“ครูสีรุ้ง” ศักดิ์ศรีความเป็นคน ศักดิ์ศรีความเป็นครู


โดย PPTV Online

เผยแพร่




“สีรุ้ง” เป็นสีสันแห่งความหลากหลาย ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม LGBT เพื่อแสดงถึงความหลากหลายทางเพศ สะท้อนให้เห็นว่า บนโลกใบนี้ไม่ได้มีแค่เพศหญิง หรือเพศชายเท่านั้น แต่ยังมีเพศอื่นๆ ตาม รสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation)

ด้วยธรรมชาติกำหนดให้บนโลกนี้ มี 2 เพศ ตาม เพศสรีระ (Sex)  คือ คนที่มีองคชาต คือ เพศชาย และคนที่มีช่องคลอด คือ เพศหญิง เมื่อเป็นเช่นนี้ โครงสร้างทางสังคม จึงกำหนดให้ ชาย และ หญิง มีเพศภาวะ (Gender)ตามที่คาดหวัง เช่น

ครูเพศทางเลือก ถูกเลือกปฏิบัติ

ลักษณะของคุณครู ส่งผลต่อการเรียนจริงหรือ?

ชาย ต้อง ผมสั้น               หญิงต้อง ผมยาว
ชายต้องใส่กางเกง            หญิงต้องใส่กระโปรง
ชายต้องคู่กับผู้หญิง          หญิงต้องคู่กับผู้ชาย
ชายเป็นช้างเท้าหน้า         หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ฯลฯ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเป็นมนุษย์ซับซ้อนกว่านั้นมาก เพราะ คนเราเลือกเกิดไม่ได้ เราไม่ได้เลือกมาตั้งแต่แรกว่า อยากเกิดเป็นชายหรือเป็นหญิง เมื่อเกิดมาแล้วความเป็นเพศสรีระติดตัวเรามา แต่สภาพแวดล้อม ครอบครัว ฮอร์โมน ประสบการณ์ต่างๆ อาจหล่อหลอมให้คนคนหนึ่ง ไม่ได้อยากเป็นเพศนั้นๆตามเพศสรีระ หรือเป็นไปตามเพศภาวะที่โครงสร้างสังคมกำหนด

ทำให้บนโลกใบนี้ มีทั้ง “ชายที่อยากเป็นหญิง หญิงที่อยากเป็นชาย” ปะปนเต็มไปหมด แต่เพราะ โครงสร้างทางสังคมกำหนดว่า เพศสรีระนี้ต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้เท่านั้น การที่ “ชายแต่งตัวเป็นหญิง หญิงแต่งตัวเป็นชาย” จึงกลายเป็นเรื่องผิดแผกไปจากที่สังคมคาดหวัง

เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่เป็น LGBT จึงถูกมองว่าผิดปกติ ในอดีตสังคมใช้คำว่า “เบี่ยงเบนทางเพศ” บ่อยมาก เพราะคิดว่าชายที่อยากเป็นหญิงหรือ หญิงที่อยากเป็นชาย เป็นเรื่องผิดปกติทางจิต ทั้งที่ในความเป็นจริง “คนคนหนึ่งเลือกที่จะอยากเป็นหรือไม่เป็นอะไรอะไรก็ได้ ตามสิทธิขั้นพื้นฐานของเขา”

ความรู้สึกที่ว่ากลุ่ม LGBT ผิดปกติฝังรากลึกยาวนานในหลายสังคม ในสังคมไทยก็เช่นกัน  งานวิจัยล่าสุดของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP เปิดเผยว่า ทัศนคติโดยรวมของคนไทย ต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นบวก สนับสนุนให้ออกกฎหมายและนโยบายปกป้องคุ้มครองคนกลุ่มนี้ แต่...คนที่มีความหลากหลายทางเพศยังถูกตีตราเลือกปฏิบัติ ใช้ความรุนแรงและแบ่งแยก

“ คนไทยส่วนใหญ่ยอมรับคนข้ามเพศได้ แต่ไม่อยากสุงสิงด้วย”

จะเห็นว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ การใช้ชีวิตของคนข้ามเพศ จึงไม่ราบเรียบนัก โดยเฉพาะ “คนข้ามเพศที่อยากเป็นครู”

ในอดีต อาชีพครู เป็นอาชีพของ ผู้ชาย กระทั่งมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องของผู้หญิง จึงมีการแก้แก้พระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2479 ให้ข้าราชการหญิง เท่าเทียมกับข้าราชการชาย “ครูหญิง ได้บรรจุเป็นข้าราชการอย่างเสมอภาค” ได้เงินเดือน สวัสดิการ และบำเหน็จ เท่าเทียมกับข้าราชการชาย

“ครู ถูก มองเป็นอาชีพสูงส่ง “ฐานันดรศักดิ์สิทธิ์” คนจะมาเป็นครูจึงต้องไร้ที่ติ เพราะเป็นแม่พิมพ์ของชาติ

จึงมีชุดความคิดที่ว่า การที่คนข้ามเพศ ซึ่งถูกสังคมมองว่าเป็นคนผิดปกติ มาเป็นครู จะลดทอนศักดิ์ศรี ความเป็นครู ลง และจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับเด็กที่เป็นอนาคตของชาติ ปัจจุบันไม่มีกฎหมายฉบับใดห้าม คนข้ามเพศเป็นครู แต่การเป็นครูของคนข้ามเพศก็ไม่ได้ถูกยอมรับ “การแสดงออกถึงเพศสภาพไปพร้อมกับการประกอบอาชีพครูจึงทำไม่ได้” หลายโรงเรียน ยังใช้กฎระเบียบบังคับ ให้ ครูข้ามเพศต้องแต่งกายตามเพศกำเนิดเท่านั้น แม้เพศสภาพของครูข้ามเพศบางคนจะกลายจากชายเป็นหญิง หรือหญิงเป็นชายแล้วก็ตาม หรือแม้แต่ในรั้วมหาวิทยาลัย คณะศึกษาศาสตร์ หรือครุศาสตร์ ก็ยังถูกมองว่าเป็นคณะต้องห้ามของ คนข้ามเพศ และยังใช้กฎระเบียบบังคับในนักศึกษาข้ามเพศแต่งกายตามเพศกำเนิดเท่านั้น “ชื่อนำหน้าว่านาย ก็ต้องแต่งกายเป็น นักศึกษาชายเท่านั้น”

การบังคับเรื่องแต่งกาย เป็นการแสดงออกถึงการแบ่งแยก เลือกปฏิบัติ และการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล อันดับแรกๆที่กลุ่มคนข้ามเพศเจอ

หลายคนอาจมองว่านี่ ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร  หากลองคิดเล่นๆในมุมกลับกัน หากคุณเป็นผู้ชาย ทั้งเพศสรีระและ จิตใจ แต่กฎบังคับให้คุณใส่กระโปรง ...นี่ถือเป็นการบังคับจิตใจหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคุณหรือไม่

มีคนข้ามเพศ จำนวนมาก มีความตั้งใจแน่วแน่ และมีความฝันที่อยากจะเป็นครู แต่เมื่อเส้นทางการเป็นครูของพวกเขาถูกกีดกันด้วยการเลือกปฏิบัติ แบ่งแยก และละเมิดสิทธิ บางคนก็ถอดถอนใจไปทำอาชีพอื่นที่สังคมมองว่าเหมาะสม เช่น ตัวตลก นางโชว์ หรืองานบันเทิง ขณะที่บางคนก็ต่อสู้ ก้าวข้ามการดูถูกเหยียดหยามจนเข้ามาเป็นครูได้ ด้วยการพิสูจน์ตัวเองหลากหลายด้าน

“แม้ไม่มีอะไรการันตีได้ว่า ความเป็นเพศหญิง เพศชาย หรือคนข้ามเพศ  จะส่งผลต่อการเป็นครูที่ดีหรือไม่ดี” แต่สังคมก็มองคนข้ามเพศติดลบ และแปลกแยกอยู่ดี

หลังมีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 กลุ่มคนข้ามเพศหลากหลายเครือข่าย เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เรื่องถูกเลือกปฏิบัติ และถูกละเมิดสิทธิ มากขึ้น

ปัจจุบันมีกฎหมายอยู่เพียง 1 ฉบับที่รับรองสิทธิคนข้ามเพศ คือพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 และมีอย่างน้อย 2 ฉบับ ที่อยู่ระหว่างการผลักดัน คือ ร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศสภาพของบุคคลข้ามเพศ และร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต
การออกมาผลักดันกฎหมายเป็นสิ่งที่คนข้ามเพศมองว่า เพื่อ จะทำให้การถูกยอมรับได้รับการรับรอง

การออกมาเรียกร้องสิทธิของพวกเขาจึง ไม่ใช่ เพื่อให้ได้สิทธิมากกว่า ชาย หรือ หญิง แต่พวกเขาเรียกร้องสิทธิในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเฉกเช่นพวกเรา

ติดตามต่อในสารตั้งต้นตอน ครูสีรุ้ง ศุกร์ฺที่ 5 มี.ค. 63 เวลา 23.00 น. ทาง PPTV HD ช่อง 36 

เนเธอร์แลนด์ เปิดตัวทางม้าลายสำหรับคนข้ามเพศแห่งแรกของโลก

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ