สื่อต่างชาติ ถอดบทเรียนการรับมือโควิด-19 ของเอเชีย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ถอดบทเรียน เหตุใดชาติตะวันตกเริ่มเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่ร้ายแรงกว่าเอเชีย

จำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในกลุ่มชาติตะวันตกกำลังพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะอิตาลีที่มีจำนวนผู้ป่วยสะสม 47,021 ราย และเสียชีวิตแล้ว 4,032 ราย ขณะที่หลายประเทศประกาศมาตรการเข้มงวด ตั้งแต่ปิดสถานศึกษา ไปจนถึงการปิดประเทศ

อัปเดตข่าว สถานการณ์ โควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุด 21 มี.ค.63

อัปเดตข่าวโควิด-19 (COVID-19) ล่าสุด 21 มี.ค. 63

ในทางกลับกัน การระบาดเกิดขึ้นในหลายประเทศในเอเชียเช่นกัน แต่บางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน กลับมีจำนวนผู้ป่วยค่อนข้างต่ำ แม้จะอยู่ใกล้กับจีนแผ่นดินใหญ่มากกว่าประเทศตะวันตก

สื่อต่างชาติอย่าง BBC จึงตั้งคำถามว่า “พวกเขา (ชาวเอเชีย) มีอะไรที่แตกต่าง และมีบทเรียนสำหรับประเทศอื่น ๆ บ้างไหม?”

บทเรียนที่ 1 “ดำเนินการอย่างจริงจัง – ดำเนินการอย่างรวดเร็ว”

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเห็นด้วยเช่นกันกับมาตรการการควบคุมการระบาด โดยแยกผู้ที่ติดเชื้อ และสนับสนุนการเว้นระยะห่างทางสังคม มาตรการดังกล่าวกำลังได้รับการยอมรับในตะวันตก แต่ความแตกต่างที่สำคัญ คือ หลายประเทศไม่ได้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว

“สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเสียโอกาสไปแล้ว” ทิกกิ ปันเกสตู (Tikki Pangestu) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าว "พวกเขามีเวลา 2 เดือนจากสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีน แต่ก็มีความคิดว่า 'จีนอยู่ไกลมากและคงไม่มีอะไรเกิดขึ้น'”

เมื่อจีนรายงานกรณีแรกของ "โรคปอดบวมปริศนาที่คล้ายกับซาร์ส” ต่อ WHO ในวันที่ 31 ธันวาคม ณ จุดนั้นยังไม่มีการแพร่เชื้อจากคนสู่คน และไม่ค่อยมีใครรู้เรื่องไวรัส แต่ภายใน 3 วัน สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง ได้ดำเนินการสกรีนนักเดินทางที่จุดผ่านแดน ไต้หวันถึงขนาดตรวจผู้โดยสารบนเที่ยวบินจากอู่ฮั่น ก่อนที่พวกเขาจะลงจากเครื่องบิน

เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับไวรัส ก็เห็นได้ชัดว่าคนที่ไม่แสดงอาการยังสามารถติดต่อไปสู่คนอื่นได้ ดังนั้นการทดสอบจึงมีความสำคัญ

บทเรียนที่ 2 “ทำให้การทดสอบครอบคลุม และราคาไม่แพง”

กรณีเกาหลีใต้ แม้จะเกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในช่วงแรก อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ได้พัฒนาเครื่องทดสอบไวรัสออกมาอย่างรวดเร็ว และตอนนี้ได้ทำการทดสอบไปแล้วมากกว่า 290,000 คน มีการทดสอบโควิด-19 ให้ประชาชนประมาณ 10,000 คนต่อวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

“วิธีที่พวกเขาก้าวขึ้นมาและกลั่นกรองประชากรนั้นน่าทึ่งจริง ๆ” วี เอง ยอง (Ooi Eng Eong) ศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าว

เกาหลีใต้มีระบบการอนุมัติการทดสอบโรคที่รวดเร็วมากขึ้น หลังจากการระบาดของโรคเมอร์สในปี 2558 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในเกาหลีใต้ 35 ราย

ในทางตรงกันข้าม การทดสอบในสหรัฐอเมริกาล่าช้าเป็นอย่างมาก ชุดทดสอบแบบแรกมีแต่ข้อผิดพลาด และห้องปฏิบัติการเอกชนพบความยากลำบากที่จะได้รับให้อนุมัติการทดสอบ ประชาชนหลายคนดิ้นรนที่จะได้รับการทดสอบ ซึ่งก็มีราคาสูงอีก แต่อย่างน้อยในที่สุดการทดสอบโควิด-19 สำหรับประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายก็ผ่านกฎหมาย

ในขณะเดียวกัน สหราชอาณาจักรกล่าวว่า เฉพาะผู้ที่อยู่ในโรงพยาบาลเท่านั้นที่จะได้รับการทดสอบเป็นประจำ ทำให้ยากต่อการระบุตัวผู้ติดเชื้อที่อาจไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการไม่รุนแรง

ปันเกสตู ตระหนักดีว่า ในบางประเทศมีชุดทดสอบโควิด-19 ไม่เพียงพอ ซึ่งเขาระบุว่า การทดสอบที่ครอบคลุม เป็น "สิ่งสำคัญที่สำคัญที่สุด" และเสริมว่า "การทดสอบผู้ที่แสดงอาการ แต่ไม่จำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลและยังคงแพร่เชื้อไวรัส อาจจะสำคัญยิ่งกว่า"

บทเรียนที่ 3 “การติดตามต้อนตอ และการแยกกัก”

การทดสอบเฉพาะผู้ที่มีอาการอาจไม่เพียงพอ การทดสอบผู้ที่มีการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อต่างหากจึงเป็นอีกกุญแจสำคัญ

ในสิงคโปร์ มีการติดตามตัวผู้ที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อมากกว่า 6,000 คน โดยค้นหาผ่านกล้องวงจรปิด นำพวกเขามาทดสอบ และสั่งให้พวกเขาแยกกักตัวเองจนกว่าผลทดสอบจะออกมาชัดเจน

พวกเขายังมีวิธีให้มั่นใจว่าผู้ที่ถูกสั่งให้แยกกักตัวเองนั้นอยู่บ้านจริง ๆ ในฮ่องกง ผู้ที่มาจากต่างประเทศจะต้องสวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อติดตามการเคลื่อนไหว ส่วนในสิงคโปร์ ผู้ที่แยกกักตัวเองจะได้รับการติดต่อหลายครั้งต่อวัน และจะต้องส่งหลักฐานภาพถ่ายของพวกเขามาเพื่อยืนยัน

สิงคโปร์มีบทลงโทษที่หนักหน่วงสาหัสมาก สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่ง "จงอยู่บ้าน" ทั้งการถูกจำคุก ไปจนถึงการตัดสิทธิในการเป็นผู้อยู่อาศัยในสิงคโปร์

หลายประเทศในตะวันตกจะพบว่าเป็นการยากที่จะนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ เนื่องจากมีประชากรมากกว่าและมีเสรีภาพมากกว่า

“เราสามารถทำสิ่งนี้ได้เพราะเราตัวเล็ก” วีพูด “การทำซ้ำสิ่งที่เราทำแบบเป๊ะ ๆ มันไม่สมเหตุสมผล มันต้องถูกปรับให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศมากกว่า”

บทเรียนที่ 4 “รีบสร้างระยะห่างทางสังคม”

การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการยับยั้งการระบาดของเชื้อไวรัส

แต่ยิ่งนำมาตรการมาใช้ล่าช้ามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจำเป็นต้องทำงานหนักมากขึ้นเท่านั้น ในอู่ฮั่น ประเทศจีน ที่ซึ่งไวรัสน่าจะเป้นต้นตอของโควิด-19 มีประชากรราว 5 ล้านออกมาจากเมืองก่อนที่จะปิดเมือง ทำให้รัฐบาลจีนต้องออกคำสั่งกักกันที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

ส่วนอิตาลีและสเปนได้ออกมาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อของพวกเขาเพิ่มขึ้นถึงหลักพัน ขณะที่นิวยอร์กและแคลิฟอร์เนีย อเมริกา สั่งให้ผู้คนอยู่แต่ในบ้าน ยกเว้นการเดินทางที่จำเป็น เช่น การซื้อของชำ

ในทางตรงกันข้าม โรงเรียนยังคงเปิดทำการปกติในสิงคโปร์ แม้ว่าการรวมกลุ่มกันในที่สาธารณะจะถูกยกเลิก ในฮ่องกง โรงเรียนปิดตัวลง และแรงงานต่างสนับสนุนให้ทำงานจากที่บ้าน แต่ร้านอาหารและบาร์ยังคงเปิดอยู่

วีเชื่อว่า ความแตกต่างนั้นขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างรวดเร็วในการสร้างระยะห่างทางสังคมได้ขนาดไหน

“เวลาที่หลายประเทศเพิ่มมาตรการควบคุม ก็เป็นเวลาเดียวกับที่โลกมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงมาก”

ระยะห่างทางสังคมเกิดจากการตัดสินใจของรัฐบาล ในการห้ามรวมกลุ่มหรือการปิดโรงเรียน แต่ก็ขึ้นอยู่กับคนว่าเต็มใจปฏิบัติตามหรือไม่ นั่นเป็นเหตุผลที่การสื่อสารกับสังคม และทัศนคติของแต่ละบุคคล มีความสำคัญ

บทเรียนที่ 5 “ให้ข้อมูลกับสังคมเสมอ”

ปันเกสตูให้ความเห้นว่า "หากคุณไม่ได้รับความร่วมมือจากสาธารณชน นโยบายของคุณอาจไม่ได้รับการปฏิบัติตาม สิ่งสำคัญคือการแสดงให้เห็นว่านโยบายนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์"

ประเทศจีนถูกวิจารณ์จากความล่าช้าที่จะยอมรับการระบาดของโรค จีนอนุญาตให้มีการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ในอู่ฮั่นแม้จะมีความกังวลเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่ยังลงโทษแพทย์ที่พยายามเตือนผู้อื่น ซึ่งจุดชนวนความโกรธหลังจากที่แพทย์รายนั้นเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19

หลังจากนั้นจีนได้รับคำชมว่ามีประสิทธิภาพในการชะลอการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจากประกาศปิดเมืองและเพิ่มขนาดโรงพยาบาล แต่มีนักวิจารณ์ออกมาบอกว่า ที่ต้องใช้มาตรการที่รุนแรงเช่นนี้ เป้นเพราะการตอบสนองในตอนต้นช้ามากนั่นเอง

ในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มักมีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เกี่ยวกับประเด็นความรุนแรงของการระบาด และจำนวนชุดทดสอบที่มีอยู่ นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนคนที่ผ่านการทดสอบ เนื่องจากห้องปฏิบัติการส่วนตัวหลายแห่งไม่ได้ให้ข้อมูลกับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC)

วีกล่าวว่า “การรับมือกับการระบาดนั้นเกี่ยวข้องกับความโปร่งใส ซึ่งจะหยุดยั้งผู้คนที่เริ่มตื่นตระหนกและพากันกักตุนสิ่งของ”

รัฐบาลบางแห่งใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างละเอียด ฮ่องกงมีการให้บริการข้อมูลออนไลน์ ซึ่งรวมถึงแผนที่ที่แสดงอาคารแต่ละหลังที่พบผู้ติดเชื้อ เกาหลีใต้แจ้งเตือนทางมือถือให้ผู้คนทราบว่าพวกเขาอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับผู้ป่วยหรือไม่

ในสิงคโปร์ รัฐบาลได้รับการยกย่องเรื่องการสื่อสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับโควิด-19  รวมถึงการกล่าวสุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลให้ผู้คนหยุดกักตุนสินค้าอย่างตื่นตระหนก มาตรการของสิงคโปร์ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างเต็มที่

บทเรียนที่ 6 “ทัศนคติของแต่ละบุคคล”

การที่ผู้คนในเอเชียปฏิบัติตามมาตรการอย่างแข็งขันนั้น มันง่ายเกินไปที่จะพูดว่า ชาวเอเชียมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล อย่างในฮ่องกงเอง ประชาชนก็มีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำ และมีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอยู่นานหลายเดือน แต่หลายคนก็พร้อมใจกันสร้างระยะห่างทางสังคมความสมัครใจด้วย บางคนถึงกับหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มในวันตรุษจีนซึ่งเป็นวันสำคัญ

ปันเกสตูเชื่อว่า “ในขณะที่ชาวฮ่องกงไม่เชื่อใจรัฐบาล พวกเขาภาคภูมิใจในฮ่องกงอย่างมาก และเห็นว่าการระบาดครั้งนี้เป็นภัยคุกคามต่อแผ่นดินของพวกเขา"

ในขณะเดียวกัน คาริน ฮัสเตอร์ (Karin Huster) ผู้ประสานงานภาคสนามฉุกเฉินที่ใข้เวลาหนึ่งเดือนในฮ่องกงฝึกอบรมเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เธอสังเกตเห็นว่าคนฮ่องกงส่วนใหญ่มี "ความรับผิดชอบส่วนบุคคล" ที่เข้มแข็ง เพราะพวกเขาระลึกถึงการระบาดของโรคซาร์สในปี 2003 ซึ่งกระทบต่อพวกเขาอย่างหนัก

นอกจากนี้ การใช้หน้ากากอนามัยที่แพร่หลายในเอเชีย ทำให้ฮัสเตอร์มองว่า นี่เป็นสัญลักษณ์ของ "การเคารพต่อผู้อื่น"

เธอสังเกตเห็นว่าบางครั้งผู้คนจะหลีกเลี่ยงการขึ้นลิฟต์ด้วยเพราะเธอไม่ได้สวมหน้ากาก ในประเทศตะวันตก ผู้คนได้รับการบอกกล่าวเป็นพิเศษว่า อย่าสวมหน้ากาก และชาวเอเชียหลายคนมักถูกคุกคามหากสวมใส่

ผู้เชี่ยวชาญในเอเชียยอมรับว่าหน้ากากอนามัยนั้นมีประสิทธิภาพน้อยกว่ามาตรการอื่น ๆ เช่น การล้างมือ กระนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่อาจช่วยลดการแพร่ระบาด

เบนจามิน คาวลิง (Benjamin Cowling) อาจารย์ด้านระบาดวิทยาของมหาวิทยาลัยฮ่องกงระบุว่า "หน้ากากไม่ใช่กระสุนวิเศษที่จัดการโควิด-19 ได้ ... แต่ถ้าทุกคนสวมหน้ากากปิดหน้า ก็อาจช่วยได้เช่นเดียวกับการล้างมือและการเว้นระยะห่างทางสังคม”

เมื่อพูดถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม ฮัสเตอร์กล่าวว่า "ฉันคิดว่าในอเมริกาผู้คนมีความเป็นปัจเจกชนสูง – มันยากที่เราจะยอมเสีย "เสรีภาพ" ของเรา สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือ ทำให้ผู้คนเข้าใจถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม”

 

การจะฟันฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้นั้น เชื่อว่าจะต้องเกิดจากการประสานกันระหว่างนโยบายของภาครัฐ และการปรับพฤติกรรมของประชาชนคนในชาติ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้ความสำคัญกับวิกฤตนี้ เป็นไปได้ว่า สถานการณ์ที่กำลังจะดีขึ้น ก็อาจพลิกผันกลับไปเลวร้ายลงในที่สุด

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ