ขยี้เบื้องลึก! "ฟีฟ่า" มาเฟียวงการลูกหนังกับภาพลักษณ์อื้อฉาว


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สะสม พบประเสิรฐ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย มองกรณี ฟีฟ่าเกิดเรื่องอื้อฉาวอาจส่งผลต่อการเลือกประธานฟีฟ่า

เหตุการณ์เจ้าหน้าที่เอฟบีไอของสหรัฐฯและเจ้าหน้าที่ของสวิสเซอร์แลนด์ เข้าควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า 6 คน จากที่มีรายชื่อในบัญชี 14 คน ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เมื่อวานนี้ ถือเป็นข่าวที่สั่นสะเทือนองค์กรมหาอำนาจทางลูกหนังโลกอย่าง ฟีฟ่า อย่างมาก เพราะการเข้าจับกุมเกิดขึ้นก่อนกำหนดเลือกตั้งประธานฟีฟ่าคนใหม่เพียง 2 วัน และเกิดขึ้นในที่โรงแรมที่เป็นที่พักของผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งต่างเป็นบุคคลสำคัญระดับโลกของวงการฟุตบอล ทำให้ผลจากการจับกุมอาจกระทบไปถึงการเลือกตั้ง หรือ ตำแหน่งประธานฟีฟ่า ที่ก่อนหน้านี้คาดกันว่า เซปป์ แบล็ตเตอร์ ประธานฟีฟ่าคนปัจจุบันน่าจะได้ครองตำแหน่งต่อไปเป็นสมัยที่ 5


แม้ว่า...นายวอลเตอร์ เด เกรกอริโอ ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารของฟีฟ่า จะยืนยันว่า การเลือกตั้งประธานฟีฟ่าจะยังคงมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ตามกำหนดการเดิม ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ เพราะเจ้าหน้าที่ที่ถูกควบคุมตัวไป ถูกกล่าวหาในข้อหาที่เกี่ยวพันกับการทุจริต รับสินบนการลงคะแนนเสียงเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลก คือ รัสเซียในปี 2018 และการ์ตา ในปี 2022


แต่องค์กรสมาชิกที่มีอิทธิพลรองลงมาอย่าง สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ "ยูฟ่า" เรียกร้องให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน โดย ยูฟ่า.. ที่มี มิเชล พลาตินี่ อดีตนักเตะทีมชาติฝรั่งเศสเจ้าของฉายา "นโปเลียนลูหนัง" เป็นประธาน จะมีการประชุมร่วมกันวันนี้เพื่อตัดสินใจว่าจะคว่ำบาตรการประชุมใหญ่ฟีฟ่าในวันพรุ่งนี้หรือไม่ โดยก่อนหน้านี้ "พลาตินี่" มีท่าทีชัดเจนว่า จะเรียกร้องให้ชาติในยุโรป ไม่ลงคะแนนให้แบล็ตเตอร์ แต่จะลงคะแนนให้เจ้าชาย "อาลี บิน อัล ฮุสเซน" รองประธานฟีฟ่าจากจอร์แดนแทน โดยล่าสุด ในแถลงการณ์ของ "ยูฟ่า" ระบุว่า


"เหตุการณ์นี้เป็นหายนะของฟีฟ่า และสร้างรอยด่างพร้อยให้ภาพลักษณ์ของฟุตบอลโดยรวม"


"ยูฟาช็อคและเสียใจอย่างที่สุดกับเหตุการณ์นี้"


ความเคลื่อนไหวที่สำคัญก่อนนี้ มิเชล ฟาน ปราก ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลเนเธอร์แลนด์ ซึ่งลงชิงตำแหน่งประธานฟีฟ่าด้วย ถอนตัวออกไป เช่นเดียวกับ หลุยส์ ฟิโก้ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติโปรตุเกส... เพื่อเทคะแนนจากฝั่งยุโรปไปให้เจ้าชายชาวจอร์แดน แทนที่จะปล่อยให้แย่งคะแนนเสียงกันเอง


ขณะที่ผู้สนับสนุนหลักของฟีฟ่าต่างแสดงความกังวลอย่างมากถึงกรณีอื้อฉาวครั้งนี้ โดยล่าสุด ได้มีผู้สนับสนุนยกเลิกสัญญาการสนับสนุน "ฟีฟ่า" อย่างเป็นทางการแล้ว 5 ราย


แถลงการณ์: เซปป์ แบลตเตอร์ ประธานฟีฟ่า


เซปป์ แบลตเตอร์ ประธานฟีฟ่า ออกแถลงการณ์ทันทีหลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงถูกควบคุมตัว มีเนื้อหาว่า


"เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับวงการฟุตบอล.. แฟนๆ.. รวมถึงฟีฟ่าเอง… เข้าใจถึงความผิดหวังที่หลายฝ่ายพึงมี และรู้ว่าเหตุการณ์นี้..ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของฟีฟ่า


ประธานฟีฟ่า ยืนยันด้วยว่า พร้อมยอมรับการสืบสวนของทางการสหรัฐฯ และสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับมาตรการจัดการการกระทำผิดต่างๆ ในวงการฟุตบอล โดยยืนยันว่า การเข้าตรวจสอบของอัยการสวิสเซอร์แลนด์เกิดขึ้นหลังจากทางฟีฟ่าได้ส่งเอกสารให้ทางการสวิสเซอร์แลนด์เมื่อปลายปีที่แล้ว


แบลตเตอร์ ย้ำด้วยว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกให้ออกจากวงการ และคณะกรรมการจริยธรรมอิสระ ก็กำลังตรวจสอบการให้สิทธิในการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2018 และ 2022 โดยเบื้องต้น ฟีฟ่าได้แบนผู้ที่มีชื่อตามหมายจับของทางการไม่ให้ยุ่งเกี่ยวในกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นแนวทางที่ฟีฟ่าได้ดำเนินการมาตลอดในช่วงปีที่ผ่านมาต่อสมาชิกที่ละเมิดกฎจริยธรรม แถลงการณ์นี้ สอดคล้องกับแถงการณ์อย่างเป็นทางการของฟีฟ่า ที่ยืนยันพร้อมให้ความร่วมมือในการกวาดล้างปัญหาการทุจริตในวงการฟุตบอล"


เซปป์ แบลตเตอร์ ดำรงตำแหน่งประธานฟีฟ่า มาแล้ว 4 สมัย ตั้งแต่ปี 1998 ต่อจาก โจฮัว ฮาเวลานซ์ ประธานคนก่อนชาวบราซิล โดยมีรายงานที่น่าสนใจออกมาว่า แบลตเตอร์ เคยมีสัญญาใจกับมิเชล พลาตินี่ ว่าจะไม่ลงชิงตำแหน่งประธานฟีฟ่าในรอบนี้ เพื่อแลกกับคะแนนเสียงจากฝั่งยุโรปในการโหวตรอบที่แล้ว ซึ่งต้องเผชิญกับคู่แข่งคนสำคัญที่มาแรง คือ โมฮัมเหม็ด บิน ฮัมมัม ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลเอเซีย หรือ AFC ซึ่งภายหลังแพ้การเลือกตั้ง บิน ฮัมมัม ก็ถูกกล่าวหาพัวพันการทุจริต.. จนถูกลงโทษแบนจากเอเอฟซี ...


แต่เมื่อ.. แบลตเตอร์ กลับมาลงชิงตำแหน่ง ทำให้พลาตินี่ ออกมาโจมตีแบลตเตอร์อย่างรุนแรง และประกาศสนับสนุนคู่แข่งของแบลตเตอร์แทน


ส่วนคะแนนเสียงในการโหวตครั้งนี้ เดิมคาดกันว่า แบลตเตอร์ จะไม่ได้คะแนนจากยุโรปมากนักอยู่แล้ว โดยยุโรป หรือ ยูฟ่า มีสมาชิก 54 ประเทศ จาก 209 ประเทศที่สังกัดฟีฟ่า หากบอยคอตจริงก็อาจทำให้การเลือกตั้งนี้ไม่ชอบธรรม แต่ในยุโรป เช่น "รัสเซีย" ที่ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 2018 และยุโรปตะวันออก ก็ยังคงสนับสนุนแบลตเตอร์ เช่นเดียวกับคะแนนเสียงเดิมของแบลตเตอร์ ในทวีปอเมริกาและเอเซีย ซึ่งจะเห็นได้ว่า แถลงการณ์ของสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเซีย หรือ AFC มีเนื้อหาแย้งกับของยูฟ่าอย่างชัดเจน โดย AFC เรียกร้องให้การเลือกตั้งดำเนินต่อไปตามเดิม


แต่เมื่อเกิดเหตุที่สั่นคลอนต่อภาพลักษณ์ของฟีฟ่าอย่างรุนแรงเช่นนี้ เป็นน่าสนใจว่า การเลือกประธานฟีฟ่า พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร

นายสะสม พบประเสิรฐ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย ให้ความเห็นกรณีดังกล่าว ในรายการ เป็นเรื่องเป็นข่าว ทาง PPTV HD ว่า  ฟีฟ่ามีข่าวอื้อฉาวมาตลอดโดยเฉพาะหลังประเทศกาต้าร์ ได้เป็นเจ้าภาพ จุดเริ่มต้นของความด่างพร้อย จนกระทั่งเกิดเหตุควบคุมล่าสุด ซึ่งคาดว่าอาจมีผลต่อเรื่องการเลือกประธาน


ทั้งนี้ เอฟบีไอ ทำให้คนทั่วโลกรู้ว่า ฟีฟ่าไม่ได้สะอาดอย่างที่คิด โดยเชื่อว่ายังมีมากกว่า 6 คน เพราะเป็นกระบวนการ


ขณะที่นายถิรชัย วุฒิธรรม อดีตผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย มองฟีฟ่า ว่าการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงฟีฟ่าถูกคุมตัวในข้อหาคอรัปชั่นเป็นเรื่องจริง ซึ่งอาจแรงกระเพื่อมต่อการตัดสินใจของชาติอื่นๆ ในการเลือกประธานฟีฟ่า

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ