บุคลากรทางการแพทย์ กับความเสี่ยงไวรัสโควิด-19 เมื่อครั้งอู่ฮั่น


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ลองมาฟังประสบการณ์ของหนึ่งในทีมมดงานที่ร่วมต่อสู้โควิด-19 ตั้งแต่ครั้งอู่ฮั่น

เป็นประเด็นที่หลายคนเป็นห่วง เมื่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ลุกลามถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพราะส่งผลต่อการให้บริการรักษาผู้ป่วย หากยิ่งพบมากก็จะยิ่งส่งผลต่อการบริการสาธารณสุข ซึ่งข้อมูลเมื่อวันที่ 13 เม.ย.2563 พบบุคลากรสาธารณสุขติดเชื้อ 102  ราย   ในจำนวนบุคลากรที่ติดเชื้อฯ พบว่าติดจากการดูแลรักษาผู้ป่วย 65 % ติดเชื้อจากชุมชนประมาณ 20 % ที่เหลือไม่สามารถระบุว่าติดเชื้อจากที่ไหน แยกเป็นพยาบาล 40% แพทย์ 10 % ผู้ช่วยพยาบาล/ผู้ช่วยแพทย์ 10 % ที่เหลือเป็นตำแหน่งหน้าที่อื่นๆ  

เปิดใจ “คนไทยจากอู่ฮั่น” หลังได้กลับบ้าน ครบกำหนดเฝ้าระวัง โควิด-19

จีน ไฟเขียว ทดสอบยาต้านโควิด-19 อีก 2 ตัวกับคน

จากปัญหาดังกล่าวหลายคนกังวลว่า จะมีแนวทางป้องกันบุคลากรทางการแพทย์อย่างไร หรือตัวบุคลากรเองมีระบบในการป้องกันตัวเองมากน้อยแค่ไหน

ลองมาฟังเสียงสะท้อนจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานสู้โควิด-19 ตั้งแต่เมื่อครั้งรับคนไทยจากอู่ฮั่น

 นสพ.พรพิทักษ์ พันธ์หล้า ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน  กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  หนึ่งในทีมบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานสู้โควิด-19 ตั้งแต่ต้น เล่าถึงการเตรียมพร้อมรับความเสี่ยง ว่า  จริงๆพวกเราคุ้นเคยระดับหนึ่ง ว่า การไปครั้งนั้นมีความเสี่ยงอยู่แล้ว ซึ่งก็มีความพร้อมในระดับหนึ่ง แต่เราเน้นความปลอดภัย  โดยมีวิธีลดความเสี่ยงให้มากที่สุด คือ ทีมเราจะไม่ได้ลงจากเครื่องบิน แม้ที่จีนจะปิดสนามบินแล้ว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ จึงขอไม่ลง

“โดยเป็นกระบวนการที่ได้ประสานกับทางจีน ว่า เราขออยู่เฉพาะหน้าเครื่อง รอรับผู้โดยสารขึ้นเครื่อง เช็กชื่อ ตรวจคัดกรองอาการ ซึ่งผ่านทางการจีนมาแล้วระดับหนึ่งว่า หากคนมีไข้จะไม่ให้ออก  เราก็ตรวจวัดซ้ำอีกครั้ง และเลือกที่นั่งให้แต่ละคนตามความเสี่ยงที่ไม่เท่ากัน จากนั้นบินกลับทันที  เมื่อกลับมาแล้วบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขถูกกักตัว 14 วันเหมือนกันหมด เพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดโอกาสแพร่โรค โดยพวกเราถูกตรวจเชื้อ 2 รอบ  ตั้งแต่ก่อน 14 วัน และใกล้จะจบ 14 วันก็ตรวจซ้ำ ” นสพ.พรพิทักษ์  กล่าว

นสพ.พรพิทักษ์ พันธ์หล้า

นสพ.พรพิทักษ์ ย้ำว่า ทีมแพทย์เมื่อกลับมาถึงก็มาที่สถาบันบำราศนราดูร เก็บตัวอย่างตรวจเชื้อ และกักตัวเอง 14 วันที่บ้าน แยกกับครอบครัว เว้นระยะห่างตามที่กระทรวงสาธารณสุขให้ปฏิบัติ โดยเวลาการทำงานทั้งหมดตั้งแต่นั่งเครื่องจนกลับรวม 18 ชั่วโมง

ด้าน  นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ยังให้ข้อมูลว่า  บุคลากรทางการแพทย์  หากต้องสัมผัสใกล้ชิดผู้ที่ป่วยโรคทางเดินหายใจต้องมีเครื่องมือป้องกันที่เพียงพอ และมีคุณภาพที่ดี  ส่วนบุคลากรบางท่านที่ต้องทำงานใกล้ชิด อย่างใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจ หรืออยู่ในห้องผู้ป่วยหนักก็ยิ่งต้องมีอุปกรณ์ที่ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น และมีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่เรามี   อย่างไรก็ตาม อยากฝากถึงประชาชนทั่วไป สิ่งสำคัญหากมีประวัติ หรือมีความเสี่ยงเข้าไปในพื้นที่ที่มีโอกาสติดโรค ร่วมกับมีอาการไข้บวกอาการทางเดินหายใจ ให้รีบมาพบแพทย์  และขอให้แจ้งอาการ แจ้งประวัติอย่างละเอียดกับบุคลากรทางการแพทย์  เพราะหากไม่แจ้งอาจทำให้บุคลากรทางการแพทย์เสี่ยงติดเชื้อด้วย    

นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ

อย่างไรก็ตาม ในการป้องกันบุคลากร มีเครื่องมือสำหรับป้องกันต่างๆ  ได้มีการกระจายเครื่องมือ อุปกรณ์ ทั้งหน้ากาก N95 และชุดป้องกัน PPE  กระจายตามโรงพยาบาลต่างๆแล้ว

นอกจากนี้  นสพ.พรพิทักษ์  ยังเล่าถึงจุดเริ่มของการทำงานป้องกันเชื้อไวรัสเข้าสู่ประเทศไทย ตั้งแต่แรกเริ่มพบที่อู่ฮั่น ว่า  ก่อนจะเกิดการระบาดทุกวันนี้ เรามีการเตรียมพร้อมตั้งแต่ได้ข้อมูลปลายปีของจีนว่า เกิดความผิดปกติที่อู่ฮั่น    โดยเอาประสบการณ์ตั้งแต่เมอร์ส  หวัด2009 และเริ่มมีการตรวจคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น มีการคุยกับหน่วยงานการบินตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.2563 เป็นต้นไป ก่อนที่จะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า พบไวรัสตัวใหม่ในระบบทางเดินหายใจ

ณ ขณะนั้นได้เริ่มการทำงานไปรับคนไทยที่อู่ฮั่น ซึ่งจีนล็อกดาวน์ช่วงตรุษจีน  ขณะนั้นกระทรวงต่างประเทศเป็นแม่งานในการพาคนไทยกลับประเทศ สุดท้ายเมื่อได้ข้อสรุปว่าต้องรับคนไทยกลับ พวกเราทางด้านบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด  มีเวลาเตรียมการต่างๆเพียง 36 ชั่วโมงก่อนบินไปจีน  

“การไปรับครั้งนั้น จริงๆไม่ได้ช้าเลย เพราะมีมุมที่นอกเหนือจากการจัดการเชิงสาธารณสุข เนื่องจากบางประเทศที่ไปรับก่อนเรา ก็มีประเด็นว่ากลับประเทศแล้วไปอยู่ไหน อยู่แล้วดูแลอย่างไร และขณะกลับมีผู้ติดเชื้อ เราจึงต้องเตรียมพร้อมทั้งหมด โดยกระทรวงต่างประเทศก็วางระบบร่วมกับเราในการติดต่อคนที่อยากจะกลับ เอาข้อมูลมาเตรียมพร้อมดูแลพวกเขา เพราะการเดินทางขณะนั้นไม่ได้ง่ายๆ ทุกเมืองโดนล็อกดาวน์ การจะผ่านไปแต่ละที่ในจีนต้องมีเอกสารอนุญาต ซึ่งกระทรวงต่างประเทศต้องทำเรื่องให้จีน เพื่อให้คนไทยที่จีนเดินทางมาสนามบินได้”  หนึ่งในทีมบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานสู้โควิด-19 กล่าว

นอกจากนี้  การที่เราใช้เครื่องบินพาณิชย์ ไม่ใช้เครื่องบินทหาร เพราะเครื่องบินทหารไม่มีระบบปรับอากาศ แต่เครื่องบินพาณิชย์มีระบบปรับอากาศ และมีฟิวเตอร์ในป้องกันเชื้อในระดับหนึ่ง ป้องกันการแพร่เชื้อในห้องโดยสาร และเครื่องบินทหารซี 130 เป็นเครื่องบินใบพัด การเดินทางจะช้ากว่าเครื่องบินพาณิชย์ที่เป็นไอพ่น ทั้งหมดเราเรียนรู้จากประเทศอื่นไปรับก่อนเรา อย่างเมื่อตอนไปถึงเราใช้เวลากว่าจะรับคนไทยขึ้นเครื่องใช้เวลา 6 ชั่วโมง ซึ่งมีขั้นตอนจำนวนมาก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ   จะเห็นได้ว่าพวกเราต้องเตรียมข้อมูลให้พร้อม ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาหน้างาน  และเมื่อมาถึงไทยเราก็ต้องเลือกสถานที่ให้คนเหล่านี้พักที่ไหน และเครื่องจะไปลงที่ไหนอีก สุดท้ายก็มาลงที่อู่ตระเภา ทั้งหมดก็เป็นการเตรียมพร้อมก่อนการปฏิบัติจริง

 เมื่อถามว่ารู้สึกท้อแท้หรือไม่ ที่ผ่านมายังมีคนบางส่วนตำหนิระบบคัดกรองโรคว่ามีจุดอ่อน  นสพ.พรพิทักษ์ กล่าวว่า จริงๆระบบการตรวจคัดกรองเชื้อ ทุกตะแกรงจะมีรูหมด แต่จะทำอย่างไรให้มีตระแกรงซ้ำๆ ถี่ๆ เพื่อให้มีการติดตามคน ให้มีการเฝ้าระวัง ทั้งหมดเราก็มีประสบการณ์จากของเดิม

“ไม่มีระบบไหนทำได้ 100% แต่ทุกที่พยายามทำเหมือนตะแกรงที่ค่อยๆร่อนให้รูเหลือละเอียดมากที่สุดเท่าที่เราทำได้ จริงๆ เวลาทำงานถ้าไม่ให้กำลังใจ ก็ไม่อยากถูกบั่นทอนกำลังใจ แต่อย่างไรเสียเราก็ต้องทำ ซึ่งขั้นตอนวิธีต่างๆ เรามีข้อมูลวิชาการทั้งหมด และนำมาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทย” นสพ.พรพิทักษ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ