น้ำตาหน้าแล้ง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โควิด อาจทำให้ คนป่วยตาย ภัยแล้ง ก็อาจทำให้คน "อดตาย" ได้เหมือนกัน

พูดถึงสถานการณ์​บ้านเมืองช่วงนี้ หากไม่มีโรคโควิด19 ระบาด ก็เชื่อว่าประเด็นร้อนที่ต้องทำให้รัฐบาลกุมขมับก็คงจะเป็นเรื่อง "วิกฤติภัยแล้ง" ... เพราะแล้งปีนี้ดูเหมือนจะหนักหนาสาหัสกว่าทุกครั้ง

ภัยแล้งขยายวงกว้าง หลายพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำ

ชาวนาโคราช ได้เงินเยียวยาวิกฤตแล้ง แต่หนี้สินพอกพูน

#แล้งปีนี้มันหนักหนาขนาดไหน?

ว่าที่ ร.ต.ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เผยว่า ถ้าไปดูปริมาณฝนสะสมย้อนหลังจะพบว่าฝนปีที่แล้วตกน้อยที่สุดในรอบ 40 ปี! ซึ่งต่ำกว่าค่าปกติถึง 243 มิลลิเมตร  ถามว่ามากแค่ไหน? ก็ลองจินตนาการดูว่า ให้น้ำท่วมประเทศไทยทั้งหมดสูงขึ้นมา 20 กว่าเซนติเมตร... นั่นแหละคือมวลน้ำที่หายไป

แค่ฝนตกน้อยยังไม่พอ ข้อมูลจากกรมชลประทานยังพบว่า ฝนที่ตกมา เป็นฝนที่ตกใต้เขื่อน หมายความว่า มวลน้ำส่วนมากต้องปล่อยทิ้งลงทะเล ไม่มีไหลเข้าเขื่อนเพื่อเก็บไว้ใช้ยามแล้ง ยกตัวอย่างน้ำท่วม จ.อุบล​ราชธานี​ที่พายุโพดุลดันไปตกอยูาแค่ชายขอบประเทศไทย มวลน้ำส่วนใหญ่จึงต้องปล่อยไหลทิ้งลงแม่น้ำโขงไป

#แล้วรัฐบริหารจัดการน้ำยังไง?

แน่นอนว่าปีนี้ ถ้าไม่นับเหตุการณ์ประปา กทม. เค็ม ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ได้เป็นอย่างดีว่าปีนี้น้ำเหนือมีน้อยจนแทบไม่พอจะส่งลงมาผลักดันน้ำเค็มด้วยซ้ำ กรมชลประทานยังยืนยันน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค ยังมีพอใช้ไปจนจบฤดูแล้งนี้แน่

แต่... ต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขว่า "เกษตรกรต้องไม่ฝืนทำนารอบ2"

#แล้งทีไรทำไมต้องบีบคั้นแต่ชาวนา?

ข้อมูลจาก รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต ระบุว่า หากมาดูภาพรวมความต้องการใช้น้ำทั้งประเทศ ภาคการเกษตรเป็นสัดส่วนที่ต้องใช้น้ำมากที่สุดถึง 70%  ซึ่งแน่นอนว่าปีนี้น้ำมีไม่พอสำหรับเพาะปลูก ในขณะที่การใช้น้ำเช่นอุปโภคและบริโภค รวมถึงรักษาระบบนิเวศน์​ก็เป็นสัดส่วนที่ดูเหมือนจะลดได้ยาก ดังนั้นมาตรการหลักจึงต้องมุ่งเน้นจัดการกับภาคเกษตร ซึ่งดูเหมือนมาตรการปีนี้จะไม่ได้ผล เพราะตัวเลขจากกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่าชาวนาปลูกข้าวนาปรังรอบ2 มากถึง 6.4 ล้านไร่ ซึ่งเกินกว่าแผนที่รัฐวางไว้ถึง 2 ล้านไร่

#แล้งมาน้ำตานอง

ถามว่าทำไมชาวนายังฝืนเพาะปลูกทั้งที่มีคำเตือนจากรัฐแล้วว่าน้ำไม่พอ?

ชาวนาหลายคน เผยกับทีมข่าวว่า แม้ทางการจะไม่ส่งน้ำมาให้ แต่พวกเขาใช้น้ำจากบ่อบาดาล ซึ่งขุดเจาะไว้ตั้งแต่ทำนารอบที่แล้ว เนื่องจากแล้งปีนี้น้ำหมดตั้งแต่ข้ารอบแรกยังไม่ได้ออกรวง ดังนั้นพวกเขาจึงต้องลงทุนขุดบ่อบาดาลเพื่อประทังชีวิตต้นข้าวและเอาทุนคืน

แต่ปรากฎว่าพอขุดบ่อบาดาลเพิ่ม ต้นทุนก็ติดลบไปอีก พวกเขาจึง "ยอมเสี่ยง" ทำนาปรังอีกรอบ เพื่อที่อย่างน้อยจะได้ค่าบ่อบาดาลคืน ยังไม่นับหนี้สินอื่นๆที่จ่อคออยู่ทุกวัน ซึ่งการทำนารอบนี้ ไม่ได้เสี่ยงแค่น้ำไม่พอเท่านั้น ยังต้องเสี่ยงกับสภาพอากาศที่ทำให้ผลผลิตตกต่ำ และอาจจะทำให้ทุนหายกำไรหดไปอีก แต่พวกเขาบอกว่า... ไม่มีทางเลือกอื่น

สำหรับแล้งปีนี้.. ไม่ได้มีแค่ชาวนาเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ เพราะตอนนี้หลายพื้นที่เริ่มขาดแคลนแม้แต่น้ำกินน้ำใช้ แถมยังมีข้อมูลอีกว่าปีหน้าไทยอาจจะยังต้องอยู่ในภาวะ "แล้งต่อเนื่อง" ด้วย ติดตามรายละเอียดเต็มๆได้ในรายการสารตั้งต้น ตอน "น้ำตา.. หน้าแล้ง"ศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2563 เวลา 23.00 น.ทาง PPTV HD ช่อง 36 

ภัยแล้งเริ่มวิกฤต! แก้ปัญหาอย่างไร

โคราช ประสบปัญหาภัยแล้ง นาข้าวขาดแคลนน้ำอย่างหนัก
 

อัปเดตข่าว สถานการณ์ โควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุด 26 มี.ค.63

อัปเดตข่าวโควิด-19 (COVID-19) ล่าสุด 26 มี.ค. 63

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ