กรมสุขภาพจิตแนะครู-อาจารย์ดูแลเด็กอย่าให้เกิดการกลั่นแกล้งปม “โควิด-19”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




อธิบดีกรมสุขภาพจิตขอ ร.ร.-สถานที่ทำงาน ถือปัญหา COVID-19 เป็นวาระแห่งชาติ รณรรงค์พูดทำความเข้าใจ อย่าให้เกิดความตระหนกเกิน พร้อมแนะรับมือโควิด -19  “ 5 คาถา”

วันที่ 4  มี.ค.2563  นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  กล่าวว่า คนไทยส่วนมากใช้เวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมงต่อวันในการอยู่ที่ทำงาน และเด็กไทยใช้เวลาประมาณ 6-10 ชั่วโมงในการเรียนหนังสือ   อยู่ที่สถานศึกษาต่างๆ ดังนั้น เราทุกคนจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองและคนรอบข้าง ในสถานศึกษาและสถานที่ทำงานซึ่งมักเป็นสถานที่ปิดและมีคนอยู่เป็นจำนวนมาก โดยบุคลากรในสถานศึกษาและสถานที่ทำงานต่างๆ  ควรถือว่าปัญหา COVIC -19   เป็นวาระสำคัญของทุกคนในองค์กร แม้มีหน้าที่หลักแตกต่างกันออกไปแต่ทุกคนล้วนมีความสำคัญและบทบาทในการควบคุมปัญหา COVID-19 ไม่แตกต่างกัน การรณรงค์สามารถเริ่มได้จากการพูดคุยสนทนากันในวงเล็กๆ พูดคุยทำความเข้าใจซึ่งกันและกันในสถานการณ์ล่าสุด ให้เพื่อนได้ระบายความรู้สึกต่างๆที่อยู่ในใจ เช่น ความกลัว ความวิตกกังวล ความเศร้า ตรวจสอบความเข้าใจว่าได้รับผลกระทบจากข่าวลือหรือข่าวปลอมหรือไม่ และหาข้อมูลเพิ่มเติมร่วมกันเพื่อหาข้อสรุป

โควิด-19 คืออะไร?

รู้มั้ย!  บูลลี่ในโรงเรียน ผลกระทบทั้ง 2 ฝั่ง “คนถูกแกล้งกับคนชอบแกล้ง”

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า   ครูอาจารย์ในสถานศึกษาควรตระหนักถึงปัญหานี้และดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้มีการกลั่นแกล้งกันโดยใช้ความเข้าใจ COVID-19 ที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งคนที่ถูกกลั่นแกล้งหรือกีดกันจากสังคมที่ไม่เข้าใจปัญหานี้ อาจเกิดความเครียด วิตกกังวล กลัว หรือไม่อยากไปเรียนหรือไปทำงานได้ ทั้งนี้บุคลากร       ในสถานศึกษาและสถานที่ทำงานต่างๆ ควรเน้นเรื่องการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และใช้การส่งต่อ ความเข้าใจ ความรักและความห่วงใยในการผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

 

นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิต ยังแนะวิธีรับมือโควิด-19 อย่างมีสติ  โดยมี 5 คาถา “อย่ากลัว” COVID-19 ดังนี้  

1.อย่ากลัวไวรัส จนเชื่อข่าวปลอมข่าวลือ หรือเพิ่มความหวาดวิตกให้สังคม

2.อย่ากลัวคนอื่น จนไม่กล้าเข้าใกล้ใคร หรือทำร้ายคนอื่นทางกายและจิตใจ

3.อย่ากลัวความลำบาก จนไม่ใส่หน้ากากอนามัย ไม่ล้างมือ ไม่ดูแลตัวเอง

4.อย่ากลัวการรักษา จนปกปิดประวัติตัวเอง หรือไม่ยอมไปตรวจเมื่อมีอาการ

5.อย่ากลัวอดเที่ยว จนสุดท้ายกลายเป็นเสียน้อย เสียยาก เสียมาก เสียง่าย

 

รวมทั้งกรมสุขภาพจิต อยากให้ประชาชนตระหนักถึง  2 คำสำคัญ คือ สำนึกต่อสังคม (Social responsiveness) และสังคมสมานฉันท์ (Social cohesion)  

โดยสำนึกต่อสังคม (Social responsiveness) หมายถึง การมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมและการกระทำต่างๆของแต่ละบุคคล โดยทุกคนสามารถสร้างได้โดย ดูแลสุขภาพตนเองให้ดี กินของร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แนะนำให้ความรู้กับคนที่ยังไม่รู้ หรือให้ความช่วยเหลือแนะนำต่างๆ ให้ฟังข้อมูลข่าวสารจากทางรัฐ หรือแหล่งที่เชื่อถือได้ ถ้าเจ็บป่วยโรคทางเดินหายใจ ให้ใส่หน้ากากอนามัย ไม่ปกปิดข้อมูลต้องแจ้งทางการหรือปฏิบัติตามข้อแนะนำเมื่อมีความเสี่ยงต่างๆ ไม่เผยแพร่ หรือสร้างข่าวลวงที่จะทำให้สถานการณ์แย่ลง ไม่ไปในที่มีคนแออัด ถ้าเจ็บป่วยหรือสงสัยให้รีบไปพบแพทย์

สังคมสมานฉันท์ (Social cohesion) นั้นหมายถึง การที่สังคมไทยต้องรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อต่อสู้กับ COVID-19 ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลกัน ช่วยเหลือกัน ไม่รังเกียจผู้เจ็บป่วยหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะเราสามารถป้องกันตัวเองได้ สังคมต้องร่วมแรงร่วมใจ ปฏิบัติตามคำแนะนำของภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ในการควบคุมและป้องกันโรค เชื่อมั่นในระบบของประเทศที่เราสามารถควบคุมป้องกันโรคที่ผ่านมาด้วยดีโดยตลอด เชื่อมั่นในศักยภาพและความทุ่มเทของบุคลากร  ทางการแพทย์ในทุกระดับ ให้กำลังใจซึ่งกันและกันและให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ