1 สัปดาห์แห่งความโกรธแค้น เกิดอะไรขึ้นบ้างในคดี “จอร์จ ฟลอยด์”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นิวมีเดีย PPTVHD36 ไล่ลำดับเหตุการณ์ที่เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ในรอบหลายปีของสหรัฐอเมริกา หลังการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์

25 เมืองใหญ่ทั่วสหรัฐฯ ประกาศเคอร์ฟิว คุมประท้วง “จอร์จ ฟลอยด์” หลังเริ่มบานปลาย

จอร์จ ฟลอยด์” (George Floyd) เป็นหนุ่มแอฟริกัน-อเมริกัน อายุ 46 ปี เป็นคุณพ่อลูกสอง เกิดและโตที่รัฐเท็กซัส เคยเรียนที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์ไอ โดยเขาเป็นนักกีฬาฟุตบอลและนักบาสเกตบอลมหาวิทยาลัย

ในปี 2550 ฟลอยด์ถูกจับในข้อหาปล้นทรัพย์ และในปี 2552 เขาถูกตัดสินจำคุก 5 ปี เมื่อพ้นโทษออกมาในปี 2557 ฟลอยด์ก็ย้ายจากเท็กซัสมาอยู่ที่เมืองมินนิอาโปลิส (Minneapolis) รัฐมินนิโซตา (Minnesota) เพื่อหางานทำ และเริ่มต้นชีวิตใหม่

ฟลอยด์ทำงานถึง 2 อย่างในเวลาเดียวกัน ทั้งขับรถบรรทุกและเป็นการ์ดของบาร์แห่งหนึ่ง ด้วยความสูง 200 ซม. ทำให้คนที่นี่เรียกเขาว่า "บิ๊กฟลอยด์" แต่เมื่อโควิด-19 ระบาด บาร์และธุรกิจหลายอย่างต้องหยุดชะงัก ฟลอยด์ก็พลอยตกงานไปด้วย

 

วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม 2563

จอร์จ ฟลอยด์ ตกเป็นผู้ต้องสงสัยใช้ธนบัตรปลอมในการซื้อสินค้า นายตำรวจ เดเร็ก ชอวิน (Derek Chauvin) จึงเข้าควบคุมตัวด้วยการใส่กุญแจมือ และตรึงฟลอยด์ไว้กับพื้นโดยใช้เข่ากดไว้ที่คอของฟลอยด์เป็นเวลานาน 8 นาที 46 วินาที จากบันทึกวิดีโอโดยผู้ที่อยู่ละแวกนั้น ได้ยินเสียงฟลอยด์พูดซ้ำ ๆ ว่า “ผมหายใจไม่ออก (I can’t breath)” ในที่สุด ฟลอยด์ก็หมดสติ และเสียชีวิตก่อนที่จะไปถึงโรงพยาบาล

การจับกุมฟลอยด์ที่เกินกว่าเหตุครั้งนี้ ยังมีนายตำรวจอีก 3 นายร่วมการจับกุมด้วย ได้แก่ เถา เต้า (Tou Thao) เจ. อเล็กซานเดอร์ คูเอง (J. Alexander Kueng) และ โทมัส เค. เลน (Thomas K. Lane)

วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม 2563

วิดีโอดังกล่าวถูกแชร์อย่างกว้างขวางบนโซเชียลมีเดีย เมดาเรีย อาร์ราดอนโด (Medaria Arradondo) หัวหน้าตำรวจมินนิอาโปลิส ได้ไล่นายตำรวจทั้ง 4 ที่เกี่ยวข้องในการจับกุมฟลอยด์ออก และยังเรียกร้องให้ FBI ทำการสืบสวน หลังจากวิดีโอของผู้ที่เห็นเหตุการณ์แสดงให้เห็นว่า สำนวนคดีที่ถูกส่งมาแตกต่างจากภาพในคลิปหลักฐาน

คืนวันเดียวกันนี้ ผู้ประท้วงหลายร้อยคนหลั่งไหลเข้ามาในถนนเมืองมินนิอาโปลิส ผู้ประท้วงบางคนไปล้อมบ้านของเจ้าหน้าที่ทั้ง 4 นาย ในขณะที่ผู้ประท้วงอีกส่วนไปที่สถานีตำรวจ ขว้างปาก้อนหินใส่ พ่นสีวาดกราฟฟิตีลงบนรถตำรวจ และจุดไฟเผาอาคารร้างใกล้สถานี

 

วันพุธที่ 27 พฤษภาคม 2563

การประท้วงเกิดขึ้นในหลายเมือง เช่น เมมฟิส ลอสแอนเจลิส จนเจ้าหน้าที่ต้องใช้แก๊สน้ำตา และยิงกระสุนยางใส่ฝูงชน ธุรกิจบางแห่ง รวมถึงร้านอาหาร และร้านอะไหล่รถยนต์ ถูกจุดไฟ มีมิจฉาชีพอาศัยช่วงชุลมุน เข้าไปขโมยทรัพย์สินจากร้านค้าต่าง ๆ เกิดเหตุจลาจล

เกิดแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องในโลกออนไลน์ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ฟลอยด์ อาทิ #JusticeForGeorgeFloyd (ความยุติธรรมเพื่อจอร์จ ฟลอยด์), #icantbreathe (ผมหายใจไม่ออก) และ #BlackLivesMatter (ชีวิตคนดำก็มีค่า)

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2563

การประท้วงยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขยายลุกลามไปเรื่อย ๆ ทิม วอลซ์ (Tim Walz) ผู้ว่าการรัฐมินนิโซตา ประกาศเรียกพลกองกำลังพิทักษ์ชาติ (National Guard) เข้าควบคุมสถานการณ์

ด้าน เจคอบ เฟรย์ (Jacob Frey) นายกเทศมนตรีเมืองมินนอาโปลิส ทวีตข้อความลงบนทวิตเตอร์ เรียกร้องให้เกิดความสงบ และกล่าวว่าจะ “พยายามฟื้นฟูสันติภาพและความมั่นคงกลับมา”

ด้าน อาร์ราดอนโด หัวหน้าตำรวจมินนิอาโปลิส ได้ออกมาขอโทษ และแสดงความเสียใจกับครอบครัวของฟลอยด์

“ผมเสียใจอย่างยิ่งกับความเจ็บปวด ความสูญเสีย และความเจ็บปวด ที่เกิดขึ้นกับครอบครัว คนที่เขารัก และสังคมของเรา”

หลายเมืองสหรัฐฯ ประกาศ “เคอร์ฟิว”คุมเหตุประท้วงผิวสี

 

วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม 2563

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยื่นคำขาดให้ผู้ประท้วงในมินนิอาโปลิส และเสนอว่าทหารสามารถใช้กำลังติดอาวุธเพื่อปราบปรามการจลาจลได้ บนทวิตเตอร์ส่วนตัว ทรัมป์เรียกผู้ประท้วงว่าเป็น “อันธพาล” และกล่าวว่า “ปล้นเมื่อไหร่ ยิงเมื่อนั้น”

ในช่วงกลางคืน ของวันเดียวกัน มีการการประท้วงปะทุขึ้นทั่วประเทศ ผู้ประท้วงหลายร้อยคนหลั่งไหลเข้ามาตามถนนใกล้กับเซนเทนเนียลโอลิมปิกพาร์กในแอตแลนตา (Atlanta) ทุบทำลายหน้าต่าง บางคนปีนขึ้นไปบนป้ายของสื่อชื่ดังอย่าง CNN แล้วพ่นข้อความสีไว้

คืนนั้นผู้ประท้วงยังปะทะกับตำรวจทั่วบรูกลิน และแมนฮัตตัน ทำให้เจ้าหน้าที่และผู้ประท้วงหลายคนได้รับบาดเจ็บ บางคนขว้างขวดและขยะไปที่เจ้าหน้าที่ ซึ่งก็ตอบโต้ด้วยการพ่นสเปรย์พริกไทย และเข้าจับกุม

ในวอชิงตัน ฝูงชนรวมตัวกันอยู่ด้านนอกทำเนียบขาว

ในดีทรอยต์ ชายอายุ 19 ปีถูกสังหาร หลังมีคนเปิดฉากยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง

ในดัลลัส ผู้ประท้วง และตำรวจปะทะกันบริเวณศาลากลาง เจ้าหน้าที่ตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตา หลังจากผู้ประท้วงปิดกั้นเส้นทางของรถตำรวจ และกระแทกกระโปรงรถ

ด้านอดีตนายตำรวจชอวิน ถูกจับกุมในข้อหาฆาตกรรมระดับ 3 ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ชอวินได้รับโทษมากกว่านั้น นอกจากนี้ ผู้ประท้วงต้องการให้อดีตนายตำรวจอีก 3 คนได้รับโทษด้วย

ภายใต้กฎหมายของรัฐมินนิโซตา การฆาตกรรมระดับ 3 นั้น หมายถึงทำให้บุคคลถึงแก่ความตาย โดยไม่ได้คำนึงถึงชีวิต และไม่มีเจตนาฆ่า

ความผิดระดับดังกล่าว มีโทษจำคุกไม่เกิน 25 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.27 ล้านบาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ

วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม 2563

นายกเทศมนตรีเฟรย์เรียกร้องให้คนอยู่บ้านอีกครั้งและประณามการใช้ความรุนแรง “จากการประท้วงอย่างสันติเพื่อ จอร์จ ฟลอยด์ ได้กลายเป็นการปล้นทรัพย์สินและการก่อการร้ายภายในประเทศ”

นอกจากนี้ มีเหตุรถตำรวจวิ่งตรงเข้าใส่ฝูงคนที่กำลังประท้วง ทำให้เกิดความไม่พอใจว่า ตำรวจมีเจตนาจะสังหารผู้ประท้วงหรือไม่

 

วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม 2563

เกิดเหตุรถบรรทุกพุ่งเข้าใส่ฝูงชนท่ามกลางความวุ่นวาย

ข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค 63 มีประชาชนอย่างน้อย 5 คน เสียชีวิตในช่วงที่เกิดการประท้วง

  • ในอินเดียนาโปลิส มี 1 คนถูกฆ่าตาย และอีก 3 คนได้รับบาดเจ็บหลังจากมีการยิงใส่ผู้ประท้วง
  • ในเซนต์หลุยส์ มีชายคนหนึ่งถูกฆ่าตายหลังจากผู้ประท้วงจุดไฟเผาพื้นที่ละแวกนั้น และพยายามปล้นรถบรรทุกของ FedEx
  • ในชิคาโกมีคนถูกยิง  6 คนและอีก 1 ถูกฆ่าตาย

เจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนการยิงที่รุนแรงเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่

ขณะนี้ มีอย่างน้อย 30 เมืองในสหรัฐอเมริกาที่เกิดการประท้วง มีอย่างน้อย 25 เมืองที่ประกาศเคอร์ฟิวเพื่อควบคุมการประท้วง ด้านนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยียวยารับผิดชอบต่อการตายของ จอร์จ ฟลอยด์ แต่ยืนยันว่าจะไม่ปล่อยให้ม็อบออกมาก่อความวุ่นวาย

ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา (2556-2562) เกิดคดีตำรวจทำให้ผู้ต้องสงสัยถึงแก่ความตายในสหรัฐอเมริกาเกือบ 7,700 คดี โดยผู้เสียชีวิตกว่า 2 ใน 3 เป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกัน

เปิดใจ! คนไทยในเมืองชิคาโก สหรัฐฯ ท่ามกลางเหตุประท้วง “จอร์จ ฟลอยด์”

เรียบเรียงจาก New York Times

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ