ย้อนรอย “อีโบลา” ระบาด ซ้ำเติมโควิด-19 และโรคหัดในคองโก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ไวรัสอีโบลาระบาดในคองโกเป็นครั้งที่ 11 ขณะที่การรระบาดในครั้งที่ 10 ก็ยังไม่สิ้นสุดลง และโควิด-19 กับโรคหัดก็ยังคงแพร่ระบาดอยู่เช่นกัน

รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ประกาศเมื่อวาน (2 มิ.ย.63) ว่า พบการระบาดของโรคไวรัสอีโบลาครั้งใหม่ที่เมือง Mbandaka และ Wangata โดยมีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย และมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 9 ราย

อัปเดตข่าว สถานการณ์ โควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุด 3 มิ.ย. 63

อัปเดตข่าวสถานการณ์ โควิด-19 (COVID-19) ล่าสุด 3 มิ.ย. 63

อีโบลาระบาดครั้งใหม่ ในคองโก แอฟริกา มีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย

โรคอีโบลา เกิดจากสาเหตุใด?

มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสอีโบลาซึ่งเป็นตระกูล Filoviridae EVD พบการระบาดครั้งแรกในลักษณะของไข้เลือดออกชนิดหนึ่งซึ่งในขณะนั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ในหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำที่มีชื่อว่า "อีโบลา" ต่อมาพบว่าเกิดจากเชื้อไวรัส จึงตั้งชื่อไวรัสชนิดนี้ว่า "เชื้อไวรัสอีโบลา"

โรคอีโบลา เป็นโรคที่ติดต่อจากคนสู่คน (Human to Human Transmission) โดยการสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่ง เช่น ปัสสาวะ น้ำลาย เหงื่อ อุจจาระ อาเจียน น้ำนม หรือน้ำอสุจิ ของผู้ติดเชื้อ เชื้อจะแพร่กระจายได้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยต้องแสดงอาการของโรคออกมาให้เห็นแล้วเท่านั้น อาทิ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว หากอาการรุนแรง อาจมีเลือดออก ตาเหลืองตัวเหลือง การทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลว อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าเชื้ออีโบล่ายังสามารถอยู่ในสารคัดหลั่งบางอย่างได้นาน นอกจากนี้ยังเชื่อว่าสัตว์บางอย่างอาจเป็นรังโรค ได้แก่ ค้างคาวผลไม้ (Fruit Bat) หรือ ลิง เป็นต้น 

เชื้อไวรัสอีโบลามีทั้งหมด 6 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ตั้งชื่อตามสถานที่ที่เกิดการระบาด ได้แก่ อีโบลา-ซาร์อี (ZEBOV), อีโบลา-ซูดาน (SUDV), อีโบลา-โกตดิวัวร์ (TAFV), อีโบลา-เรสตัน (RESTV) อีโบลา-บันดิบูเกียว (BDBV) และสายพันธุ์ล่าสุดที่เพิ่งค้นพบเมื่อปี 2561 คือ อีโบลา-บอมบาลี (BOMV)

สำหรับการแพร่ระบาดในคองโก 9 ใน 10 ครั้งเป็นสายพันธุ์ ZEBOV ส่วนอีก 1 ครั้ง เป็นสายพันธุ์ BDBV แต่สำหรับครั้งที่ 11 นี้ ยังไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ใด

การประกาศครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 11 แล้วที่อีโบลาเข้าโจมตีคองโก นับตั้งแต่มีการค้นพบไวรัสชนิดนี้ครั้งแรกในคองโกเมื่อปี 2519 ซึ่งขณะนั้นคองโกยังเป็นประเทศซาอีร์ (Zaire) อยู่

ที่ผ่านมา อัตราการแพร่ระบาดและเสียชีวิตจากไวรัสอีโบลาในคองโกเป็นดังนี้

1. สิงหาคม 2519 เกิดที่หมู่บ้าน Yambuku ติดเชื้อ 318 ราย เสียชีวิต 280 ราย

2. พ.ค.-ก.ค. 2538 เกิดที่เมือง Kikwit ติดเชื้อ 315 ราย เสียชีวิต 254 ราย

3. ต.ค. 2544-ธ.ค. 2546 เกิดที่ Mbomo, Kelle และ Mbandza ติดเชื้อ 237 ราย เสียชีวิต 201 ราย

4. ส.ค.-พ.ย. 2550 เกิดที่ Kasai-Occidental ติดเชื้อ 264 ราย เสียชีวิต 187 ราย

5. ธ.ค. 2551–ก.พ. 2552 เกิดที่ Kasai-Occidental ติดเชื้อ 32 ราย เสียชีวิต 14 ราย

6. มิ.ย.-พ.ย. 2553 เกิดที่ Orientale ติดเชื้อ 77 ราย เสียชีวิต 36 ราย

7. ส.ค.-พ.ย. 2557 เกิดที่ Tshuapa ติดเชื้อ 66 ราย เสียชีวิต 49 ราย

8. พ.ค.-ก.ค. 2560 เกิดที่ Likati ติดเชื้อ 8 ราย เสียชีวิต 4 ราย

9. เม.ย.-ก.ค. 2561 เกิดที่ Bikoro ติดเชื้อ 54 ราย เสียชีวิต 33 ราย

10. ส.ค. 2561–ปัจจุบัน เกิดที่ Kivu ติดเชื้อราว 3,870 ราย เสียชีวิตราว 2,280 ราย กำลังอยู่ในช่วงนับถอยหลัง 42 วันนับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา หากไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเติม จะถือว่าสิ้นสุดการระบาด

นั่นหมายความว่า ณ ปัจจุบัน การระบาดของไวรัสอีโบลาในคองโกเกิดขึ้นถึง 2 ครั้งเลยทีเดียว

ส่วนการระบาดของไวรัสอีโบลาทั่วโลกนั้น เคยเกิดขึ้นทั้งหมด 21 ครั้ง ทั้งหมดเกิดในทวีปแฟริกา แต่ครั้งที่รุนแรงที่สุดคือการระบาดใน เซียร์ราลีโอน กินี และลิเบอเรีย ซึ่งมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 28,616 ราย เสียชีวิต 11,310 ราย และมีการแพร่ไปยังทวีปอื่นเล็กน้อยแต่ไม่รุนแรง

สำหรับไวรัสอีโบลา ในปัจจุบันโลกมีวัคซีนอีโบลาเพียงชนิดเดียวคือ rVSV-ZEBOV สำหรับป้องกันไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ ZEBOV เพียงสายพันธุ์เดียว และวัคซีนดังกล่าวเพิ่งได้รับการรับรองตามระเบียบที่ถูกต้องเมื่อปี 2562 นี้เอง นั่นหมายความว่า นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลากว่า 40 ปี จึงจะคิดค้นวัคซีนอีโบลาขึ้นมาได้เป็นผลสำเร็จ

ปัจจุบันหลายประเทศจึงอยู่ในช่วงของการผลิตและสต็อกวัคซีนไว้ใช้และส่งออก ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนอีโบลารวม 297,275 คน ทั้งนี้ยังมีปัญหาเรื่องของการแจกจ่ายวัคซีนให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง

จากสถิติที่ผ่านมา จะพบว่า อัตราการเสียชีวิตจากไวรัสอีโบลาในคองโกอยู่ที่ราว 66 % ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ในคองโก ซึ่งอยู่ที่ 2.25% แล้วนับว่าสูงกว่ามาก แต่ก็มีอัตราการติดเชื้อที่น้อยกว่าเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นอกจากไวรัสอีโบลาและโควิด-19 แล้ว คองโกก็กำลังเผชิญกับโรคหัดที่ระบาดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งปัจจุบันคองโกมีผู้ป่วยโรคหัดมากกว่า 369,520 ราย เสียชีวิต 6,779 ราย หรือคิดเป็น 1.83% รุนแรงน้อยกว่าอีโบลาและโควิด-19 แต่แพร่ระบาดมากกว่า

แอนน์-มารี คอนเนอร์ (Anne-Marie Connor) ผู้อำนวยการองค์กร World Vision ประจำคองโก กล่าวว่า “ภัยคุกคามที่ประดังประเดในคองโกทั้งหลายนี้ หมายถึงความตายและความหิวโหยสำหรับเด็กหลายล้านคนและครอบครัวของพวกเขา”

 

เรียบเรียงจาก AP, CDC, WHO

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ