ทำความรู้จัก หญิงสาวผู้ค้นพบ “ไวรัสโคโรนาในมนุษย์”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้ว ผู้หญิงคนหนึ่ง ทำให้โลกรู้จักไวรัสโคโรนาในมนุษย์เป็นครั้งแรก

ไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน เป็นไวรัสโคโรนาในมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ที่ถูกค้นพบเมื่อปลายปี 2562 แต่รู้หรือไม่ว่า ผู้ที่ค้นพบไวรัสโคโรนาในมนุษย์ชนิดแรกคือใคร?

อัปเดตข่าว สถานการณ์ โควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุด 15 เม.ย. 63

อัปเดตข่าวโควิด-19 (COVID-19) ล่าสุด 15 เม.ย. 63

อัปเดตข่าวล่าสุด โควิด-19 (Covid-19) ในวงการฟุตบอล วันที่ 15 เม.ย. 63

จูน อัลเมดา (June Almeida) คือชื่อของหญิงสาวผู้ค้นพบไวรัสโคโรนาในมนุษย์เป็นคนแรกเมื่อปี 2507 ที่ห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาลเซนต์โทมัส (St. Thomas) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

นักไวรัสวิทยาคนนี้ เดิมชื่อ จูน ฮาร์ต (June Hart) เธอเกิดในปี 2473 และเติบโตใกล้กับอเล็กซานดราปาร์ก ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์

เธอออกจากโรงเรียนตอนอายุ 16 ปี โดยมีวุฒิการศึกษาไม่มาก แต่ได้งานเป็นช่างเทคนิคในห้องปฏิบัติการทางจุลพยาธิวิทยาที่โรงพยาบาลกลาสโกว์รอยัล (Glasgow Royal)

หลังจากนั้นเธอย้ายไปยังลอนดอนเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพของเธอ และในปี 2497 เธอสมรสกับ เอนริกส์ อัลเมดา (Enriques Almeida) ศิลปินชาวเวเนซุเอลา

ต่อมาทั้งคู่และลูกสาวตัวน้อยย้ายไปโตรอนโตในแคนาดา จอร์จ วินเทอร์ (George Winter) นักเขียนทางการแพทย์ ระบุว่า ที่สถาบันมะเร็งออนตาริโอในแคนาดานี้เอง ที่อัลเมดาฉายแววทักษะการใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน เธอยังเป็นผู้บุกเบิกวิธีการที่ทำให้มองเห็นไวรัสได้ดีขึ้นโดยการใช้แอนติบอดี้

วินเทอร์กล่าวว่า พรสวรรค์ของเธอได้รับการยอมรับในอังกฤษ และเธอถูกขอให้กลับมาทำงานในโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลเซนต์โทมัส ในลอนดอน (โรงพยาบาลเดียวกับที่นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน เข้าพักรักษาไวรัสโควิด-19)

เมื่อเธอกลับมาลอนดอน เธอก็เริ่มทำงานร่วมกับ ดร.เดวิด ไทเรลล์ (David Tyrrell) ผู้ซึ่งกำลังทำการวิจัยที่หน่วยโรคไข้หวัดใน ซาลิสเบอรี (Salisbury) วิลต์ไชร์ (Wiltshire)

วินเทอร์กล่าวว่า ดร.ไทเรลล์กำลังศึกษาการล้างจมูกในอาสาสมัคร และปรากฏว่าทีมของเขาพบไวรัสที่สามารถเติบโตในความเย็น 2-3 ชนิดตัว

ตัวอย่างที่สำคัญ คือ ไวรัสโคโรนาชนิด B814 ซึ่งพบหลังล้างจมูกของนักเรียนที่โรงเรียนประจำในเซอร์เรย์ (Surrey) ในปี 2503

พวกเขาพบว่าไวรัสดังกล่าวสามารถถ่ายทอดอาการหวัดทั่วไปให้กับอาสาสมัครได้ แต่ไม่สามารถเติบโตได้ในการเพาะเลี้ยงเซลล์ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม การศึกษาจากอาสาสมัครแสดงให้เห็นถึงการเติบโตในอวัยวะ ดร.ไทเรลล์สงสัยว่า อาจจะสามารถมองเห็นมันได้เมื่อใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนเท่านั้น

ดร.ไทเรลล์จึงส่งตัวอย่างไปให้ จูน อัลเมดา และก็ไม่ผิดหวัง เมื่อเธอสามารถมองเห็นอนุภาคไวรัสในตัวอย่าง ซึ่งเธออธิบายว่าลักษณะมันเป็นเหมือนไวรัสที่ก่อโรคไข้หวัดใหญ่ แต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

วินเทอร์กล่าวว่า ดร.อัลเมดาเคยเห็นอนุภาคเช่นนี้มาก่อนตอนตรวจสอบโรคตับอักเสบในหนู และโรคหลอดลมอักเสบติดเชื้อในไก่

อย่างไรก็ตาม รายงานของเธอที่ส่งการค้นพบไปยังวารสารงานวิจัยถูกปฏิเสธในครั้งแรก เพราะผู้ตัดสินมองว่า ภาพที่เธอเก็บมาจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนนั้น เป็นเพียงภาพของอนุภาคไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่คุณภาพไม่ดีและไม่ชัดเท่านั้น

ต่อมา การค้นพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ B814 ถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ของอังกฤษในปี 2508 และภาพถ่ายแรกของเชื้อที่เธอค้นพบก็ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิทยาไวรัสวิทยาทั่วไปในอีก 2 ปีต่อมา

สำหรับชื่อ “ไวรัสโคโรนา” มาจาก ดร.ไทเรลล์ ดร.อัลเมดา และ ศ.โทนี วอเตอร์สัน (Tony Waterson) ผู้ดูแลโรงพยาบาลเซนต์โทมัสขณะนั้น เนื่องจากลักษณะของไวรัสที่ถูกล้อมรอบโดยมงกุฎหรือรัศมี โดย “โคโรนา (Corona)” มาจากภาษาละติน แปลว่า “มงกุฎ”

หลังจากการค้นพบ ดร.อัลเมดาก็ทำงานที่โรงเรียนแพทย์ในลอนดอน ซึ่งเธอได้รับวุฒิปริญญาเอกจากที่นี่

เธอสิ้นสุดอาชีพของเธอที่สถาบันเวลคัม (Wellcome Institute) ซึ่งเธอได้รับการเสนอชื่อให้จดสิทธิบัตรหลายฉบับในสาขาการถ่ายภาพไวรัส

จากนั้น ดร. อัลเมดาก็กลายเป็นครูสอนโยคะ แต่ก็กลับไปทำงานด้านไวรัสวิทยาอีกครั้ง เป็นที่ปรึกษาการถ่ายภาพไวรัสชนิดใหม่ช่วงปี 2530 ซึ่งไวรัสชนิดนั้นก็คือ HIV

ดร.จูน อัลเมดา เสียชีวิตในปี 2550 อายุ 77 ปี

 

เรียบเรียงจาก BBC

ภาพจาก BBC

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ