โลกของผึ้ง ในช่วงล็อกดาวน์ สกัด โควิด-19


โดย PPTV Online

เผยแพร่




มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้อันตรายที่มีต่อเหล่าแมลงหายไป สร้างโลกที่เป็นมิตรกับผึ้งในธรรมชาติขึ้นมา นักอนุรักษ์คาดหวังว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะคงอยู่ต่อไปแม้หลังจบวิกฤต โควิด-19

ในขณะที่ผู้คนถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านของตัวเอง ตามมาตรการป้องกันการระบาดของ โควิด-19 ในหลายประเทศ ทำให้สัตว์ป่าหลายชนิดไม่ต้องเผชิญกับความไม่สงบจากการจราจรและมลพิษต่าง ๆ ที่มีต้นเหตุมาจากมนุษย์

โลกเร่งพัฒนา 108 วัคซีนโควิด-19

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า สัตว์ชนิดหนึ่งที่ได้ฟื้นตัวในช่วง โควิด-19 คือผึ้งป่า เนื่องจากที่ผ่านมา ประชากร ผึ้ง ลดลงอย่างรวดเร็วทั่วโลก เพราะสูญเสียถิ่นที่อยู่ เจอมลภาวะ และการใช้ยาฆ่าแมลง

กิล เพอร์กินส์ (Gill Perkins) หัวหน้าผู้บริหารของ Bumblebee Conservation Trust องค์กรไม่แสวงหากำไรในอังกฤษที่มุ่งเฝ้าระวังและอนุรักษ์ ผึ้ง และถิ่นที่อยู่ของ ผึ้ง กล่าวว่า “สิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออาหารและชุมชนของเรา พวกมันคอยดูแลรักษาระบบนิเวศทั้งหมด”

โลกที่ปราศจาก ผึ้ง สามารถสร้างความแตกต่างและเปลี่ยนแปลงชีวิตของมนุษย์เราอย่างมหาศาล ผึ้ง เป็นแมลงผสมเกสรที่สำคัญที่สุดในโลก โดย 1 ใน 3 ของอาหารที่เรากินและ 80% ของพืชดอกทั้งหลายได้ ผึ้ง เป็นตัวช่วยทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์

ผึ้ง และแมลงผสมเกสรอื่น ๆ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลกประมาณ 120,000 ล้านปอนด์ (4.8 ล้านล้านบาท) และมีส่วนช่วยเศรษฐกิจของอังกฤษอยู่ที่ประมาณ 690 ล้านปอนด์ (2.76 หมื่นล้านบาท) ทุกปี

นักวิทย์ พบ แอนติบอดี้ใน “ลามะ” ป้องกันโควิด-19 ได้

ไวรัสโคโรนา, โควิด-19, COVID-19, ผึ้ง, ธรรมชาติฟื้นตัว, ข่าวต่างประเทศ

หนึ่งในผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดของการล็อกดาวน์สกัด โควิด-19 เกือบทั่วโลกคือ มลพิษทางอากาศที่ลดลงอย่างมาก

ควันจากรถยนต์บนท้องถนนที่น้อยลง ช่วยให้ ผึ้ง หาอาหารได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมลพิษทางอากาศจะลดความแข็งแรงและระยะเวลาของกลิ่นดอกไม้อย่างมาก มลพิษจะทำลายโมเลกุลกลิ่นที่ปล่อยออกมาจากพืช ทำให้ผึ้งตรวจจับอาหารได้ยากขึ้น นั่นหมายความว่าพวกมันมักจะลงเอยด้วยการบินต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะพบอาหารและนำกลับไปยังรังของพวกมัน

มาร์ก บราวน์ ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาวิวัฒนาการที่ Royal Holloway มหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวว่า “ในโลกที่มีมลภาวะทางอากาศน้อยกว่าเดิม ผึ้งจะใช้เวลาหาอาหารสั้นลงและได้ประสิทธิผลมากขึ้น และสิ่งนี้อาจช่วยให้พวกมันเลี้ยงดูเด็กของมัน ๆ ได้มากขึ้น”

นอกจากนี้ จำนวน ผึ้ง ที่เสียชีวิตยีงมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากการเดินทางของรถยนต์ลดลงในระหว่างการล็อกดาวน์สกัด โควิด-19 การศึกษาในปี 2558 โดยนักวิจัยชาวแคนาดาระบุว่า ที่อเมริกาเหนือแต่ละปี มีผึ้งและตัวต่อกว่า 24 พันล้านตัวถูกฆ่าโดยยานพาหนะบนถนน

ฮ่องกงจับครีบฉลาม 26 ตัน มากที่สุดในประวัติศาสตร์

และด้วยสถานการณ์วิกฤต โควิด-19 ในอังกฤษ ทำให้ภาครัฐหยุดการบำรุงและตัดแต่งพุ่มไม้ดอกไม้รายทาง ทำให้ถนนในอังกฤษเกิดความเขียวชอุ่ม เหมาะสมต่อการหาอาหารของ ผึ้ง “ความสมบูรณ์ของดอกไม้เหล่านี้อาจเป็นประโยชน์อีกอย่างหนึ่งสำหรับ ผึ้ง ในการหาอาหาร ส่งเสริมประชากร ผึ้ง ให้เพิ่มจำนวนขึ้น” บราวน์กล่าว

นักนิเวศวิทยาในอังกฤษเคยยื่นคำร้องเพื่อขอคำอนุญาตให้พุ่มไม้ข้างทางได้เติบโต เสริมความอุดมสมบูรณ์ให้เมืองในอังกฤษ ผ่านแคมเปญ เช่น “อย่าตัดหญ้า ปล่อยให้มันเติบโต

ไวรัสโคโรนา, โควิด-19, COVID-19, ผึ้ง, ธรรมชาติฟื้นตัว, ข่าวต่างประเทศ, คนเลี้ยงผึ้ง , ผึ้งราชินี

บราวน์แนะนำว่า การไม่ตัดพุ่มไม้ อย่างน้อยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ อาจสร้างประโยชน์ทั้งทางการเงินและสิ่งแวดล้อม และหากผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ จะไม่ตัดพุ่มไม้ตลอดไปแม้หลังปลดมาตรการแล้วก็ยิ่งน่ายินดี

แต่การมีประชากร ผึ้งป่า มากไม่ได้หมายความว่าจะเก็บน้ำ ผึ้ง ได้มาก เพราะผู้เลี้ยง ผึ้ง และเกษตรกรที่พึ่งพาพืชผสมเกสรยังคงต้องดิ้นรนเพราะมาตรการจำกัดการเดินทาง

ธรรมชาติฟื้นตัว ทะเลกระบี่ฟื้นตัวเกือบสมบูรณ์

เจฟฟ์ เพ็ตทิส (Jeff Pettis) ประธาน Apimondia สหพันธ์ผู้เลี้ยงผึ้งนานาชาติ กล่าวว่า ผู้เลี้ยงผึ้ง เชิงพาณิชย์ในแคนาดาและประเทศในยุโรปหลายแห่งพึ่งพาแรงงานตามฤดูกาลและการนำเข้า ผึ้งราชินี จากทั่วโลก เพื่อเติมเต็มอาณานิคมของพวกมัน ยกตัวอย่างเช่น อังกฤษได้รับ ผึ้งราชินี จากประเทศอิตาลีจำนวนมาก โดยปกติแล้ว ผึ้ง จะถูกขนส่งทางเครื่องบิน แต่เนื่องจากมีคำสั่งห้ามบินในหลายประเทศ พวกมันจะถูกขนส่งมาทางบกแทน

“หาก คนเลี้ยงผึ้ง ไม่สามารถหาแรงงานทำ น้ำผึ้ง ได้มากพอ อาณานิคมจะเกิดความแออัด” เขากล่าว นั่นหมายความว่าผึ้งจะแยกกันไปสร้างอาณานิคมใหม่เพิ่มเติม ทำให้การจัดการเป็นไปได้ยากสำหรับ ผู้เลี้ยงผึ้ง

สิ่งนี้อาจมีผลกระทบร้ายแรงต่อเกษตรกรผู้เพาะปลูก เนื่องจากบางรายต้องพึ่งพาการผสมเกสรจาก ผึ้ง กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ รายงานว่า ทุกปีในสหรัฐอเมริกา ผึ้งผสมเกสรให้กับผลิตผลรวมประมาณ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.8 แสนล้านบาท)

ตัวอย่างเช่น การปลูกอัลมอนด์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย จำเป็นต้องมีอาณานิคม ผึ้ง มากกว่า 2 ล้านตัว ต้นอัลมอนด์จะออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม และในเดือนเมษายนจะมีการย้าย ผึ้ง ผสมเกสรเชิงพาณิชย์ไปยังส่วนอื่น ๆ ของประเทศเพื่อผสมเกสรพืชต่าง ๆ แต่ในปีนี้คาดว่าใช้เวลานานกว่าเดิม เนื่องจากมีคนขับรถบางคนได้รับคำสั่งให้กักกันตัวเองเป็นเวลา 14 วันเมื่อข้ามพรมแดนระหว่างรัฐ

การเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่เพอร์กินส์คาดว่าจะเกิดขึ้นคือการกันระหว่างผู้คนกับธรรมชาติ “มนุษย์เราเริ่มตระหนักแล้วว่า สุขภาพจิตและความเป็นอยู่ของพวกเราได้รับการสนับสนุนจากธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผึ้ง ฉันหวังว่าพวกมันจะยังคงอยู่หลังจากการปลดมาตรการล็อกดาวน์”

ธรรมชาติฟื้นตัว สเปนพบหมีสีน้ำตาล ครั้งแรกในรอบ 150 ปี

เรียบเรียงจาก BBC

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ