อนุรักษ์เต่าในวันเต่าโลก ได้ง่าย ๆ เพียงงดทำบุญปล่อย “เต่านา”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันเต่าโลก ตรงกับวันที่ 23 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อเพิ่มพูนความรู้และสำนึกที่ผู้คนมีต่อเต่าบกและเต่าทะเล

วันที่ 23 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันเต่าโลก (World Turtle Day) ริเริ่มโดยองค์กรอนุรักษ์และช่วยเหลือเต่าบกและเต่าทะเล American Tortoise Rescue ในสหรัฐอเมริกา สำหรับเป็นโอกาสในการให้ความรู้เกี่ยวกับเต่า สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนให้ร่วมกันอนุรักษ์เต่า เนื่องจากปริมาณประชากรเต่ามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

พังงาจัดงานประเพณีอนุรักษ์เต่าทะเล

ภาพที่เห็นได้ชัดที่สุดคือความพยายามในการอนุรักษ์เต่าทะเลไทย ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 5 ชนิด คือ เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า เต่าหัวค้อน และเต่ามะเฟือง

สุดปัง! รอยแม่เต่ามะเฟืองยักษ์ ขึ้นวางไข่หาดบางขวัญ รังที่ 12 ลุ้นทำลายสถิติ

แต่ในประเทศไทยพบการวางไข่ของเต่าทะเลเพียง 4 ชนิด ได้แก่ เต่ามะเฟืองและเต่าหญ้า ซึ่งพบวางไข่เฉพาะชายหาดบนแผ่นดินใหญ่ของฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ส้าหรับเต่าตนุและเต่ากระมักพบวางไข่บนชายหาดของเกาะต่างๆ ทั้งบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

แต่สถิติการลดลงของเต่าทะเลก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุหลักจากการติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ ปัญหาการลักลอบเก็บไข่เต่า พื้นที่วางไข่และหากินของเต่าทะเลที่ลดลงจากการพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่ง สถิติการวางไข่เต่าทะเลลดลงเหลือเพียง 1 ใน 5 ส่วน ภายในระยะเวลา 60 ปีเท่านั้น

ในประเทศไทยเรามักเห็นข่าวการอนุรักษ์เต่าทะเลเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้บางคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่ในความเป็นจริง นอกจากเต่าทะเลแล้ว การอนุรักษ์เต่าบกก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีความเชื่อเรื่องการปล่อยเต่าแล้วจะได้บุญ แต่รู้หรือไม่ว่าการปล่อยเต่าบางชนิดลงแม่น้ำ แทนที่จะได้บุญ จะกลายเป็นได้บาปโดยไม่รู้ตัว

เต่านา” เป็นหนึ่งในเต่าหลายชนิดที่มักถูกจับนำมาขายในวัด เพื่อให้ “ผู้ใจบุญ” มาซื้อแล้วนำไปปล่อยในแม่น้ำ เพราะมีความเชื่อว่า การปล่อยเต่าจะมีอานิสงส์ให้ผู้ปล่อยอายุยืนยาว

แต่เต่าตัวนั้นอาจอายุไม่ยืน

เราจะพูดถึง “เต่านา” เป็นเต่าบกที่มีลักษณะจําเพาะคือ กระดองส่วนบนมีสันนูน 3 เส้น เห็นได้ชัดเจน และมีขอบเรียบ หัวใหญ่ และมีลายเส้นสีเหลืองหรือสีขาว กระดองส่วนบนมี สีนํ้าตาล และขอบสีครีมหรือสีเหลือง กระดองส่วนล่างมีสีเหลือง และแต้มสีดําบนแผ่นเกล็ด

เต่านามักพบได้บริเวณที่ราบตํ่าทั่วประเทศไทย และพบที่อินโดจีน มาเลเซีย และ ชวา กินสัตว์เป็นอาหาร จำพวกหอยนํ้าจืด กุ้ง และบางครั้งกินหอยสองฝาขนาดเล็ก

เต่านาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ยังมีการซื้อขายกันในตลาดสด เพื่อนำไปปล่อย แต่ในความจริงแล้ว เต่านาที่ถูกปล่อยตามวัดมีโอกาสตายสูงมาก เพราะมักอาศัยอยู่ในแหล่งนํ้า บริเวณที่มีพืชปกคลุมหนาแน่น แหล่งนํ้าจืดที่ไหลช้า หรือนํ้านิ่ง แหล่งนํ้าตื้นบริเวณที่ราบตํ่า เช่น หนองนํ้า คูคลองที่ขุดลอก และทุ่งนาที่มีนํ้าท่วมขัง ไม่ใช่ในแม่น้ำที่มีกระแสน้ำรุนแรงและลึก

เต่านามีความสำคัญในระบบนิเวศเช่นเดียวกับสัตว์อื่น คือเพื่อควบคุมปริมาณประชากรของสัตว์ที่เป็นอาหาร หากไม่มีเต่านา ระบบนิเวศอาจเสียสมดุลได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในท้ายที่สุด

นอกจากนี้ เต่านายังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 การค้าสัตว์ป่าคุ้มครองมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้นแล้ว หากอยากได้บุญจริง ๆ เราควรงดปล่อยเต่านา รวมถึงเต่าบกชนิดอื่น ๆ ลงแม่น้ำ เพราะไม่ใช่เต่าทุกชนิดที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในแม่น้ำลึก ทั้งนี้ เพื่ออนุรักษ์เต่านาให้คงอยู่ในระบบนิเวศ รักษาสมดุลให้ธรรมชาติต่อไป และอีกทาง ยังทำให้เราไม่ต้องติดคุกหัวโตฐานค้าสัตว์ป่าคุ้มครองอีกด้วย

เพียงเราเรียนรู้และเข้าใจวิถีชีวิตของสัตว์อื่นโดยไม่ไปเบียดเบียนรบกวน ก็ถือว่าเป็นการทำบุญทางหนึ่งแล้ว

ดังนั้น วันเต่าโลก 2563 นี้ หากคุณกำลังรู้สึกว่าการอนุรักษ์เต่าเป็นเรื่องยาก ก็ขอเพียงร่วมกันงดปล่อยเต่า เท่านี้ก็เป็นแนวทางง่าย ๆ ในการอนุรักษ์เต่าในธรรมชาติแล้ว

 

ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ