“ไต้หวัน vs อนามัยโลก” การเมืองเรื่องโควิด เมื่อชีวิตคนเป็นเบี้ยบนกระดาน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากกรณีผู้อำนวยการ องค์การอนามัยโลก (WHO) ถูกเหยียดเชื้อชาติและสีผิว เขาระบุว่า ต้นตอความรุนแรงนี้มาจากไต้หวัน สร้างความขุ่นเคืองแก่ไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองนั้นร้าวลึกและมีเบื้องหลังมากกว่านั้น

วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสภาวะเศรษฐกิจในหลายประเทศเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมไม่น้อย ผ่านการตีตรา แบ่งแยก และเหยียดหยาม

อัปเดตข่าว สถานการณ์ โควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุด 10 เม.ย. 63

อัปเดตข่าวโควิด-19 (COVID-19) ล่าสุด 10 เม.ย. 63

อัปเดตข่าวล่าสุด โควิด-19 (Covid-19) ในวงการฟุตบอล วันที่ 10 เม.ย. 63

ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ที่เคยเรียกโรคโควิด-19 ว่าเป็น “โรคจีน (China Virus)” หรือการที่ชาวเอเชียตะวันออกหลายคนถูกชนชาติตะวันตกเหยียดหยามและรังเกียจว่าเป็นต้นตอของการระบาด สร้างความร้าวฉานในช่วงเวลาที่ทั้งโลกควรจับมือกันไว้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 63 ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการขององการอนามัยโลก (WHO) เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) เปิดเผยว่า ในช่วงเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมาของการระบาดของโควิด-19 ตัวเขาถูกโจมตีด้วยถ้อยคำเหยียดเชื้อชาติและสีผิวจำนวนมาก โดยระบุว่า ต้นตอการเหยียดหยามทั้งหลามาจากประเทศไต้หวัน และกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันเกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวเพื่อโจมตีตัวเขาในช่วงที่ผ่านมา เกิดเป็นสภาวะคุกรุ่นระหว่างไต้หวันและ WHO โดยมีพี่ใหญ่จีนคอยกระพือสถานการณ์ให้ลุกโหม

เกเบรเยซุสกล่าวว่า เขาได้รับความเห็นที่แบ่งแยกเชื้อชาติในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา “พวกเขาตั้งชื่อใหม่ให้ผม ว่า “ดำ” บ้าง “นิโกร” บ้าง แต่ผมจะบอกว่า ผมภูมิใจที่ได้เป็นคนผิวดำ ภูมิใจที่ได้เป็นนิโกร ผมยังได้รับการขู่ฆ่าด้วย แต่ผมไม่สนใจหรอก”

ไม่เพียงเท่านั้น จีนยังร่วมผสมโรงกล่าวหาไต้หวันว่าโจมตีผอ. WHO และให้ความร่วมมือกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเหยียดเกเบรเยซุส ทำให้ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) ของไต้หวัน และกระทรวงการต่างประเทศออกมาตอบโต้

ปธน.ไช่ อิงเหวิน ออกมากล่าวว่า ไต้หวันไม่เห็นด้วยกับการเลือกปฏิบัติใด ๆ เสมอมา และขอเชิญเกเบรเยซุสมาเยี่ยมไต้หวันเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิด

ด้านกระทรวงการต่างประเทศไต้หวันบอกว่า “เราขอประณามและประท้วงต่อการกล่าวหาที่ไร้หลักฐานและเลื่อนลอยนี้ เราเป็นประเทศประชาธิปไตย เราไม่ได้ยุยงให้ประชาชนของเราโจมตีผู้อำนวยการ WHO เป็นการส่วนตัวและไม่ได้แสดงความคิดแบ่งแยกเชื้อชาติและสีผิวแต่อย่างใด”

กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันยังระบุว่า ไต้หวันต่อต้านการแบ่งแยกทุกรูปแบบ ดังนั้นการโจมตีผอ. WHO ไม่ใช่การกระทำของไต้หวัน ความเห็นของเกเบรเยซุสนั้นไร้ซึ่งความรับผิดชอบ เขาต้องแก้ไขเรื่องนี้ให้กระจ่างและขอโทษไต้หวัน

ปธน.ไช่ อิงเหวิน ยังเสริมว่า “ไต้หวันต่างหาก ที่เป็นฝ่ายถูกกีดกันและแบ่งแยกจาก WHO มานานหลายปี หาก ผอ.เกเบรเยซุส สามารถต้านทาน “แรงกดดันจากจีน” และมาไต้หวันได้ล่ะก็ ขอให้มาดูความพยายามของไต้หวันในการต่อสู้กับโควิด-19 ด้วยตัวเขาเอง เขาจะเห็นได้ว่าคนไต้หวันต่างหากเป็นเหยื่อของการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรม”

ต้นเหตุความขัดแย้งนี้ มีที่มาจากอิทธิพลของจีนที่มีต่อองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ รวมถึง WHO ด้วย โดยจีนมักอ้างว่าไต้หวันยังคงเป็นส่วนหนึ่งของจีน ขณะที่ไต้หวันประกาศว่าตนเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีเอกราชของตัวเอง

ด้วยการคัดค้านจากจีน ทำให้ไต้หวันถูกกีดกันออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสมาชิก WHO  สร้างความขุ่นเคืองให้รัฐบาลไต้หวัน โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ เนื่องจากไต้หวันอ้างว่าไม่ได้รับการเข้าถึงข้อมูลการแพร่ระบาดจาก WHO  แน่นอนว่าทาง WHO ปฏิเสธเรื่องนี้

อนามัยโลก เตือน “ทรัมป์” อย่าใช้โควิด-19 เป็นประเด็นการเมือง แนะร่วมมือจีน

ประเด็นนี้ทำให้ WHO ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งขู่ว่าจะถอนเงินทุนที่มอบให้กับ WHO หากยังคงริดรอนความเป็นประเทศของไต้หวัน

ไต้หวันเคยเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่องทุกครั้งที่ถูกกีดกันออกจากองค์กรระดับโลก โดยกล่าวว่ามันเป้นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมและเลือกปฏิบัติ “และในสถานการณ์ที่ทุกชาติควรร่วมมือกันฟันฝ่าวิกฤตโควิด-19 นี้ ไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

ผลจากการถูกปฏิเสธความเป็นชาติสมาชิก ทำให้ไต้หวันไม่ได้เข้าร่วมการประชุมฉุกเฉินและการบรรยายสรุปจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกที่เกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโรคและวิธีป้องกันอย่างทันท่วงที ทำให้ชีวิตของชาวไต้หวันกลายเป็นเบี้ยบนกระดานเกมการเมืองของจีน ที่ต้องการควบรวมไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน

ไต้หวันเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่พบเชื้อโควิด-19 ที่ตอนนั้นยังถูกระบุว่าเป็นเพียง “โรคปอดชนิดใหม่” ตั้งแต่ปลายปี 2562 แต่กลับถูกเพิกเฉยจาก WHO

แต่แม้ว่าไต้หวันจะถูกโดดเดี่ยวจาก WHO ประสิทธิภาพในการรับมือกับโควิด-19 ของไต้หวันกลับสูงมาก ปัจจุบัน ไต้หวันมีผู้ติดเชื้อสะสมเพียง 380 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพียง 5 รายเท่านั้น ทำให้ปัจจุบัน หลายประเทศ รวมถึง WHO เอง หันมาศึกษาแนวทางการรับมือของไต้หวันไปปรับใช้

ไต้หวันถูกมองว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่พื้นที่ในโลก ที่ประสบความสำเร็จในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยไม่ต้องใช้มาตรการเข้มงวด

สาวไทยหนีกักตัวไต้หวันสั่งปรับหนัก 1 ล้าน-จำคุก

ส่องมาตรการ “ไม้อ่อน-ไม้แข็ง” ที่ไต้หวันใช้สกัดโควิด-19

เรียบเรียงจาก Aljazeera, BBC, Reuters

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ