไวรัส COVID-19 ยังเป็น 14 วันอยู่ โดย WHO ระบุว่าเคสที่มีระยะฟักตัว 24 วันนั้น อาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากมีผู้ได้รับเชื้อซ้ำ

ติดต่อกันได้หรือไม่ถ้าผู้ป่วยไม่แสดงอาการ?

มีรายงานล่าสุดเมื่อ 2-3 วันก่อน เอาปริมาณเชื้อไวรัสในผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการมาดู พบเชื้อไวรัสในสิ่งคัดหลั่ง ดังนั้นผู้ป่วยที่แม้ไม่มีอาการก็สามารถถ่ายทอดไวรัส COVID-19 ได้

“สมมติว่าถ้าเราไปเที่ยวญี่ปุ่น แต่ไม่มีอาการ กลับมาแพร่หรือไม่ ตามรายงานนี้ แพร่นะครับ” ดร.นพ.พลวัฒน์ กล่าว

ไทยรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หายเพิ่ม  2 ราย ย้ำอย่าวิตกการระบาดของ Super Spreader

ติดต่อทางไหนบ้าง?

ปัจจุบัน COVID-19 ได้รับการยืนยันว่าติดต่อทาง Droplet หรือละอองฝอยเท่านั้น ซึ่งเชื้อไวรัสที่ติดต่อทางละอองฝอยสามารถติดต่อไปทางการหายใจ การไอจามรดกัน การคุยกันในระยะ 2 เมตร หรือการจับมือ สามารถติดต่อได้ เป็น Droplet ละอองฝอย แม้กระทั่งเวลาพูดคุยกัน จึงคาดว่าปัจจุบันติดต่อแค่ทาง Droplet แต่ในอนาคตไม่แน่

COVID-19 อยู่ได้นานแค่ไหน?

COVID-19 นั้นมีลักษณะเป็นไวรัสที่ไม่มีเยื่อหุ้มซึ่งโดยทั่วไปมักกำจัดได้ง่าย แต่ COVID-19 กลับไม่ได้เปราะบางขนาดนั้น เพราะที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ความชื้น 30% ผ่านไป 72 ชั่วโมง ยังมีเชื้ออยู่มากกว่า 50% ที่ความความชื้นสัมพัมธ์ 50% ผ่านไป 6 วัน ก็ยังมีเชื้อมากกว่า 20% แต่ประเทศไทยไม่ใช่ 20 องศาเซเลเซียส เชื้อจึงไม่น่าจะอยู่นานเท่าผลจากงานวิจัยของต่างประเทศ

COVID-19 รุนแรงแค่ไหน?

พญ.พานิภัค กล่าวว่า ปัจจุบัน เท่าที่มีการรายงาน ความรุนแรงของ COVID-19 มีอัตราการเสียชีวิตที่ 2-3% เท่านั้น แต่มีข้อมูลว่า ผู้ป่วย COVID-19 1 ราย สามารถแพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้เฉลี่ย 2.6 คน ซึ่งต้องเฝ้าระวังเพราะประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเฟส 2 ของการระบาด

สถานการณ์ในไทย

พญ.พานิภัคระบุว่า เฟส 2 ของการระบาด คือ สภาวะที่มีการระบาดของโรคอยู่ในกลุ่มย่อย แต่ถ้าเข้าสู่เฟส 3 จะเกิดการกระจายเชื้อจากคนสู่คนในวงกว้าง อย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้ก็เข้าสู่เฟส 3 หลังเกิดเหตุการณ์ Super Spread

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่า ผู้ป่วยยืนยันสะสมในไทยอยู่ที่ 35 ราย กลับบ้านแล้ว 21 ราย รักษาตัวอยู่ 14 ราย ส่วนเคสที่กำลังเฝ้าระวังมีทั้งหมด 1,355 ราย กลับบ้านแล้ว 1,071 ราย พักอยู่ที่โรงพยาบาลอีก 284 ราย

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ