วันวิสาขบูชา 2563 ประวัติ ความสำคัญ วันหยุด 6 พ.ค. 63 เวียนเทียนออนไลน์ ปลอดภัยจาก โควิด-19


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันที่ 6 พ.ค. 63 นี้ คือ วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกหนึ่งวันของประชาชนชาวไทยและทั่วโลก เพราะวันวิสาขบูชานั้นถือเป็นวันที่ระลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่ปีนี้อาจจะแตกต่างจากทุกปี ด้วยสถานการณ์โควิด-19 งดจัดกิจกรรมที่วัด ก็สามารถตั้งจิตทำสมาธิที่บ้าน อธิษฐานให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปในเร็ววันได้เช่นกัน

แนะวิธีทำบุญสุขใจ ไม่เพิ่มโรคภัย “พระสงฆ์-สามเณร”

ประชาชนทั่วประเทศเข้าวัดทำบุญเนื่องใน “วันวิสาขบูชา”

วันนี้ทีมนิวมีเดีย PPTV HD 36 จะนำเอาความรู้ของวันวิสาขบูชามาฝาก ซึ่ง วันวิสาขบูชา 2563 นี้ตรงกับ วันพุธที่ 6 พฤษภาคม 2563 คำว่า วิสาขบูชา ย่อมาจากคำว่า "วิสาขปุรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" ดังนั้น วิสาขบูชา จึงหมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6

วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกนิกายทั่วโลก ทั้งเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศ และเป็นวันสำคัญในระดับนานาชาติตามข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในศาสนาพุทธ 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระโคตมพุทธเจ้า

วันประสูติ - เช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เมื่อ 80 ปีก่อนพุทธศักราช เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน (อยู่ในเขตประเทศเนปาลในปัจจุบัน)

วันตรัสรู้ - เช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็นวันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน)

วันปรินิพพาน - วันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เมื่อ 1 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็นวันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน)

เหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 หรือเดือนวิสาขะนี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงนับถือว่าวันเพ็ญเดือน 6 นี้ เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบัน

วันวิสาขบูชาตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย และมักตรงกับเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนตามปฏิทินจันทรคติของไทย ในประเทศไทย ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็จะเลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 7

ไวรัสโคโรนา, โควิด-19, COVID-19, วันวิสาขบูชา, วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา,  เวียนเทียนออนไลน์

หลักธรรมในวันวิสาขบูชา

ไตรลักษณ์ - ใน 3 เหตุการณ์สำคัญข้างต้น พุทธศาสนิกชนจะพบว่า มีคติธรรมหลักคือ “ไตรลักษณ์” หรือ “อนิจจลักษณะ” อันได้แก่ความเป็นธรรมดาของโลก 3 ประการ คือ อนิจจัง-ความไม่เที่ยง ทุกขัง-ความเป็นทุกข์ ตั้งอยู่ในสภาพเดิมมิได้ และอนัตตา-ความที่สังขารทั้งหลายไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ (เช่น บังคับไม่ให้แก่ไม่ได้ บังคับไม่ให้ตายไม่ได้) ซึ่งทุกสรรพสิ่งในโลก ล้วนตกอยู่ในสภาพ 3 ประการนี้ แม้พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาของโลก ก็ยังต้องทรงตกอยู่ในกฎเหล่านี้ ไม่มีใครสามารถพ้นไปได้

ความกตัญญู – ในเหตุการณ์วันประสูติ สามารถยกหลักธรรมมาเทียบเคียงได้ คือ "หลักความกตัญญู" เพราะในพระพุทธประวัติ แม้พระนางสิริมหามายา ผู้เป็นพระราชมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะจะสิ้นพระชนม์ไปหลังที่เจ้าชายประสูติได้เพียง 7 วัน แต่เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้แล้ว ก็ได้เสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาบนดาวดึงสเทวโลก ถึงแม้พระเจ้าสุทโธทนะ ผู้เป็นพระราชบิดา พระพุทธองค์ก็เสด็จไปโปรดถึงพระราชวังที่ประทับ จนพระเจ้าสุทโธทนะประชวรหนักใกล้สวรรคต พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จเข้าไปโปรดจนพระราชบิดาได้บรรลุสำเร็จเป็นพระอรหันต์และนิพพานในพระราชวังในวันนั้นเอง

อริยสัจ 4 - ในเหตุการณ์วันตรัสรู้ สามารถยกหลักธรรมมาเทียบเคียงได้ คือ "อริยสัจ 4" อันเป็นหลักธรรมในการแก้ปัญหาชีวิตที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ คือ

  • "ทุกข์" ความไม่สบายกายไม่สบายใจ สภาวะที่ทนได้ยากทั้งหลาย (ปัญหา)
  • "สมุทัย" ต้นเหตุของความทุกข์ คือกิเลสตัณหา (ต้นเหตุของปัญหา)
  • "นิโรธ" จุดหมายที่จะดับทุกข์ คือนิพพาน (วางเป้าหมาย)
  • "มรรค" แนวทางในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ (ลงมือแก้ไข)

ความไม่ประมาท - ในเหตุการณ์วันปรินิพพาน พระพุทธองค์ตรัสปัจฉิมโอวาทไว้บทหนึ่ง อันเป็นยอดของคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ทุกคนควรนำมาปฏิบัติ คือ การมีสติอยู่ทุกเมื่อ ไม่ให้ความทุกข์ร้อนใจอันเกิดจากอำนาจกิเลสเข้าครอบงำ กล่าวคือ ความไม่ประมาทในกาลทุกเมื่อ

ไวรัสโคโรนา, โควิด-19, COVID-19, วันวิสาขบูชา, วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ,  เวียนเทียนออนไลน์

สิ่งที่คนไทยพึงปฏิบัติในวันวิสาขบูชา

ในสถานการณ์ปกติ การปฏิบัติตนในวันวิสาขบูชามักเน้นการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า, เข้าวัดปล่อยนกปล่อยปลา, รักษาศีล 5 และ ศีล 8 อย่างเคร่งครัด, เข้าวัดบำเพ็ญบุญกุศล ถือศีลฟังธรรม, เวียนเทียนรอบพระอุโบสถในตอนค่ำ, งดเว้นการทำบาปทั้งปวง, ทำบุญถวายสังฆทาน ฟังพระธรรมเทศนา

แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ในปีนี้ กิจกรรมทางศาสนาในวัดทั้งหมดพึงยกเว้น เน้นการปฏิบัติตนที่บ้าน งดการทำบาป เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19

ปีนี้ขอเชิญทุกคนร่วมกันพูดดี คิดดี ทำดี รักษาศีล อยู่แต่ที่บ้าน เพราะบุญและความดี ทำที่ไหนก็ทำได้ มา “งดไปวัด งดการติดเชื้อ” กันเถอะ

ไวรัสโคโรนา, โควิด-19, COVID-19, วันวิสาขบูชา, วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ