13 มี.ค. วันช้างไทย กับ สถานการณ์ช้างไทยในปัจจุบัน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เผย ปัจจุบันช้างเอเชียจัดเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ พบเฉพาะบางพื้นที่ใน 13 ประเทศ เท่านั้น ขณะที่ไทยเริ่มขาดแคลนพืชอาหาร แหล่งน้ำ รวมถึงสภาพถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของช้างป่ามีขนาดลดลงจากเดิม

วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปีถือว่าเป็นวันช้างไทย จึงอยากพูดถึงสถานการณ์ช้างไทยในปัจจุบัน โดย นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า ปัจจุบันช้างเอเชียจัดเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ พบเฉพาะบางพื้นที่ใน 13 ประเทศ เท่านั้น ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา เนปาล บังคลาเทศ ภูฏาณ จีน เมียนมาร์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย

กรมอุทยานฯ ร่วมมือชาวบ้านแก้ปัญหา “ช้างป่าสาริกา”

โดยปัจจุบันช้างป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติประมาณ 3,168-3,440 ตัว อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จำนวน 69 แห่ง มีผืนป่าที่เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่าราว 52,000 ตร.กม พบช้างป่าได้ตั้งแต่น้อยกว่า 10 ตัว ไปจนถึง 200 – 300 ตัว

โดยกลุ่มป่าที่มีประชากรช้างป่ามาก ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว กลุ่มป่าตะวันออก และกลุ่มป่าแก่งกระจาน

บัวแก้วจี้ผู้ครอบครองงาช้างเข้าแจ้งสถานะ ดันภาพไทยแก้ปัญหาลักลอบค้า

ซึ่งประชากรช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งในประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นต้น

แต่ขณะเดียวกัน พื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งที่เป็นถิ่นอาศัยของช้างป่ากลับ “เริ่มขาดแคลนพืชอาหาร แหล่งน้ำ พื้นที่เป็นภูเขา มีความลาดชันสูง ทำให้สภาพถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของช้างป่ามีขนาดลดลงจากเดิม”  เนื่องจากผืนป่าซึ่งเป็นถิ่นที่อาศัยของช้างป่าดังกล่าว ไม่เชื่อมโยงกัน ถูกแบ่งแยก ตัดขาดออกจากกัน เนื่องจากการขยายตัวของชุมชน การขยายพื้นที่เกษตร การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างเส้นทางคมนาคมที่ผ่านป่าสมบูรณ์ การก่อสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัจจัยหลักก่อให้เกิดปัญหาช้างป่าออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎรที่อาศัยใกล้ชิดตามแนวขอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาที่สำคัญและเพิ่มความรุนแรงขึ้นทุกปี

วิถีคนกับช้างในป่าละอู

นอกจากนั้น ยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ประมาณ 40 แห่งทั่วประเทศ เช่น รักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น เป็นต้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวและมีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

และในฐานะที่วันที่ 13 มี.ค.2563 เป็นวันช้างไทย จึงต้องร่วมมือกันในการอนุรักษ์ช้างป่าซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติ โดยทางกรมอุทยานฯ กำหนดให้มีบริหารจัดการช้างป่าทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อการอนุรักษ์ช้างป่า ตลอดจนลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า สิ่งสำคัญคือต้องป้องกันไม่ให้ถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างถูกทำลาย ทั้งการป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าและการตัดไม้ ป้องกันไม่ให้มีการล่าช้าง ปรับปรุงป่าเสื่อมโทรม ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยตามหลักวิชาการ รวมทั้งกลุ่มป่าบางแห่งที่เป็นเส้นทางช้างในอดีตที่ถูกตัดขาดไม่ต่อเนื่อง ก็จะมีการสร้างแนวเชื่อมต่อพื้นที่ให้เป็นป่าผืนใหญ่เชื่อมต่อหากันได้ เป็นต้น

สำหรับ วันช้างไทย เป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติ มีมติให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และมีมติเมื่อ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 เห็นชอบให้ วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็น วันช้างไทย และได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2541

ข้อมูล/ภาพ : เฟซบุ๊ก : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ