"อ.อ๊อด" ลั่น ใช้หน้ากากอนามัยที่ "สิระ" แจกเสี่ยงโรคมะเร็ง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หน้ากากอนามัยที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ นำมาแจกจ่ายให้ประชาชนเมื่อเช้าที่ผ่านมา จากการนำไปให้รองศาสตราจารย์ วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตรวจสอบ พบว่า เป็นหน้ากากอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐานหากใช้เป็นเวลานานเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง ขณะที่นายสิระ ระบุว่า ซื้อมาจากพ่อค้าแม่ค้าในออนไลน์ 1 ชิ้น ราคาสูงเกือบ 15 บาท

“สิระ” แจกหน้ากากอนามัย 1 หมื่นชิ้น แจงซื้อจากอินเทอร์เน็ต

นพ.ทวี ย้ำ หน้ากากอนามัยจำเป็นใช้กันโควิด-19

นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ เปิดบ้านทรงไทย ย่านแจ้งวัฒนะ แจกหน้ากากอนามัย 10,000 ชิ้น ให้กับประชาชนในพื้นที่ คนละ 3 ชิ้น ใช้เวลาไม่ถึง 5 ชั่วโมง หน้ากากที่เตรียมมาก็ถูกแจกจ่ายหมด

นายสิระ ระบุว่า ซื้อมาจากแม่ค้าพ่อค้าในออนไลน์ ยอมรับว่า ราคาที่ซื้อมาได้ เป็นราคาที่แพงกว่าราคาจริง คือ  ชิ้นละ 14บาท 75 สตางค์  รวมเป็นเงิน 147,500 บาท แต่ก็ตัดสินใจซื้อเพราะมองว่าเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งนายสิระย้ำว่า เงินที่จัดซื้อเป็นเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงการประชุมส่วนตัวของตัวเอง 

หน้ากากอนามัยแบบสีเขียวที่พบทั่วไป กับ แบบที่นายสิระนำมาแจก พบว่า หน้ากากอนามัยแบบสีเขียว มีความนุ่มมากกว่า การตัดเย็บและการพับจีบของหน้ากากอนามัย สีเขียวก็มีความเรียบร้อยมากกว่า ไม่มีตะเข็บด้านหลุดลุ่ย ส่วนความหนาของหน้ากากอนามัย พบว่า ทั้ง 2 แบบ มี 3 ชั้นเหมือนกัน แต่แบบสีเขียว แผ่นกรองตรงกลางจะมีความหนามากกว่า รวมถึงแบบสีฟ้าที่นายสิระแจกไม่มีลวดตรงกลางหน้ากากอนามัย ดังนั้นอาจทำให้การสวมใส่ หน้ากากไม่แนบสนิทกับหน้าของผู้สวมใส่

หน้ากากอนามัยแบบสีเขียวนี้ ถือว่าเป็นไปตามมาตราฐานของกรมขควบคุมโรค คือ  หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานจะต้องมี 3 ชั้น โดยที่ ชั้นนอกจะต้องมีสารเคลือบกันน้ำ ชั้นกลางต้องเป็นแผ่นสำหรับกรองเชื้อโรค และ ชั้นในต้องเป็นวัสดุที่มีผิวนุ่ม เพราะ ชั้นนี้จะสัมผัสโดยตรงกับผิวผู้สวมใส่

ด้านรองศาสตราจารย์ วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดห้องแล็ปวิเคราะห์ตัวอย่างหน้ากากอนามัย ของนายสิระ พบว่า วัสดุที่ใช้คือผ้าสปันบอนด์ ที่เกิดจากเส้นใยสังเคราะห์ที่เป็นไมโครพลาสติก ย่อยสลายยาก และหากสูดดมเข้าไปในร่างกายเป็นเวลานานมีโอกาสทำให้เป็นโรคมะเร็งได้

ส่วนผ้าสีฟ้าที่อยู่ตรงกลาง จากการตรวจทางวิทยาศาสตร์ พบว่า ไม่มีการเคลือบสารป้องกันอะไรเป็นพิเศษ แต่ใช้วิธีย้อมผ้าให้เป็นสีฟ้าอาจเพราะต้องการให้ผู้สวมใส่รู้สึกปลอดภัย จึงไม่แนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยชนิดนี้ต่อ พร้อมแนะนำให้นายสิระดำเนินการตรวจสอบโรงงานดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้รองศาสตราจารย์ วีรชัย ยังตั้งข้อสังเกตว่า การใช้ผ้าสปันบอนด์ทำหน้ากากอนามัย ต้นทุนน่าจะอยู่ที่ไม่เกิน ชิ้นละ 75 สตางค์ เนื่องจากผ้าสปันบอนด์ไม่ได้มีราคาสูง แต่มีผลต่อระบบนิเวศน์มากเพราะย่อยสลายได้ยาก

ขณะที่รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์จากภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม แพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า หากประชาชนใส่หน้ากากอนามัยที่ไม่ได้มาตราฐานอาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าตัวเองปลอดภัยแล้ว และอาจทำให้ปล่อยปะละเลยไม่ระมัดระวัง รวมถึงอาจมีความเสี่ยงว่า หน้ากากอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐานอาจบ่งบอกถึงการผลิตที่ไม่ดี ซึ่งแปลว่ามีโอกาสมีเชื้อโรคติดอยู่ด้วย รองศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระ ระบุว่า ในบุคคลทั่วไปหากต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยแบบที่ไม่ได้มาตรฐาน การไม่สวมใส่เป็นทางเลือกที่ดีกว่า

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ