เปิด “9 ปัจจัยเสี่ยง" ป่วยโควิด-19 รุนแรง แพทย์ต้องระวังพิเศษ!!


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้เชี่ยวชาญกรมการแพทย์เตรียมประชุมปรับแนวทางการรักษา 6 เม.ย. หลังล่าสุดแบ่ง 4 กลุ่มอาการผู้ป่วยโควิด-19 ย้ำแพทย์ต้องระวัง 9 ปัจจัยอาการรุนแรง

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 5 เม.ย.2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวการจัดเตรียมยาสำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า การรักษาโรคโควิด-19 สำหรับประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาไปตามผลการศึกษาวิจัยจากทั่วโลก อย่างรอบเดือนที่ผ่านมาก็เปลี่ยนแนวทางมาแล้ว 2 ครั้ง  และในวันพรุ่งนี้(6 เม.ย.) ก็จะมีการประชุมผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งว่า แนวทางการรักษาและผลการรักษาจะปรับอย่างไร

สธ.เผยรอญี่ปุ่นบริจาค "ยาฟาวิพิราเวียร์" ไม่ได้! เหตุไม่เพียงพอ

ศบค.เปิดข้อมูลผู้เสียชีวิต “โควิด-19” เพิ่ม! ล่าสุดอายุน้อยลง ร่วมดื่มสุราเป็นประจำ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่อาการไม่ค่อยรุนแรง และส่วนหนึ่ง 20% ไม่ค่อยมีอาการ ส่วนอาการไม่รุนแรงคล้ายไข้หวัด ภาพรังสีปอดปกติ ไม่มีปอดบวมอีก 65%   และพบว่าปอดบวม แต่อาการไม่รุนแรงอีก 12 % และปอดอักเสบรุนแรงอีก 3%  ซึ่งตัวเลขก็ปรับเปลี่ยนแต่ละประเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญได้แบ่งการรักษาตามอาการ 4 กลุ่มหลักๆ ดังนี้

กลุ่มที่ 1   กลุ่มไม่มีอาการประมาณ 20% ให้สังเกตอาการในรพ. 7 วัน  หากอาการปกติ เอกซเรย์ปอดปกติ ให้ย้ายคนไข้ออกจากรพ. เพื่อประหยัดเตียง และรับคนใหม่ได้ โดยให้ย้ายคนไข้ไปอยู่ในสถานที่ราชการจัดให้ เช่น Hospitel หรือ ฮอสพิเทล หรือหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 ให้นอนอีก 7 วัน  ซึ่งปัจจุบันในกทม.มี 3 แห่ง โดยแห่งแรกเป็นโรงแรมแถวดินแดง มี 270 ห้อง และแห่งที่ 2 เป็นของหอพักมหาวิทยาลัยธรรมชาติ ที่รังสิต มี 308  ห้อง และแห่งที่ 3 เป็นโรงแรมแถวจุฬาฯ ประมาณ 40 ห้อง รวมๆ Hospitel มีประมาณ 600 ห้อง

กลุ่มที่ 2 กลุ่มอาการไม่รุนแรง 65%  กลุ่มนี้คล้ายๆกลุ่มแรก คือ  เมื่อไม่มีอาการในรพ.7 วันก็ให้ย้ายไป Hospitel อีก 7 วัน  ซึ่งกลุ่มนี้จะมีการให้ยาต้านไวรัสบางตัว แต่ไม่รวมยาฟาวิพิราเวียร์ หากอาการไม่รุนแรง  

กลุ่มที่ 3 ปอดอักเสบไม่รุนแรง 12%  ก็จะให้ยาต้านไวรัส กับยาต้านมาลาเรีย ซึ่งกลุ่มนี้จะให้ยามากขึ้น แต่ไม่ให้ยานำเข้า อย่างยาฟาวิพิราเวียร์ แต่หากกลุ่มนี้อาการรุนแรงก็จะบวกยาฟาวิพิราเวียร์  

กลุ่มที่ 4 ปอดอักเสบรุนแรง 3%  กลุ่มนี้มีอาการรุนแรงจะได้ยาครบทุกตัว 

“โดยกลุ่ม 3 และ 4 จะอยู่รพ. นาน บางคน 3-4 สัปดาห์ บางคนเป็นเดือน เราจะให้อยู่รพ.จนหายดี และค่อยกลับบ้าน จะไม่มีการเคลื่อนไป  Hospitel  อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจจัยที่แพทย์ต้องเฝ้าระวังพิเศษ มี 9 ข้อ คือ  1.อายุมากกว่า 60 ปี 2.ภาวะอ้วน 3.ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ 4.โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือถุงลมโป่งพอง 5.โรคไตวายเรื้อรัง 6.ตับแข็ง 7.โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ 8.โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และ9.โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออัมพาต” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

อัปเดตข่าวโควิด-19 (COVID-19) ล่าสุด 5 เม.ย. 63

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ