ผู้ป่วยเบาหวานเตรียมรับมือ วิกฤตยาโรคเรื้อรังขาดแคลน ช่วงโควิด-19


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงขณะนี้ สัญญาณขาดแคลนยาบางรายการในประเทศเริ่มปรากฏขึ้น โดยเฉพาะยารักษาในกลุ่มโรคเรื้อรัง เหตุประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ใช้มาตรการปิดประเทศ ส่งผลกระทบถึงการจัดส่งยา ล่าสุดทีมข่าวพีพีทีวี มีโอกาสพูดคุยกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่ต้องรับยาต่อเนื่อง พบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเตรียมรับมือ หากยารักษาโรคขาดแคลน

อัปเดตข่าวโควิด-19 (COVID-19) ล่าสุด 14 เม.ย. 63

อัปเดตข่าว สถานการณ์ โควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุด 14 เม.ย. 63

เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2563 ผู้ป่วยเบาหวานรายหนึ่ง เปิดเผยกับทีมข่าวพีพีทีวีว่า ป่วยโรคเบาหวานมากว่า 15 ปี เคยอาการหนักจนหยุดหายใจ ต้องฉีดอินซูลินควบคู่กับการรับประทานยา ทั้งยาลดความดัน ยาบำรุงหัวใจ และยาขับปัสสาวะ เพราะมีอาการเบาหวานขึ้นตา จอประสาทตาเสื่อม และเบาหวานลงไต ร่วมด้วย ทำให้ต้องไปพบแพทย์สัปดาห์หรือเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อติดตามอาการ แต่ล่าสุดอาการเริ่มดีขึ้น แพทย์ให้รับยามารับประทานเอง และยืดระยะเวลาการนัดไปเป็น 3 เดือนต่อครั้ง ขณะที่เธอเองได้ตัวเองเพิ่มเติม เช่น คุมอาหาร ออกกำลังกาย เพิ่มขึ้น แต่เมื่อมีข่าวสัญญาณการขาดแคลนของยาโรคเรื้อรังต่าง ๆ ก็ต้องเตรียมรับมือระดับหนึ่ง แม้จะไม่ได้กังวลมากนัก เพราะอยู่กับโรคเบาหวานมานาน 

ด้าน รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงจิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า สัญญาณการขาดแคลนยา เริ่มจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น จีน อินเดีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ใช้มาตรการปิดประเทศ ทำให้เกิดปัญหาการจัดส่งวัตถุดิบยา ผลิตภัณฑ์ยา และบรรจุภัณฑ์ ประกอบกับไทยเริ่มมีนโยบายให้สถานพยาบาลจ่ายยาโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน ให้ผู้ป่วยล่วงหน้า 6 เดือน สภาเภสัชกรรม และแผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ หรือ คคส.จึงกังวลว่า หากไม่มีการวางระบบจัดการยาและกระจายยาอย่างเหมาะสม ไทยอาจต้องเผชิญคลื่นวิกฤตลูกที่สองจากภาวะขาดแคลนยา

ทั้งนี้เบื้องต้นสภาเภสัชกรรมได้จัดประชุมร่วมกับที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชน เพื่อทำข้อเสนอต่อรัฐบาลรวม  5 ข้อหลัก ประกอบด้วย

1. จัดหาและกระจายยาที่จำเป็น โดยเชื่อมโยงกับองค์การเภสัชกรรม สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน สภาเภสัชกรรม และนักวิชาการด้านยา

2. กระทรวงสาธารณสุขต้องมีนโยบายให้สถานบริการสั่งซื้อยาล่วงหน้า 6 เดือน ทยอยการจัดส่งทุก 1-2 เดือน เพื่อให้โรงงานผลิตล่วงหน้า

3. ให้สถานบริการเร่งรัดการจ่ายเงินภายในไม่เกิน 1 เดือน หลังจากได้รับใบแจ้งหนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมยาสำรองวัตถุดิบยาได้ 6 เดือน จากเดิม 3 เดือน

4. ให้รัฐบาลประสานจีน อินเดีย และประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบ เพื่อซื้อวัตถุดิบยาในลักษณะรัฐต่อรัฐ หรือจัดเครื่องบินไปรับวัตถุดิบยา ผลิตภัณฑ์ยา รวมถึงบรรจุภัณฑ์

5. ให้อุตสาหกรรมยา รวมทั้งองค์การเภสัชกรรม สำรองวัตถุดิบในการผลิตยา 6 เดือน

สำหรับปัญหาการเข้าถึงยาโรคเรื้อรัง เป็นปัญหาเร่งด่วน ที่แก้ไขโดยด่วน เช่นเดียวกับการบริหารจัดการรายการยาสำหรับโรคโควิด -19 ไม่เช่นนั้น อีกไม่ถึง 1 เดือน จะเกิดปัญหาที่เพิ่มขึ้น

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ