“หมอธนรักษ์”  ตอบแล้ว!  หากไทย ‘ปิดเมือง 21 วัน’ ช่วย “โควิด-19”  จบจริงหรือไม่?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




“นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำสถานการณ์ “โควิด-19”  ควบคุมได้หรือไม่ขึ้นกับคนไทยทุกคน รับรู้สถานการณ์ แต่รู้หรือไม่ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

หลังจากรัฐบาลออกมาตรการปิดสนามมวย สนามกีฬา สถานบันเทิง แหล่งรวมผู้คนจำนวนมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้พบการติดเชื้อโควิด -19 จำนวนมากจากสถานที่เหล่านี้ อย่างล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวผู้ติดเชื้อโควิด-19   เพิ่มอีก 35 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 212 ราย ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุข ยังประกาศใครเคยเดินทางไปยังสนามมวยราชดำเนิน ระหว่างวันที่ 6-8 มี.ค.2563 และสถานบันเทิงช่วงวันที่ 9-10 มี.ค.2563 ขอให้แยกตัวเอง สังเกตอาการ 14 วันและหากมีอาการขอให้พบแพทย์ แจ้งเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค 1422 ทันที

อัปเดตข่าวโควิด-19 (COVID-19) ล่าสุด 19 มี.ค. 63

หมอเตือนกลุ่มเชื่อ “ตัวเองไม่ป่วย” ไม่มีไข้ ทั้งที่เริ่มไม่สบาย อาจเสี่ยงโควิด-19!!

ด้วยเหตุนี้ จึงมีบางส่วนมองว่า ควรต้องปิดประเทศ ปิดเมือง เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ไม่ให้ระบาดในวงกว้าง  ล่าสุดวันที่ 18 มี.ค. 2563 รายการเป็นเรื่องเป็นข่าว ได้พูดคุยกับ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มาให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะคนที่ไปสนามมวยและสถานบันเทิง

นพ.ธนรักษ์  กล่าวว่า กลุ่มนี้น่ากังวล โดยตอนนี้คนที่กลับจากสนามมวย หากไม่มีอาการก็ยังไม่น่าห่วง แต่หากเริ่มมีอาการต้องรีบพบแพทย์ แต่ที่เราห่วงคือ หากเริ่มมีอาการไม่สบาย ไข้ต่ำๆ อ่อนเพลียนิดหน่อย มีอาการไม่มาก ก็จะรู้สึกไม่เป็นไร และจะเดินทางไปโน้นไปนี่ อันนี้เสี่ยงมาก เพราะเหมือนจุดเริ่มแรกที่สนามมวย มีใครบางคนเริ่มมีอาการ แต่ไม่มาก และออกมาสนามมวย ไปยังสถานที่แออัดก็มีการแพร่โรคไปยังคนอื่นๆ

“ตอนนี้เราได้ประกาศแล้วว่า ใครก็ตามที่ไปสนามมวย หรือไปเที่ยวผับแถวทองหล่อ ตามวันเวลาที่ระบุ หากมีอาการต้องรีบพบแพทย์ แต่ระหว่างนี้ต้องแยกตัวเอง เบื้องต้นเราทราบในระดับหนึ่งจากการสอบสวนโรค เช่น หากเราไปแล้วรู้จักคนนั่งข้างๆ ก็จะตามตัวได้ แต่หากเราไปคนเดียว เราไม่รู้จักใคร ก็ระบุตัวยาก ดังนั้น เราจึงต้องประกาศออกสื่อให้รู้ตัวว่า ใครไปต้องสังเกตอาการ 14 วัน  แต่ระหว่างนี้ต้องกักตัวเองเพื่อเฝ้าดูอาการตัวเอง และอย่าไปคลุกคลีกับใครในระหว่างนี้” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

อาการโควิด-19 ป่วยแบบไหน เสี่ยงระดับใดต้องรีบไปโรงพยาบาล

เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ใช้มากส่งผลข้างเคียงหรือไม่

รองอธิบดี คร. กล่าวย้ำว่า    หากคนไข้มีอาการ รู้ตัวว่าไปสนามมวย และเขาเลือกไม่ไปหาหมอ ถามว่าจะเจอตัวได้หรือไม่ ซึ่งยากมาก เพราะระบบไม่เหมือนอย่างบนเครื่องบินจะมีชื่อ มีเบอร์โทรศัพท์ แต่ทั้งหมดก็เป็นความรับผิดชอบส่วนตัว ว่า เราไปดูมวยมาและหากมีอาการก็ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่กรมฯ หรือพบแพทย์ทันที  แต่หากสมมติวันนี้ไปดูมวย วันรุ่งขึ้นไปสนามไก่ชน อันนี้ไม่เป็นอะไร เพราะยังไม่มีอาการ แต่สรุปคือ ใครก็ตามที่ไปดูมวยวันที่กำหนดให้สังเกตอาการตัวเอง 14 วัน หากมีอาการรีบพบแพทย์ และขอย้ำว่า ระหว่างมีอาการ หากไปสถานที่ต่างๆ คนอื่นๆก็จะเสี่ยงไปด้วย

-เมื่อถามว่า ช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 30 ราย ทางการแพทย์รับมือได้หรือไม่

นพ.ธนรักษ์ ตอบว่า  ต้องคอยดูว่าคนไข้แต่ละคน หลังจากป่วยไข้ปฏิบัติตัวอย่างไร หากปฏิบัติตัวเหมาะสมก็จะไม่แพร่โรค แต่หากปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม อย่างมีอาการไม่พบแพทย์ หนำซ้ำเดินทางไปทั่วก็จะยากมาก เพราะจะมีความเสี่ยงแพร่เชื้อ สิ่งสำคัญคนไทยทุกคนต้องไม่ให้ความร่วมมือกับเชื้อโรค เพราะโรคแพร่จากคนติดเชื้อไปยังคนไม่ติดเชื้อ ดังนั้น ทั้งสองฝั่ง คนไม่สบายต้องหยุดแพร่โรคที่ตัวเอง ขณะคนที่สบายดีต้องไม่เอาตัวเองไปสถานที่มีผู้คนแออัด ต้องช่วยกันหมด ทั้งสองฝ่ายต้องรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร

-สำหรับมาตรการ Social distancing  มาตรการเพิ่มระยะห่างทางสังคม ถือว่าช่วยได้มากแค่ไหน

นพ.ธนรักษ์ ตอบว่า มาตรการนี้มากกว่าการอยู่ห่างกัน 1-2 เมตร แต่เป็นหลายๆเรื่อง ยกตัวอย่าง การเดินทางด้วยรถไฟฟ้า คนแน่นมาก เราต้องไปทำงานจะทำอย่างไร ดังนั้น มาตรการการเพิ่มระยะห่างทางสังคม ก็ต้องเป็นมาตรการภาพใหญ่ เช่น หากบริษัทรถไฟฟ้าให้ความร่วมมือ เพิ่มเที่ยวรถ เช่นจาก 5 นาทีต่อขบวน เป็น 3 นาทีต่อขบวน เป็นไปได้หรือไม่ และบริษัท ห้างร้านต่างๆ ภาคเอกชน แทนที่จะเข้างาน 8 โมงเช้า อาจเปลี่ยนเป็นสลับกัน บางคนเข้างาน 6 โมงเช้า บางคนเข้าเที่ยง ก็จะได้กระจายกันไป เวลากลับก็ไม่ต้องกระจุกตัว ซึ่งมาตรการพวกนี้ เป็นมาตรการที่ทุกคนในสังคมต้องให้ความร่วมมือกันคนละเล็กละน้อย

-เมื่อมีคำถามว่า การปิดสถานบันเทิง สนามมวย สถานที่บางแห่งนั้นไม่เพียงพอ มีข้อเสนอว่าต้องปิดประเทศ 21 วันหรือไม่

นพ.ธนรักษ์ ตอบว่า ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ เหมือนอย่างบอกว่า ปิดเมือง ก็ไม่ใช่ว่าต้องปิดจนออกจากบ้านไม่ได้ แต่ยังมีบางกลุ่มต้องออกจากบ้าน เช่น แพทย์พยาบาล เจ้าหน้าที่ความมั่นคง เมื่อพูดว่าปิดเมือง ก็อาจจะมีตัวเลข 10-30 % ออกจากบ้านได้  เพราะหยุดไม่ได้ ถ้าหยุดจะมีปัญหา  แต่เวลาปิดเมือง ไม่ได้หมายถึงว่า พบจบ 21 วันแล้วทุกอย่างจบ กลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม เพราะเมื่อเปิดเมืองมา และยังมีความเสี่ยงอื่นๆ อีก ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ดี ก็เหมือนเริ่มใหม่อยู่ดี  ดังนั้น เมื่อปิดเมืองวันนี้ แต่เราก็ต้องอยู่กับสถานการณ์นี้อยู่ เพราะเราต้องอยู่จนกระทั่งมีวัคซีน

คอนเทนต์แนะนำ
อัปเดต สถานการณ์ โควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุด 19 มี.ค.63

-เมื่อไหร่ถึงจะปิดเมือง เซ็ตซีโร่

ส่วนจะปิดเมืองเมื่อไหร่นั้น ก็จะเป็นความเห็นทางวิชาการแล้ว เพราะตามทฤษฎีเรารู้ว่า การเริ่มมาตรการเข้มงวดด้วยเร็ว ก็ย่อมดีกว่าเริ่มช้า ซึ่งเราไม่มีเกณฑ์บอกหรอกว่า ตัวเลขผู้ป่วยต้องเท่าไหร่ถึงจะปิดเมือง เพราะโรคระบาดที่เพิ่มรวดเร็ว และรุนแรงขนาดนี้ ในช่วงชีวิตพวกเราไม่เคยเจอมาก่อน ตอนนี้ทุกคนทุกประเทศก็วิเคราะห์จากทรัพยากรที่เรามี ในเชิงทฤษฎีอาจพูดอีกอย่าง แต่ในทางปฏิบัติก็อาจจะอีกอย่าง ต้องเทียบกัน  ยกตัวอย่าง  ถ้าไม่ปิดเมืองตอนนี้ อีกไม่กี่วัน จำนวนคนไข้จะล้นจำนวนเตียงที่มี  แบบนี้ต้องปิดเมือง อย่างอิตาลี จริงๆต้องปิดเมืองเร็วกว่านี้ แต่นอร์เวย์ปิดเร็ว ตอนเขาปิดแค่หลักร้อยเท่านั้น ส่วนของไทยทุกอย่างก็ต้องวางแผน ไม่ใช่ว่าอยากปิดเมืองแล้วปิดได้เลย เช่น อาชีพไหนออกมาทำงานได้ วิธีการส่งอาหารจะเป็นอย่างไร ใครจะเป็นคนตัดสินใจว่าอาชีพไหนจำเป็นต้องออกจากบ้าน และการสื่อสารข้อมูลไปยังประชาชนจะทำอย่างไร  

-ใกล้ถึงจุดปิดเมืองแล้วหรือยัง

นพ.ธนรักษ์ ตอบว่า คนที่จะตอบคำถามได้ คือ คนไทย ไม่ใช่พนักงานราชการ เพราะถ้าคนไทย  ตอนนี้ไม่ต้องถามว่า เป็นโควิดหรือไม่ แค่มีอาการไข้ต่ำๆ ไอ เจ็บคอ รีบพักอยู่บ้านเลย ยิ่งมีความเสี่ยงไปสนามมวย ไปสถานบันเทิง หรือความเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุขระบุ ให้รีบพบแพทย์ 

“หากหยุดโรคได้ที่ตัวเรา ไม่แพร่โรคให้คนอื่น เราจะไม่มีวันถึงการระบาดระยะที่ 3 เด็ดขาด เช่น หากมีคนไข้ 10,000 คน รู้ว่าตัวเองมีอาการ และแยกตัว และไม่แพร่โรค อีก 14 วัน เราจะไม่แพร่โรค ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะไปถึงระยะ 3 หรือไม่ อยู่ที่ว่า  วันนี้คนไทยทุกคนรู้แล้วหรือยังว่า พวกเราต้องทำอย่างไร ปฏิบัติตัวอย่างไร การรู้แค่สถานการณ์ แต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ไม่มีประโยชน์เลย”   รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวทิ้งท้าย

สง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร กล่าวถึงกิจการบริเวณถนนข้าวสารถูกปิด ว่า เงียบเหงามาก ขณะนี้เหลือแต่ร้านอาหาร เพราะร้านนวด ร้านสปา ส่วนใหญ่ต้องถูกปิด โดยตลาดภาพรวมหายไป 80% แต่โชคดีที่ปัจจุบันยังมียุโรปอยู่ อย่างเอเชียหายไปเกือบหมดแล้ว มีเพียงยุโรป เพราะจองล่วงหน้า  อย่างไรก็ตาม อยากขอความมั่นใจ เพราะการปิดกิจการนั้น ไม่ว่าจะปิดกี่วัน ขอแค่ว่า ให้ชัดเจนและควบคุมได้ ซึ่งหากทำได้ เช่น  1 เดือนหลังจากนั้นเปิดกิจการ คนไทยใช้ชีวิตปกติ แบบนี้พร้อม พวกเรายินดีเดินหน้าลุย นี่คือ สิ่งที่ภาครัฐต้องออกมายืนยันและสร้างความเชื่อมั่นตรงนี้ และต้องมีการเยียวยา เพราะเราเสียหายตั้งแต่ปลายเดือนม.ค. และเดือนเม.ย. นักท่องเที่ยวจะหายไปอีก เพราะยุโรปจะเดินทางน้อย

“เรามีต้นทุนที่ต้องดูแลพนักงาน ต้องจ่ายค่าเช่าอีก เราหวังขอให้ภาครัฐมาช่วยเยียวยาผู้ประกอบการ ทั้งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ภาครัฐเคยพูด แต่ก็ยังไม่มีการปฏิบัติ รัฐบาลต้องชัดเจน พนักงานตกงานอีก ตรงนี้ผลกระทบตามมา ยิ่งสงกรานต์ไม่มีกิจกรรมแน่นอน เพราะไม่มีวันหยุด ทุกคนก็ต้องทำงาน อย่างไรก็ตาม ขอให้ภาครัฐลงมาช่วยและรีบดำเนินการให้ชัดเจน” นายกสมาคมฯ กล่าว

เปิดผัง"สนามมวยลุมพินี"โควิด-19 ระบาดไม่หยุด

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ