อีโบลาระบาดครั้งใหม่ ในคองโก แอฟริกา มีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




พบการระบาดของ โรคอีโบลาครั้งใหม่ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งเกิดขึ้นขณะที่การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังมีอยู่ โดยมีผู้เสียชีวิตและ 5 ราย และมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 9 ราย

รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ประกาศในวันนี้ (2 มิ.ย.63) ว่าการระบาดของโรคไวรัสอีโบลาครั้งใหม่ กำลังเกิดขึ้นที่เมือง Mbandaka และ Wangata

อัปเดตข่าว สถานการณ์ โควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุด 2 มิ.ย. 63

ครั้งนี้เป็นการระบาดครั้งที่ 11 ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หลังเชื้ออีโบลาถูกค้นพบในประเทศเมื่อปี พ.ศ.2519 และเมือง Mbandaka เคยเกิดการระบาดมาแล้วเมื่อครั้งที่ 9 ในปี พ.ศ.2561

องค์การอนามัยโลก (WHO) เฝ้าติดตามการแพร่ระบาดครั้งใหม่นี้ของ อีโบลา อย่างใกล้ชิด และเตรียมส่งทีมสนับสนุนเข้าไปช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่

ด้านนายเตดรอส อะดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO/ดับเบิลยูเอชโอ) ขึ้นข้อความในทวิตเตอร์ว่า  "การระบาดครั้งนี้เตือนเราว่า #โควิด19 ไม่ใช่ภัยคุกคามด้านสุขภาพอย่างเดียวที่มนุษย์กำลังเผชิญ"

คองโกพบผู้ติดเชื้ออิโบลาครั้งแรกในรอบ 3 ปี

องค์การอนามัยโลกประกาศอีโบลาเป็นภาวะฉุกเฉินระหว่างประเทศ

เรียบเรียงจาก องค์การอนามัยโลก (WHO)

 

ลักษณะของโรคไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease, EVD)

เดิมรู้จักกันในชื่อ โรคไข้เลือดออกอีโบลา (Ebola haemorrhagic fever) เป็นโรคร้ายแรง มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 90%
การระบาดของอีโบลา ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในหมู่บ้านห่างไกลแถบแอฟริกากลางและตะวันตก ใกล้กับพื้นที่ป่าเขตร้อน โดยไวรัสส่งผ่านจากสัตว์ป่าไปยังคนและแพร่กระจายในกลุ่มประชากรผ่านการถ่ายทอดให้กันโดยคน ค้างคาวผลไม้ในสกุล Pteropodidae เป็นสัตว์ฟักตัวหลักของไวรัสอีโบลา

อีโบลาติดได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับเลือด, สารคัดหลั่ง, อวัยวะ หรือของเหลวแบบอื่นๆ จากสัตว์ที่ติดเชื้อ ในแอฟริกามีหลักฐานว่า การติดเชื้อเกิดจากการเกี่ยวข้องสัมผัสกับชิมแปนซี, กอริลล่า, ค้างคาวผลไม้, ลิง, แอนทีโลปป่า (forest antelope) และเม่น ที่ป่วยหรือตาย หรืออยู่ในป่าฝน 

อีโบลาแพร่กระจายเข้าชุมชนผ่านการติดต่อจากคนสู่คน โดยการติดเชื้อเกิดจากการสัมผัสโดยตรง (ผ่านผิวหนังที่ถลอกหรือผ่านเยื่อบุ) กับเลือด, สารคัดหลั่ง, อวัยวะ หรือของเหลวอื่นๆ จากร่างกายของผู้ติดเชื้อ และผ่านการสัมผัสทางอ้อมจากสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนของเหลวเหล่านั้น พิธีฝังศพที่ผู้มาร่วมไว้อาลัยสัมผัสโดยตรงกับร่างกายของศพมีส่วนสำคัญในการแพร่กระจายของอีโบลาเช่นกัน ผู้ที่รอดชีวิตมาได้ยังคงความสามารถในการส่งผ่านเชื้อไวรัสทางน้ำเชื้อได้นานถึง 7 สัปดาห์ภายหลังจากหายจากโรคแล้ว

มีรายงานการติดเชื้อในบุคลากรการแพทย์ขณะกำลังรักษาผู้ป่วยที่สงสัยหรือยืนยันว่าติดเชื้อแล้ว ซึ่งอาจเกิดจากการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยไม่ได้ควบคุมหรือระมัดระวังตัวตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด 

อาการป่วย 
อีโบลา เป็นโรคแบบเฉียบพลันและรุนแรง จากการมีไข้อย่างรวดเร็ว, การรู้สึกไม่สบายหรือร่างกายอ่อนแออย่างมาก, เจ็บปวดกล้ามเนื้อ, ปวดหัว และเจ็บคอหอย ตามมาด้วยการอาเจียน, ท้องเสีย, เกิดผื่น, ไตและตับล้มเหลว และในบางกรณีอาจพบการตกเลือดทั้งภายในและภายนอกร่างกาย การศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่า เซลล์เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดลดต่ำลง และมีเอนไซม์ตับเพิ่มมากขึ้น 

ผู้ที่ติดเชื้อนั้นตราบใดที่ยังมีไวรัสและสารคัดหลั่งอยู่ในตัว พบว่าก็ยังสามารถแพร่เชื้อได้ ดังกรณีตัวอย่างของชายคนหนึ่งที่ติดเชื้อในห้องปฏิบัติการ ยังพบไวรัสอีโบลาได้จากน้ำเชื้อ 61 วันหลังจากเริ่มป่วย 

ช่วงระยะฟักตัว (ช่วงเวลาหลังจากติดเชื้อไวรัสจนเริ่มมีอาการ) อยู่ที่ 2-21 วัน  

 

เรียบเรียงจาก : เอกสารความรู้เกี่ยวกับโรคไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease) ขององค์การอนามัยโลก

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ