ต้มยำกุ้งชามใหม่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




อดีตรองนายกรัฐมนตรี ชี้เศรษฐกิจไทยปีนี้เผาจริง หวั่นซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540

หลายปีที่ผ่านมาคนในแวดวงธุรกิจหืดขึ้นคอกันถ้วนทั่ว ทุกหย่อมหญ้า ทุกวงการ กำลังเอาตัวรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ชะลอตัวสะสมจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กำลังซื้อคนในประเทศที่ลดลง ภาคเอกชนไม่มีความมั่นใจในการลงทุน ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ของไทยในปี 2562 โตเพียง 2.4% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 5 ปี มาจากสาเหตุหลัก คือ การส่งออกที่ติดลบ 3.2 % 

บทเรียนต้มยำกุ้ง เศรษฐีตกสวรรค์ “ศิริวัฒน์แซนด์วิช”

เศรษฐกิจป่วยเรื้อรัง จากวิกฤตปี 40 ถึงปี 63

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด โรคระบาด อย่างโควิด-19 แพร่ระบาดเล่นงานแทบทุกมุมทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจในระบบซัพพลายเชนแทบหยุดชะงัก การท่องเที่ยวทรุดตัว ซึ่ง “ประเทศไทย” ก็ร่วมเผชิญปัจจัยลบที่หนักหน่วง นำมาสู่ข้อสงสัยที่ว่า ปี2563 เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร ?

ทีมข่าว PPTVHD 36 ได้รับเกียรติสัมภาษณ์พิเศษ ดร.โกร่ง วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

ปี 2563 เศรษฐกิจไทย จะซ้ำรอย ปี2540 ไหม ?

ดร.โกร่ง อธิบายความเหมือนที่ต่างกันของปี 2563 และ 2540 ว่า “สาเหตุที่ทำให้ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงมาเรื่อยๆในช่วง5ปีที่ผ่านมา มีปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ ค่าเงินบาท เมื่อเงินบาทแข็งค่ากว่าคู่แข่ง ถ้าลองเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ วันที่ 1 มกราคม 2562 เทียบกับวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เงินบาทมีค่าแข็งที่สุดในโลกในบรรดา 120 กว่าสกุล จึงเป็นที่มาให้ ส่งออกไทยหดตัว แม้ผู้ส่งออกของไทย มีความเชี่ยวชาญพยายามดิ้นรนทุกวิถีทางแต่มันก็ไม่สามารถแข่งขันได้”  ซึ่งเมื่อปี 2540 สาเหตุที่ทำระบบการเงินล่มจนกระทบภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะการตัดสินใจของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในสมัยนั้น

ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้ค่าเงินอ่อนลง จะส่งผลดีอย่างไร ?

“สิ่งที่จะกลับมาชัดเจนที่สุด คือ การส่งออกและการท่องเที่ยวก็จะดีขึ้น เพราะเงินเท่าเดิม แต่นักท่องเที่ยวสามารถใช้จ่ายได้มากขึ้น  เช่น ถ้าเขานำเงินมา 10 ดอลลาร์ฯ  และอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ฯเท่ากับ 35 บาท พอมาแลกเขาก็จะได้ไป 350 บาท เขาก็ใช้จ่าย 350 บาท แต่ถ้าเงินบาทมันอัตรา 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ฯ เงิน 10 ดอลลาร์ เขาก็จะแลกได้ 300 บาท เท่านั้นเอง ทุกอย่างก็จะดีขึ้นหมด ทั้งการจับจ่ายจากนักท่องเที่ยว และผู้ส่งออกสินค้า ก็จะแข่งขันราคาสินค้าได้ “

เริ่มมีการตั้งคำถามว่า เศรษฐกิจไทยกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ?

“นอกจากไทยจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่ยังไม่มีท่าทีจบลง มีอีกตัวที่ใช้ประเมินทิศทางเศรษฐกิจ คือ ผลตอบแทนต่อตราสารหนี้ระยะยาว อย่าง พันธบัตรรัฐบาลไทย ขณะนี้ราคาขึ้น ปกติพันธบัตรรัฐบาลอัตราดอกเบี้ยมันคงที่ แต่ถ้าราคามันขึ้นก็แปลว่าผลตอบแทนมันต่ำลง ทำไมราคาพันธบัตรรัฐบาลมันขึ้น ก็แสดงว่า คนเอาเงินออมมากกว่าการที่จะลงทุนในระยะยาว ผลตอบแทนต่ออัตราสารหนี้ระยะยาวกับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นขนาดที่เท่าๆกัน ดัชนีตัวนี้เมืองไทยไม่ค่อยใช้แต่ต่างประเทศใช้  คำอธิบายก็คือ คนมองไปข้างหน้าแล้ว คิดว่าไม่ดี เศรษฐกิจก็ไม่ดี ความเสี่ยงต่อรายได้ คนอาจจะตกงาน อาจถูกลดเงินเดือน หรือถูกไล่ออก

เพราะฉะนั้นคนจึงออมมากกว่าใช้เงิน เมื่อออมก็นำไปซื้อพันธบัตรระยะยาวมากขึ้น ราคาพันธบัตรมันก็ขึ้น ผลตอบแทนมันก็ตก ถ้าทุกคน หรือทั้งตลาดมองสถานการณ์อย่างนี้ เศรษฐกิจระยะสั้นก็ยิ่งไม่ขึ้นใหญ่ เพราะว่าครัวเรือนต่างๆ ก็จะไม่ใช้เงิน บวกกับหนี้ของครัวเรือนก็สูงอยู่แล้ว ในช่วงเศรษฐกิจบูม ทั้งโดยนโยบายและภาวะเศรษฐกิจ ครัวเรือนก็ผ่อนรถ ผ่อนสินค้า ผ่อนบ้าน ผ่อนที่ดิน แล้วพอรายได้ของตัวเองลง ปกติหนี้ของครัวเรือนจะสูงหรือจะต่ำก็ต้องหารด้วยรายได้ ยอดหนี้ของครัวเรือนหารด้วยรายได้ประชาชาติ พอตัวหารมันเล็กลงหรือมันขึ้นอัตราที่ช้า แสดงว่าเศรษฐกิจหรือว่ารายได้ของครัวเรือนชะลอตัวลง หนี้ของครัวเรือนต่อรายได้จึงสูงขึ้น อันนี้ก็เป็นตัวนึงที่จะทำให้ความต้องการสินค้าภายในประเทศอ่อนแอลง

เพราะฉะนั้น เมื่อการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวอ่อนตัวลง ความต้องการภายในประเทศ ความต้องการใช้สินค้าและบริการภายในประเทศลดลง ด้วยเหตุนี้ เราก็คาดการณ์อยู่แล้วว่า ปีนี้จะเป็นปีที่เผาจริง ซึ่งก็คล้ายว่ามันคงจะค่อยๆ ชะลอตัวลงไปเรื่อยๆ แต่พอมีโรคระบาด     มันเผาตั้งแต่ต้นปีเลย อย่างที่ผมพูดไปแล้ว ไม่ใช่เผาตอนกลางปีหรือปลายปี เผาตั้งแต่ต้นปีกลายเป็นกลางปีอาจจะเก็บกระดูก ปลายปีไปลอยอังคาร”

นอกจากนี้ หลายคนยังกังวลว่า ว่า วิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้ จะมีผลกระทบรุนแรงเทียบเทียบกับ วิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อ 2540 หรือไม่  ซึ่งคุณผู้ชมสามารถติดตาม ผ่านสารคดีข่าว สารตั้งต้น ตอน ต้มยำกุ้งชามใหม่? วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2563 เวลา 23.00น. ทางช่อง PPTV HD ช่อง 36

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ