ยูเอ็นชี้ โควิด-19 เป็นวิกฤตร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เลขาธิการสหประชาชาติ เตือนว่าโลกกำลังเผชิญวิกฤตที่รุนแรงและท้าทายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวในงานของสภาสิทธิมนุษยชน ณ สำนักงานใหญ่ในยุโรป เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ว่า โลกกำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามที่กำลังระบาดในทุกประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะถดถอยที่ไม่มีเหตุการณ์ไหนเทียบได้จากอดีตที่ผ่านมา

อัปเดตข่าว สถานการณ์ โควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุด 1 เม.ย. 63

อัปเดตข่าวโควิด-19 (COVID-19) ล่าสุด 1 เม.ย. 63

อัปเดตข่าวล่าสุด โควิด-19 (Covid-19) ในวงการฟุตบอล วันที่ 1 เม.ย. 63

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่โรคระบาดกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดความไม่มั่นคง ความไม่สงบ และความขัดแย้ง กูเตอร์เรสจึงเรียกร้องให้นานาประเทศเฟ้นหามาตรการรับมือที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพกว่านี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม

เขาเน้นย้ำว่าทางออกของปัญหานี้จะเกิดขึ้นได้ หาก “ทุกคนร่วมมือกัน ลืมเกมการเมืองไปก่อน และทำความเข้าใจว่านี่เป็นเรื่องของทั้งเผ่าพันธุ์มนุษยชาติ”

“เรากำลังเผชิญกับวิกฤตสุขภาพระดับโลก ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในช่วงประวัติศาสตร์ 75 ปีที่ผ่านมาของสหประชาชาติ เป็นวิกฤตที่กำลังเข่นฆ่าผู้คน แพร่กระจายความเจ็บปวด และเปลี่ยนชีวิตของเรา แต่นี่ไม่ใช่แค่วิกฤตสุขภาพ แต่เป็นวิกฤตของมนุษยชาติ โควิด-19 กำลังจู่โจมสังคมจนถึงแก่น”

ขนาดของมาตรการรับมือต้องสัมพันธ์กับขนาดของวิกฤต ดังนั้น มาตรการตอนนี้ต้องใหญ่ ครอบคลุม มีการพูดคุยประสานงานกัน โดยแผนรับมือของนานาประเทศจะมีองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นผู้นำ แต่เรายังห่างไกลจากจุดที่เราสามารถต่อสูกับโควิด-19 และรับมือผลทางลบที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประการแรก หลายประเทศไม่เชื่อคำแนะนำของ WHO และตัดสินใจปฏิบัติตามวิถีทางของแต่ละประเทศ

ในโลกที่เชื่อมต่อกันนี้ เรามีความแข็งแกร่งเท่ากับระบบสาธารณสุขที่อ่อนแอที่สุดเท่านั้น มันเป็นเรื่องจำเป็นที่ประเทศพัฒนาแล้ว จะต้องให้ความช่วยเหลือประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า เพื่อหนุนเสริมระบบสาธารณสุขและการหยุดการแพร่ระบาดของประเทศเหล่านั้น

ประการที่สอง ขณะที่เงินกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 164 ล้านล้านบาท) ถูกรวบรวมมาโดยบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว มีเงิน 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 65 ล้านล้านบาท) อยู่ในสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนระบบเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง

เรายังห่างไกลจากการสร้างแพ็กเกจให้ความช่วยเหลือระดับโลก สำหรับช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถยับยั้งโรค และรับมือกับผลกระทบอื่น ๆ ที่ตามมา เช่น ประชาชนตกงาน บริษัทขนาดเล็กอาจล้มละลาย ประชาชนในที่ห่างไกล ดังนั้น การสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาจึงยังคงจำเป็นอยู่

สหประชาชาติ รายงานว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization, ILO) คาดการณ์ว่า ในปี 2563 ประชากรราว 5-25 ล้านคนจะตกงาน สูญเสียรายได้รวม 860 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึง 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.8 หมื่นล้านบาท ถึง 1.1 แสนล้านบาท) และจะส่งผลให้การลงทุนระหว่างประเทศลดลงราว 30-40%

อย่างไรก็ตาม กูเตอร์เรส ประกาศจัดตั้งกองทุนรับมือและฟื้นฟูจากโควิด-19 เพื่อสนับสนุนประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ให้ประเทศเหล่านี้สามารถต่อสู้กับโควิด-19 และฟื้นฟูประเทศได้อย่างราบรื่น โดยเขาหวังว่าจะมีผลตอบรับทางบวกจากประชาคมโลกในการช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบาง อาทิ ผู้อพยพนับล้าน ประชาชนที่ถูกเนรเทศ ประชาชนในสลัม และกลุ่มผู้ยากไร้

เลขาธิการยูเอ็นฯ กล่าวว่า ประเทศพัฒนาแล้วต้องเพิ่มปริมาณทรัพยากรที่เข้าถึงได้ให้กับประเทศกำลังพัฒนา และสนับสนุนความคิดของ เอมมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron), ประธานาธิบดีฝรั่งเศส วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซีย และอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่เสนอในการประชุม G20 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กลุ่มประเทศ G20 ควรให้ความช่วยเหลือทวีปแอฟริกาเป็นพิเศษ

“เราต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อให้มันประสบผลสำเร็จ ถ้าทำไม่ได้ ทวีปแอฟริกาจะต้องเผชิญกับความยากลำบากครั้งใหญ่” กูเตอร์เรสกล่าว

 

ที่มา: ABC News

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ