เปิดข้อตกลง “โอนนักโทษ-จับผู้ร้าย” ตร.ไทย – กัมพูชา ข้อยกเว้น ส่งผู้ร้ายข้ามแดน!


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากปม "วันเฉลิม" กางข้อตกลง โปลิสกัมพูชา - ไทย ความร่วมมือจับผู้ร้าย โอนนักโทษ เปิดหลักเกณฑ์ ข้อห้าม ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

จากกรณีข่าวการหายตัวไปของ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ ต้าร์ อายุ 37 ปี นักเคลื่อนไหวและเรียกร้องสิทธิทางการเมือง ที่ญาติและคนใกล้ชิดเชื่อว่าถูกอุ้มตัวหายไปตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา ที่หน้าโรงแรมที่พัก ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ ผ่านไป 3 วัน นายวันเฉลิมยังขาดการติดต่อ ไม่ทราบชะตากรรม ขณะที่ตำรวจไทยและตำรวจกัมพูชา ต่างออกมาปฏิเสธไม่ทราบเรื่องการหายตัวไปของนายวันเฉลิม และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

เปิดระเบียบติดตามผู้ร้ายข้ามแดน ม.157 เข้าข่ายข้อหาสากล

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ระบุว่า ทราบว่านายวันเฉลิม เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ ในคดีความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และเมื่อปรากฏข้อมูลว่าหลบหนีไปประเทศเพื่อนบ้าน ได้ประสานตามกระบวนการที่ผู้ต้องหาตามหมายจับหนีไปต่างประเทศ

“ก็ไปดูเรื่องของ พ.ร.บ.ความร่วมมือทางคดีอาญา เรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน และการโอนตัวนักโทษกลับมา ในการประสานงานเราใช้ช่องทางตำรวจสากลประสานงานไปตามปกติ ซึ่งเป็นการประสานไว้นานแล้วตั้งแต่ทราบว่ามีการหลบหนี การดำเนินการในประเทศใดๆเป็นกิจการภายในประเทศนั้น”รองโฆษตร.กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2562 กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ระบุว่า ไทย และตำรวจกัมพูชา มีความสัมพันธ์อันดี หลายครั้งที่ผู้ต้องหารายสำคัญ หลบหนีไปยังกัมพูชา ก็ประสานความร่วมมือจนจับกุมได้  เช่นกรณี เสี่ยอ้วน ที่ก่อเหตุยิง “น้องสปาย” อดีตคนรักที่เขาชีจรรย์ จ.ชลบุรี

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ไทยและกัมพูชา มีการตกลงทำความร่วมมือทางอาญา 2 ด้าน  

ความร่วมมือในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตั้งแต่ วันที่ 31 มีนาคม 2544 

ความร่วมมือในการโอนตัวนักโทษ  ตั้งแต่วันที่  24 สิงหาคม 2552  เช่นกรณีนายวีระ สมความคิด และพวก ถูกจับกุมฐานรุกล้ำเขตแดนและจารกรรมข้อมูล ในปี 2553 ถูกดำเนินคดี จองจำในเรือนจำเปรยซอว์ กัมพูชา ก่อนโอนตัวมาคุมตัวในเรือนจำไทย  

ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติไทย ยังมี ผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจประจำกรุงพนมเปญด้วย

แม้ที่ผ่านมา มีการประสานงานกันทางอาญามาโดยตลอด แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่า ตำรวจไทยและกัมพูชา มีสนิสัญญาว่าวยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาฯอย่างเป็นทางการต่อกัน ระหว่าง 2ประเทศ  แต่อย่างใด แต่เป็นความร่วมมือกันในนามสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

ในการศึกษาเรื่อง การส่งผู้ร้ายข้ามแดน : วิธีเอาตัวผู้กระทำผิดที่หลบหนีในต่างประเทศกลับมาเพื่อดำเนินคดีหรือลงโทษ โดย  พ.ต.ท.เกชา  สุขรมย์

ระบุหลักเกณฑ์การส่งผู้ร้ายข้ามแดน

 1. ต้องเป็นความผิดที่อาจมีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้  หมายถึง ความผิดที่สนธิสัญญาระหว่างประเทศได้ระบุฐานความผิดไว้โดยเฉพาะเจาะจงในสนธิสัญญา ระหว่างกัน

2. หลักต่างตอบแทน (Reciprocity) หลักการนี้จะใช้ในกรณีที่ไม่มีสนธิสัญญาหรือข้อตกลงในเรื่องความร่วมมือทางอาญาระหว่างกัน แต่ประเทศผู้ร้องขอและประเทศผู้รับคำร้องได้พิจารณาแล้วว่า จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือการดำเนินคดีทางอาญาแก่กัน และเป็นการตอบแทนในลักษณะเดียวกัน

3. ต้องเป็นความผิดที่สามารถลงโทษได้ทั้งตามกฎหมายของรัฐผู้ร้องขอและรัฐผู้รับคำขอ   คือต้องเป็นมูลความผิดตามกฎหมายทั้งในประเทศที่ร้องขอและประเทศ   ที่รับคำขอเช่นเดียวกัน

4. การไม่ลงโทษซ้ำในความผิดเดียวกัน  จะไม่มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ถ้าบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวได้รับการพิจารณาคดีและถูกพิพากษาลงโทษหรือถูกปล่อยตัวในรัฐที่รับคำร้องขอแล้ว ซึ่งเป็นความผิดเดียวกันกับความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

5. รัฐผู้ร้องขอจะดำเนินคดีได้เฉพาะความผิดที่ได้ระบุในคำร้องขอ ซึ่งรัฐผู้ร้องขอไม่อาจดำเนินคดีได้ หากไม่ใช่ความผิดที่ได้กล่าวอ้างไว้ในคำร้องขอ นอกจากนี้ยังห้ามไม่ให้รัฐที่ร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อไปยังรัฐที่สามอีกด้วย หากรัฐที่ได้รับคำร้องขอไม่ยินยอม

6. การไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนในคดีเล็กน้อย คือ จะไม่ดำเนินการในกรณีความผิดที่มีโทษจำคุกหรือกักขังไม่ถึง 1 ปี เพราะการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศที่มี     พิธีการ(ทางการทูต)และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ

7. ต้องเป็นคดีที่ไม่ขาดอายุความ สำหรับอายุความนั้นให้ถือเอาอายุความในฐานความผิดของทั้งสองประเทศ คืออยู่ในช่วงเวลาอายุความทั้งในประเทศผู้ร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนและในประเทศผู้รับคำร้องขอ

8. บุคคลต้องปรากฏตัวอยู่ในรัฐที่ถูกร้องขอ คือ ต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าบุคคลผู้กระทำความผิดนั้นได้ข้ามแดนไปปรากฏตัวอยู่ในรัฐที่ถูกร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ตร.ไทยไม่รู้เรื่อง ใครอุ้ม "วันเฉลิม" ยัน มีหมายจับ ประสานเพื่อนบ้านตั้งแต่รู้ว่าหลบหนี

ข้อยกเว้นของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

1. ความผิดทางการเมือง   เพราะถือว่าไม่เป็นอาชญากรรมที่แท้จริง แต่เป็นเพียงการกระทำผิดเพราะมีแนวคิดไม่ตรงกับผู้มีอำนาจบริหารประเทศในขณะนั้น (แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนของความผิดนี้)

2. ความผิดต่อกฎหมายพิเศษ เช่น ความผิดที่มีลักษณะเป็นความผิดต่อกฎหมายพิเศษในทางปกครอง ได้แก่ ความผิดกฎหมายการล่าสัตว์หรือกฎหมายป่าไม้ นอกจากนี้ยังรวมถึงความผิดต่อกฎหมายการพิมพ์ ความผิดต่อศาสนา ความผิดเกี่ยวกับกฎหมายทหาร เป็นต้น

3. การไม่ส่งคนชาติข้ามแดน  ในประเทศกลุ่ม Civil Law จะไม่ส่งคนชาติของตนข้ามแดนไปดำเนินคดีในรัฐอื่น เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐในการปกป้องตนชาติของตนและอาจไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของรัฐอื่น แต่ในประเทศกลุ่ม Common Law จะไม่มีการห้ามการส่งผู้ร้ายข้ามแดนแม้เป็นคนชาติของตน เพราะประเทศเหล่านี้ถือหลักว่า ผู้กระทำความผิด ณ ที่ใด จะต้องถูกพิจารณาคดี ณ ที่ที่กระทำความผิด

4. ความผิดโทษประหารชีวิต (Death penalty) โดยเป็นไปตามสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (United Nations Model Treaty on Extradition ซึ่งเป็นแม่แบบในข้อยกเว้นเรื่องความผิดโทษประหารชีวิต

5. พยานหลักฐานไม่เพียงพอ ซึ่งมีที่มาจากสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน   ซึ่งกำหนดข้อยกเว้นให้ประเทศภาคีสมาชิกสามารถปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ หากพยานหลักฐานไม่เพียงพอตามมาตรฐานกฎหมายลักษณะพยานของประเทศผู้ถูกร้องขอ

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ