"เรียนออนไลน์" สะท้อนเหลื่อมล้ำ? กับทางออก “การศึกษาไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




พูดคุยกับนักวิจัยด้านการศึกษา หาคำตอบว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบอะไรบ้างกับภาคการศึกษาของไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกแวดวงในสังคม รวมไปถึง “การศึกษา” ซึ่งในหลายประเทศมีการปิดโรงเรียน หรือ เลื่อนเปิดเทอม ออกไป

การศึกษาฟินแลนด์แทบไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ประกาศ เลื่อนเปิดเทอม ต้นปีการศึกษา 2563 ออกไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จนทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า จะให้เด็กนักเรียนเรียนติดต่อกัน 2 ภาคการศึกษาโดยไม่มีวันพักระหว่างภาคการศึกษาเลยหรือ ด้วยหวั่นผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเด็ก

ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดเผยว่า การเรียนการสอนจะแบ่งออกเป็น 2 เทอม ภาคเรียนที่ 1 เปิด 1 ก.ค. – 13 พ.ย. ปิดภาคเรียน 17 วัน ภาคเรียนที่ 2 เปิด 1 ธ.ค. – 9 เม.ย. ปิดภาคเรียน 37 วัน รวมทั้งสิ้น 54 วัน

ทำความเข้าใจ “การศึกษาทางไกลในช่วงโควิด-19” ก่อนเริ่มเรียน 18 พ.ค. 63 นี้

อย่างไรก็ตาม นิวมีเดีย PPTVHD36 ได้พูดคุยกับ คุณพงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยด้านการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในประเด็นเกี่ยวกับการศึกษาของประเทศไทยว่า “การศึกษาไทย จะเป็นอย่างไร” ในช่วงที่โควิด-19 ยังคงระบาดและยังไม่มีชาติใดคิดค้นวัคซีนเป็นผลสำเร็จ

คุณพงศ์ทัศ มองว่า กำหนดการใหม่ที่ประกาศออกมานี้ นับเป็นความท้าทายที่มีต่อระบบการศึกษาไทยเป็นอย่างยิ่ง “เดิมแต่ละภาคเรียน เรียนเทอมละ 100 วัน กำหนดการใหม่ทำให้ภาคเรียนที่ 1 มีเวลาเรียน 93 วัน ภาคเรียนที่ 2 เรียน 88 วัน หักวันหยุดทั้งหมดแล้วลดลง

ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายของโรงเรียนว่าไทยมีการเรียนการสอนมาก ตามหลักสูตรแกนกลาง ประถม เรียน 1,000 ชั่วโมงต่อปี ม.ต้น 1,200 ชั่วโมงต่อปี ความท้าทายแรกคือ จะทำยังไงให้มีการเรียนการสอนได้ครบถ้วนตามหลักสูตร ทั้งที่เวลาสอนน้อยลง

ส่วนความท้าทายที่สอง คือ ในบางพื้นที่ที่มีการระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก บางโรงเรียนอาจเปิดไม่ได้แม้ถึงกำหนดวันที่ 1 ก.ค. ก็ตาม ส่งผลให้ครูต้องเปลี่ยนวิธีสอน ทำให้อาจจะยากที่จะสอนได้ครบตามหลักสูตร

“ ตอนนี้ เลื่อนเปิดเทอม มีเวลาพักแล้ว ไม่ได้ยิงยาว เราอาจจะแก้ถูกจุด ลดการปฏิสัมพันธ์ ลดการระบาด มีเวลาเตรียมตัว แต่ต้องดูประกอบด้วยว่า กระทรวงศึกษาธิการ หรือหน่วยงานต้นสังกัด จะมีระบบการสนับสนุนโรงเรียนยังไงให้สอนได้ตามตัวชี้วัดนั้น” นักวิจัยด้านการศึกษากล่าว

“หมอยง” แนะเตรียมมาตรการเปิดเทอมอย่างดี หวั่นเชื้อโควิด-19 ระบาด

ควรเปิดโรงเรียน?

คุณพงศ์ทัศ อธิบายให้ฟังว่า ถ้ายังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไป นักเรียนอาจไม่ได้เรียนครบตามหลักสูตร ความเป็นไปได้ที่จะเกิดคือ ภาพรวมการศึกษาจะลดลงไป

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ ความเหลื่อมล้ำ อันเป็นสิ่งที่นักวิชาการเคยมองว่า จะเป็น New Normal ในภาคการศึกษา

หนูน้อยทุบกระปุกซื้อโทรศัพท์มือถือ เรียนออนไลน์

คุณพงศ์ทัศ  บอกว่า ความเสี่ยงที่เด็กซึ่งมีฐานะยากจน ซึ่งผู้ปกครองหรือครอบครัวไม่มีรายได้มากพอจะสนับสนุนเพิ่มเติม อาจจะเสียเปรียบเมื่อเทียบกับครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี และหากไม่ได้รับการดูแลอย่างดี อาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งจะส่งผลกระทบในระยะยาวกับตัวเด็กค่อนข้างมาก

“ประเด็นสำคัญของการศึกษาในช่วงโควิดคือ ควรทำให้เด็กสามารถกลับมาเรียนในโรงเรียนได้เร็วที่สุด เพื่อรับประกันว่าเด็กมีโอกาสทางการศึกษา หากบางพื้นที่ระบาดไม่หนัก พบผู้ป่วยประปรายหรือไม่พบเลยใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา อาจพิจารณาเปิดเรียนได้ แต่เปิดแล้วไม่ใช่มาโรงเรียนเหมือนเดิมเฉย ๆ ต้องมีมาตรการสาธารณสุข การเว้นระยะห่างทางสังคม” คุณพงศ์ทัสกล่าว

ผลกระทบจากการการเรียนทางไกล

โรงเรียนที่จะเปิดเรียนได้ นักวิจัยด้านการศึกษากล่าวว่า “ห้องเรียนต้องมีความพร้อม ต้องใหญ่พอ สามารถเว้นระยะห่างทางสังคมในโรงเรียนได้ทุกคน ส่วนโรงเรียนที่ไม่สามารถจัดห้องเรียนได้ อาจจะต้องแบ่งกลุ่มมาเรียน เช่น ให้เด็กเล็ก เด็กอนุบาล หรือเด็กช่วงชั้นที่ 1 ป.1-3 มาเรียนที่โรงเรียน ส่วนเด็ก ป.4 ขึ้นไปอาจจะเรียนที่บ้าน มัธยม แบ่ง 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ต้องดูแลพิเศษ จากคะแนนหรือพฤติกรรม เอาเด็กเสี่ยงมาเรียนโรงเรียน เด็กที่พร้อม เรียนดี ประพฤติดี เรียนบ้าน รอให้สถานการณ์ดีขึ้นกลับมาที่โรงเรียนเหมือนเดิม”

คุณพงศ์ทัศวิเคราะห์ว่า การเรียนทางไกลมีผลกับเด็กตั้งแต่ ป.3 ลงมา เพราะเป็นช่วงวัยที่ต้องการการดูแลจากครูมากกว่าเด็กโต ถ้าโรงเรียนเปิดไม่ได้ ก็อาจต้องเอาใจใส่เด็กเล็กมากเป็นพิเศษ หรือถ้าเปิดได้บางส่วน ก็ควรนำเด็กกลุ่มนี้มาเรียนที่โรงเรียน ส่วนเด็กโตสามารถเรียนอยู่ที่บ้านได้

เปิดตารางสอนผ่านทีวีดิจิตอล แนะ เรียนออนไลน์เน็ตล่มให้ชมย้อนหลัง

โดยผลกระทบทางลบอาจเกิดขึ้นกับเด็กเล็กได้แก่ พัฒนาการไม่สมวัย อาจมีสุขภาพทางสายตาจากการจ้องจอเป็นเวลานาน “ยิ่งเด็กเล็กยิ่งได้รับผลกระทบเยอะกว่า ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ผลเสียที่จะเกิด นอกจากคุณภาพการศึกษากับโอกาสทางการศึกษา ยังมีหลายประเด็น เช่น โภชนาการ เดิมโรงเรียนรัฐของไทยจัดหาอาหารกลางวัน นม ให้เด็กที่มาเรียน การปิดโรงเรียนหมายความว่าต้องไปกินที่บ้าน ซึ่งครอบครัวอาจได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ฉะนั้นการดูแลโภชนาการมีแนวโน้มลดลง และอาจมีความรุนแรงในครอบครัว บทเรียนจากจีน พบว่าช่วงล็อกดาวน์ที่ทุกคนต้องอยู่บ้าน มีความรุนแรงในครัวเรือนสูงขึ้น ส่วนไทยช่วงน้ำท่วมปี 2554 มีผลกระทบทางเศรษฐกิจเหมือนกัน ทุกคนอยู่บ้าน ก็พบว่า ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ”

ภาพรวมการศึกษาไทยในช่วง โควิด-19 โดยสรุปคือ คือ “ความเสี่ยงด้านคุณภาพการศึกษา เพราะผู้ปกครองอาจมีความเชี่ยวชาญไม่เท่าครู, โอกาสทางการศึกษา ครอบครัวใดมีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่า ก็มีโอกาสที่จะเข้าไม่ถึง การศึกษาแบบออนไลน์ , โภชนาการ อาหารที่บ้านอาจไม่สมบูรณ์เท่าเมื่ออยู่ที่โรงเรียน และความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งอาจเกิดจากความเครียดของสมาชิกในบ้าน ดังนั้น ควรผลักดันให้เปิดโรงเรียนเร็วที่สุด”

แพทย์จุฬาฯเร่งวิจัยวัคซีน โควิด-19 คาดได้ใช้เร็วสุด ต.ค.64

โควิด-19 ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย

คุณพงศ์ทัศ เผยว่า ในกรณีที่โรงเรียนต้องปิด เด็กต้องเรียนที่บ้าน กรณีนี้ เด็กอาจจะไม่สามารถเข้าถึงการเรียนทางไกลได้ทุกคน เพราะการเรียนทางไกลเป็นการผลักภาระการเรียนการสอนที่โรงเรียนไปให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่บ้าน ซึ่งหากเป็นครอบครัวที่ไม่มีความพร้อม ทำให้การเรียนทางไกลอาจเป็นการส่งเสริม “ความเหลื่อมล้ำในสังคม” ด้วยอีกเช่นกัน

“ถ้าดูจากข้อมูลพื้นฐาน ครัวเรือนไม่ได้มีความพร้อมเรียนทางไกลทั้งหมด กลุ่มที่ 1 จะมีเด็กกลุ่มที่บ้านมีไฟฟ้า มีอุปกรณ์เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่เข้าถึงไฟฟ้าได้ แต่ไม่มีอุปกรณ์ดิจิทัล คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และกลุ่มที่ 3 ซึ่งมีความเสี่ยงสูง คือกลุ่มที่บ้านไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ซึ่งจากสถิติของกระทรวงศึกษาธิการ เด็กกลุ่มสุดท้ายนี้มีอยู่ราว 8 หมื่นคน”

 แม่เครียด โดนพิษ โควิด-19 ไม่มีเงินจ่าย ค่าเทอม ลูกไม่ได้ เรียนออนไลน์

นักวิจัยจาก TDRI มองว่า กระทรวงศึกษาหรือหน่วยงานต้นสังกัดสามารถเตรียมความพร้อมตรงนี้ได้ โดยหน่วยงานต้องประเมินและจำแนกเด็กเป็น 3 กลุ่มดังกล่าว เมื่อแบ่งเสร็จ กลุ่มที่ 1 สามารถรองรับการ เรียนออนไลน์ ได้ กลุ่มที่ 2 อาจต้องจัดสรรอุปกรณ์ให้ยืมเรียน ส่วนกลุ่มที่ 3 กระทรวงศึกษาธิการหรือต้นสังกัด ต้องเตรียมสื่อแห้ง ชุดการเรียนรู้ให้เด็กไปทำที่บ้าน

ศธ. ยัน ปีการศึกษา 63 มีปิดเทอมรวม 54 วัน ย้ำ รร.พื้นที่ปลอดภัย เปิดปกติ 1 ก.ค.นี้

“การแจกอุปกรณ์มีบทเรียนสมัยปี 53-54 ที่น้ำท่วม ทำให้รู้ว่าจริง ๆ เด็กมีข้อจำกัดในการใช้อุปกรณ์เหมือนกัน ถ้าแจกโดยไม่ติดตามหรือให้ความรู้การใช้งาน จะทำให้เกิดความเสียหาย อาจมีความพร้อมระดับหนึ่ง ที่ท้าทายกว่าคือ กลุ่มที่ 3 เพราะเป็นรูปแบบของการจัดทำสื่อแห้ง และผู้ปกครองสำคัญมาก ต้องดูแลการเรียนของเด็ก ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ คิดว่าด้านการดูแลเด็กกลุ่มที่ 3 อาจต้องมีการเตรียมตัวที่มากกว่ากลุ่มอื่น”

เมื่อถามคุณพงศ์ทัศว่า โควิด-19 ทำให้เรามองเห็นภาพความเหลื่อมล้ำชัดขึ้นหรือไม่ คุณพงศ์ทัศจึงขอยกคำกล่าวของ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า

“โควิดเป็นการทดลองทางธรรมชาติ ธรรมชาติหยอดโควิด-19 ที่เท่าเทียมกันให้ทุกชนชั้น แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาเห็นเลยว่าเกิดความเหลื่อมล้ำ รวยจนได้รับผลจาก โควิด-19 หมด แต่หากมีฐานะดี ก็อาจมีทรัพยากรมากพอจะดูแลการศึกษาดูแลโภชนาการเด็ก มีครอบครัวที่อบอุ่น เด็กมีพัฒนาการได้ แต่หากฐานะยากจน อาจไม่มีทรัพยากรที่จะไปดูแลการศึกษาลูกเพิ่มเติม ดูแลอาหารไม่ได้ อาจเกิดความเครียดที่นำไปสู่เกิดความรุนแรง ดังนั้นใช่เลย โควิด-19 ทำให้เรามองเห็นความเหลื่อมล้ำ”

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ