"ส่อง" การจัดการ "หน้ากากอนามัย" แต่ละประเทศ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากสถานการณ์ปัจจุบันที่หน้ากากอนามัยกลายเป็นของหาซื้อได้ยากในไทย อันเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ประกอบกับข่าวการกักตุนหน้ากากอนามัยเพื่อค้ากำไรโดยผู้ติดตามของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม นิวมีเดีย PPTVHD36 จึงขอพามาดูแนวทางการจัดการหน้ากากอนามัยของแต่ละประเทศ

ไปดูแนวทางการจัดการหน้ากากอนามัยของแต่ละประเทศ...

ไวรัสโคโรนา: หน้ากากอนามัยขาดตลาด พบปชช.ส่วนหนึ่งเข้าไม่ถึง

ไทย

4 ก.พ. 63 กรมการค้าภายใน คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ออกประกาศให้หน้ากากอนามัย (รวมถึงใยสังเคราะห์ polypropylene หรือ spunbond วัตถุดิบที่ใช้ทำหน้ากาก) เป็น “สินค้าควบคุม”

6 ก.พ. 63 รัฐบาลไทยเริ่มแจกหน้ากากอนามัยจำนวน 45,000 ชิ้น แก่ประชาชนทั่วไปตามจุดต่าง ๆ ประกาศหน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม จำกัดการซื้อได้คนละ 10 ชิ้นและห้ามส่งออก

ประเทศไทยมีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยประเภทใช้ครั้งเดียวทางการแพทย์อยู่ 11 แห่ง ทั้ง 11 แห่ง แจ้งว่ามีกำลังการผลิตรวมกันประมาณวันละ 1,200,000 ชิ้นหรือเดือนละประมาณ 36 ล้านชิ้น ทว่าจากการตื่นกลัวการระบาดของไวรัส โควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการหน้ากากเพิ่มขึ้นเป็น 1-2 เท่าจากปกติ

รัฐบาลออกมาตรการให้หน้ากากอนามัยทั้งหมดที่โรงงานทั้ง 11 แห่งผลิตได้ ต้องส่งมาให้ “ศูนย์กระจายหน้ากากอนามัย” ที่บริหารร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุข

ศูนย์แห่งนี้รับหน้ากากอนามัยจากโรงงานเข้ามาวันละ 1,200,000 ชิ้น ทั้งหมดถูกจัดสรรออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรก 700,000 ชิ้นให้กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบจัดสรรหน้ากากให้กับโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน รวมทั้งโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัย ส่วนอีก 500,000 ชิ้น ให้กรมการค้าภายในจัดสรรกระจายสินค้าให้กับประชาชนทั้งประเทศที่ต้องการหน้ากากผ่านทางร้านค้าสะดวกซื้อ-ร้านธงฟ้าประชารัฐ และรถโมบายล์มากกว่า 100 คัน พร้อมทั้งกำหนดราคาจำหน่ายหน้ากากอนามัยให้ประชาชนไว้ที่ 2.50 บาท/ชิ้น

จีน

กำลังการผลิตหน้ากากอนามัยของจีนเฉลี่ยอยู่ที่ 22 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับประชากร 1.4 พันล้านคน

24 ม.ค. – 2 ก.พ. 63 เฉพาะเมืองปักกิ่ง มีการนำเข้าหน้ากากอนามัยจากต่างประเทศ 220 ล้านชิ้น

ต้นเดือน ก.พ. 63 หลังเทศกาลตรุษจีน กำลังการผลิตหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น 10% แต่จำนวนทั้งหมดก็ยังคงไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอยู่ในแนวหน้า

อย่างไรก็ตาม จีนไม่มีมาตรการห้ามส่งออกหน้ากาก ส่งผลให้หน้ากากก่าครึ่งหนึ่งในตลาดโลกมาจากประเทศจีน ทั้งนี้ จีนยังพยายามสื่อสารให้ประชาชนลดความตื่นตระหนกจนทำให้หน้ากากขาดแคลน

สิงคโปร์

30 ม.ค. 63 รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศแจกหน้ากากอนามัยจำนวน 5.2 ล้านชิ้น แก่ประชาชนทุกครัวเรือน ครัวเรือนละ 4 ชิ้น ในวันเดียวกันนี้ หน่วยงานเทคโนโลยีของรัฐบาลสิงคโปร์ (GovTech) สร้างเว็บไซต์ MaskGoWhere เพื่อให้ประชาชนสามารถป้อนรหัสไปรษณีย์ ค้นหารายละเอียดเกี่ยวกับจุดรับการแจกจ่ายหน้ากาก

1 ก.พ. 63 รัฐบาลสั่งระดมทหาร 1,500 นาย มาร่วมบรรจุและจัดส่งหน้ากากให้แก่ประชาชน ถึงวันที่ 9 ก.พ. 63 ก่อนขยายมาจนถึงสิ้นเดือน ก.พ. 63

18 ก.พ. 63 กระทรวงการพัฒนาแห่งชาติ (MND) ระบุจะเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตหน้ากากในประเทศ รวมถึงเพิ่มความรัดกุมในการส่งออกหน้ากากอนามัยไปยังประเทศอื่นในแถบเอเชีย

27 ก.พ. 63 ประชาชนสิงคโปร์ 2 ใน 3 ของประเทศได้รับหน้ากากอนามัยอย่างเพียงพอ

1 มี.ค. 63 หน้ากากอนามัยที่เหลือจากการแจกจ่ายประชาชนถูกจัดเก็บเข้าคลังเพื่อส่งต่อให้บุคลากรทางการแพทย์ต่อไป

ไต้หวัน

24 ม.ค. 63 รัฐบาลไต้หวันประกาศห้ามการส่งออกหน้ากาอนามัยชั่วคราว เพื่อจัดหาหน้ากากให้กับประชาชนของตนเองก่อน

6 ก.พ. 63 รัฐบาลจัดทำระบบจัดสรรหน้ากาก โดยกำหนดให้ประชาชนต้องแสดงบัตรประกันสุขภาพแห่งชาติ ใบรับรองถิ่นที่อยู่ของคนต่างด้าว หรือใบอนุญาตเข้าประเทศอย่างถูกต้อง โดยผู้ที่มีเอกสารเลขคี่ จะได้รับอนุญาตให้ซื้อหน้ากากในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ผู้ที่มีเอกสารระบุตัวตนเป็นเลขคู่ ให้ซื้อหน้ากากในวันอังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ ส่วนวันอาทิตย์ ทุกคนจะได้รับอนุญาตให้ซื้อหน้ากากได้ สำหรับผู้ใหญ่ได้รับอนุญาตให้ซื้อหน้ากาก 2 ชิ้น/ครั้งใบ และเด็ก 4 ชิ้น/ครั้ง โดยมีข้อจำกัด ว่า หากจะมาซื้อใหม่ ต้องผ่านไปอย่างน้อย 7 วันหลังซื้อ

ต้นเดือน ก.พ. 63 ศูนย์บัญชาการการแพร่ระบาดกลางของไต้หวัน (CECC) ขอให้ระดมพลกองทัพไต้หวัน เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส โดยทหารถูกส่งไปยังโรงงานผู้ผลิตหน้ากากรายใหญ่ เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ในการเพิ่มสายการผลิตหน้ากาก

5 มี.ค. 63 ไต้หวันปรับโควตาการซื้อหน้ากาก โดยผู้ใหญ่จะได้รับอนุญาตให้ซื้อหน้ากาก 3 ชิ้น/ครั้ง และสำหรับเด็กได้เพิ่มเป็น 5 ชิ้น/ครั้ง

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา กำลังการผลิตหน้ากาอนามัยในไต้หวันเพิ่มเป็น 8.2 ล้านชิ้น/วัน การเพิ่มขึ้นดังกล่าวทำให้รัฐบาลสามารถจัดสรรหน้ากากให้ประชาชนทั่วไปได้ 5.2 ล้านชิ้น/วัน จากเดิม 3.9 ล้านชิ้น/วัน ส่วนหน้ากากที่เหลือ 3 ล้านชิ้น/วัน จะถูกสงวนไว้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ป้องกันการแพร่ระบาด

เกาหลีใต้

ผู้ผลิตหน้ากากอนามัยลดการส่งออกหน้ากากให้เหลือน้อยกว่า 10% ของการผลิตทั้งหมด และมากกว่าครึ่งหนึ่งของการผลิตจะต้องมอบให้กับผู้ขายที่กำหนดโดยรัฐบาล

90% ของหน้ากากทั้งหมดในเกาหลีใต้จะถูกส่งต่อไปภายในประเทศ มีบริษัทประมาณ 140 แห่งที่สามารถผลิตหน้ากากได้ 10 ล้านชิ้น/วัน ซึ่งหมายความว่าหน้ากาก 9 ล้านชิ้นจะถูกวางขายให้ประชาชนในประเทศ

ตั้งแต่ 28 ก.พ. 63 หน้ากากอนามัยจำนวน 5 ล้านชิ้น วางจำหน่ายที่ร้านค้าปลีกของรัฐ สหกรณ์การเกษตรแห่งชาติ ศูนย์กระจายสินค้าขนาดกลางและขนาดย่อม และที่ทำการไปรษณีย์ ราคาจะเริ่มต้นประมาณน้อยกว่า 30 บาท

นอกจากนี้จะมีการจัดสรรหน้ากาก 2.4 ล้านชิ้นให้กับร้านขายยา 24,000 แห่งทุกวัน ผู้บริโภคจะได้รับอนุญาตให้ซื้อหน้ากากได้สูงสุด 5 ชิ้น/คน โดยตามสถานที่จำหน่ายติดตั้งระบบดิจิทัลที่จะป้องกันไม่ให้ลูกค้าซื้อสินค้าเกินโควตา โดยการตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชน

5 มี.ค. 63 รัฐบาลเกาหลีใต้ตัดสินใจควบคุมกระบวนการผลิต การขนส่ง และการจัดจำหน่ายหน้ากากในเกาหลีใต้ เพื่อให้กระจายหน้ากากได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรมแก่ประชาชนทุกคน รวมถึงการห้ามส่งออกหน้ากากอย่างเต็มรูปแบบ แทนที่มาตรการก่อนหน้านี้ซึ่งอนุญาตให้มีการส่งออกไม่เกิน 10% ของการผลิตทั้งหมด

6 มี.ค. 63 รัฐบาลเกาหลีใต้จำกัดการขายของหน้ากากไว้ที่สัปดาห์ละ 2 ครั้ง/คน

9 มี.ค. 63 เริ่มใช้กฎวันคู่วันคี่ เช่น ประชาชนที่เกิดวันคู่ ให้ซื้อหน้ากากได้เฉพาะวันคู่ เป็นต้น

ฝรั่งเศส

ต้นปี 2563 ฝ่ายบริการสุขภาพประจำชาติ (NHS) สั่งซื้อหน้ากากอนามัยหลายล้านชิ้นจาก Valmy SAS

ฝรั่งเศสมีการจัดสรรหน้ากากอนามัยจำนวน 15 ล้านชิ้นทั่วประเทศ ส่งให้กับสถาบันสุขภาพ 138 แห่งที่รักษาผู้ป่วย โควิด-19 รวมถึงยังถูกแจกจ่ายไปยังผู้ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ โควิด-19

3 มี.ค. 63 ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกัน โควิด 19 ทั่วโลก การกักตุนเริ่มเป็นปัญหา ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง ประกาศในทวิตเตอร์ว่า รัฐบาลจะขอหน้ากากอนามัยทั้งหมด ทั้งในปัจจุบันและที่จะผลิตได้ในอนาคต เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะมีอุปกรณืป้องกันโรคอย่างเพียงพอ ส่วนประชาชนทั่วไปไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากาก

6 มี.ค. 63 ฝรั่งเศสออกข้อบังคับให้ผู้ผลิตหน้ากาก ยกเลิกคำสั่งซื้อจากสหราชอาณาจักร เนื่องจากการแย่งชิงอุปกรณ์ป้องกัน โควิด 19 นั้นทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยให้นำหน้ากากที่ผลิตได้นั้นมาใช้ภายในประเทศแทน โดยจะมีการแจกจ่ายไปยังร้านขายยาและโรงพยาบาลในฝรั่งเศส ด้าน Valmy SAS ก็จะเพิ่มกำลังการผลิตหน้ากากให้ได้มากขึ้น 10 เท่าจากปกติ

ญี่ปุ่น

26 ม.ค. 63 ญี่ปุ่นส่งหน้ากากอนามัยไปช่วยที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน

1 ก.พ. 63 หน้ากากอนามัยขายหมดทั่วประเทศญี่ปุ่น และสต็อกหน้ากากอนามัยหมดลงภายในหนึ่งวันที่มีของมาเพิ่ม

ก.พ. 63 ญี่ปุ่นเร่งกำลังการผลิตหน้ากากอนามัย 400 ล้านชิ้นต่อเดือน

2 มี.ค. 63 ญี่ปุ่นมีหน้ากากอนามัยอยู่ในคลังจำนวน 7,431,300 ชิ้น

3 มี.ค. 63 รัฐบาลสั่งให้ผู้ผลิตและน้ำเข้าหน้ากากอนามัยทั้งหมด ขายหน้ากากให้กับรัฐบาล เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนในฮอกไกโด ซึ่งกำลังเกิดการระบาด

4 มี.ค. 63 นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ กล่าวว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาที่จะส่งมอบหน้ากากสำรองให้แก่สถาบันการแพทย์ที่ประสบปัญหาการขาดแคลน

6 มี.ค. 63 แจกจ่ายหน้ากากอนามัยรวม 40 ล้านชิ้น แก่ประชาชนที่เมือง นากะฟุราโนะ และคิตามิ บนเกาะฮอกไกโด ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดที่สำคัญ โดยรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจนส่งและแจกจ่าย เป็นเงิน 672 ล้านบาท

เปิดมาตรการป้องกัน “โควิด-19” แต่ละประเทศ

จะเห็นว่า แต่ละประเทศมีแนวทางการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนมากล้วนแล้วแต่ห้นความสำคัญของการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอยู่ในแนวหน้า ดังนั้น หนทางเดียวที่จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีอุปกรณ์ป้องกัน โควิด-19 ที่เพียงพอนั้น ต้องสื่อสารให้ประชาชนลดความตื่นตระหนก ลดการกักตุนหน้ากากและนำไปค้ากำไรเกินควร เพราะเมื่อใดก็ตามที่เหล่าเจ้าหน้าที่ในแนวหน้าล้มลงจาก โควิด-19 หายนะที่แท้จริงก็จะมาเยือนเมื่อนั้น

ที่มา: BBC, Reuters, Taipei Times, Central News Agency, Focus Taiwan, ABC News, Yonhap News, The Korea Herald, The Diplomat, Channel News Asia, Vulcan Post, Euro News, Japan Times, The Asahi Shimbun

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ