เศรษฐกิจป่วยเรื้อรัง จากวิกฤตปี 40 ถึงปี 63


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ภาพของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การส่งออกและการท่องเที่ยวหดตัว อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงภาวะวิกฤตอะไรหรือไม่

เสียงสะท้อนของพ่อค้าแม่ค้า ที่สะท้อนถึงภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน จนผู้ประกอบการหลายคนบอกว่าเศรษฐกิจปีนี้หนักกว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 แต่เศรษฐกิจในปีนี้จะเข้าขั้นวิกฤตจริงหรือไม่ ศาสตราจารย์วิทวัส รุ่งเรืองผล อาจารย์ประจำ  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  อธิบายว่า วิกฤตเศรษฐกิจในปี 40 หลัก ๆ เกิดจากผู้ประกอบการไปกู้เงินจากต่างประเทศในอัตราในประเทศด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ 3-4% ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยที่สูงถึง 15% การแข่งขันกันจึงสูงกว่าปกติหลายเท่าตัว จนเกิดการเก็งกำไรทั้งตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ แต่เมื่อการเติบโตไม่ได้มาจากความต้องการจริง ในท้ายที่สุดแรงของการเก็งกำไรก็ถึงจุดฟองสบู่แตก รวมถึงค่าเงินบาทที่ลอยตัวจาก 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ  ปรับตัวสูงขึ้นแตะ 50 บาท เมื่อรวมกับดอกเบี้ยแล้ว หนี้สินจึงทวีคูณขึ้นไปหลายเท่าตัว และเมื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีปัญหา ก็ลามไปถึงสถาบันการเงินด้วย จนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ส่วนในปี 2563 นั้นยังมีความแตกต่างกันในรายละเอียดอยู่มาก

รัฐบาลจัดตั้งกองทุน เปิดรับบริจาคแก้ปัญหาโควิด-19

คลังทุ่มแสนล้าน แจกเงิน 14 ล้านคน ให้หัวละ 1-2 พันบาท สู้วิกฤต โควิด-19

ขณะที่ภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน กำลังได้รับผลกระทบใหญ่จาก ไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อ 3 เครื่องยนต์หลักของไทย ทั้ง การส่งออก อยู่ในภาวะชะลอตัวมาเป็นเวลาหลายปี การท่องเที่ยว ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ส่วนภาคการบริโภคในประเทศ ที่รัฐบาลพยายามใช้เป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจนั้น ตัวเลขหนี้ครัวเรือนก็อยู่ในระดับ 80% ที่ค่อนข้างวิกฤตแล้ว ทำให้เศรษฐกิจไทยน่าจะซึมยาวไปอย่างน้อยอีก 2-3 ปี

แม้รัฐบาลจะพยายามผลักดันโครงการใหญ่ ๆ เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง เมืองการบินภาคตะวันออก ไปจนถึงอีอีซี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องใช้เวลา 3-4 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น ซึ่งไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่

เอดีบี วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยกระทบโควิด 19 เสียหาย 1.76 แสนล้านบาท

ในกรณีของภาคอสังหาฯ แม้ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันจะแตกต่างจากปี 40 แต่จังหวะนี้ควรซื้อได้หรือไม่นั้น ศ.วิทวัส มองว่าหากหวังว่าจะทำให้เกิดลดราคาครั้งใหญ่เหมือนหลังวิกฤตปี 2540 รอบนี้ไม่น่าเกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากโครงสร้างของธุรกิจอสังหาฯ เปลี่ยนไป ผู้ประกอบการส่วนมากเป็นรายใหญ่ที่มีความแข็งแกร่ง และระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ ควรพิจารณาความพร้อมทางการเงินให้มั่นคงก่อนการตัดสินใจซื้อ เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ยังต้องคำนึงถึง หรืออีกหนึ่งทางเลือก อาจเป็นการลดระดับราคาที่อยู่อาศัยลงมาเพื่อให้เกิดภาระทางการเงินน้อยลง

 

กมลธร โกมารทัต รายงาน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ