ปรากฏการณ์ทำลายรูปปั้น สะท้อนปัญหาเหยียดผิวที่ฝังรากลึก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เหตุการณ์ประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิวที่กำลังเกิดขึ้นไม่ใช่ครั้งแรกที่ประชาชนออกมาประท้วงมากมาย แต่การทุบทำลายรูปปั้นนักค้าทาสที่เกิดขึ้นทั่วยุโรปและสหรัฐฯ นับเป็นปรากฏการณ์แรกที่เห็นคนออกมาทุบทำลายรูปปั้นมากมาย และเป็นการแสดงออกที่มีนัยยะสำคัญ

รูปปั้น ชื่อถนนต่างๆ ในยุโรปและสหรัฐฯ หลายแห่ง มีความเกี่ยวข้องกับการค้าทาสและล่าอาณานิคมในอดีต ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลาหลายร้อยปี

ม็อบต้านเหยียดผิวในอังกฤษโค่นรูปปั้นนักค้าทาสทิ้งแม่น้ำ

โดยตั้งแต่เหตุการณ์การเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ทำให้มีรูปปั้น อนุสรณ์สถาน อนุเสาวรีย์ของนักล่าอาณานิคม และนักค้าทาสเกือบ 40 แห่งทั่วสหรัฐฯ รวมถึงในอังกฤษ ถูกทุบทำลายและถูกเอาออก ตลอดจนถึงสัญลักษณ์ และอาคารต่าง ๆ ที่เคยเป็นที่ค้าทาสในอดีต เพราะผู้ประท้วงมองว่าอนุสรณ์สถานเหล่านี้เป็นการเชิดชูการกดขี่ชาวแอฟริกัน และแสดงให้เห็นประวัติศาสตร์ด้านเดียว ที่ยังพบเห็นได้ตามท้องถนน

ทั้งนี้รูปปั้นของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสที่มีอยู่ทั่วสหรัฐฯ เป็นรูปปั้นที่ถูกทำลายมากที่สุด ทั้งถูกทุบทำลาย ถูกเผา และถูกตัดหัว ซึ่งคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส คือนักสำรวจชาวอิตาเลียนที่เดินทางมาถึงทวีปอเมริกาในปี 1492 แม้เขาจะไม่ใช่คนแรกที่เดินทางมาถึงทวีปนี้ แต่เขาคือคนที่เชื่อมยุโรป หรือที่เรียกว่าโลกเก่าในยุคนั้น เข้ากับทวีปอเมริกาที่เป็นโลกใหม่ และมันได้เปิดทางให้หลายประเทศในยุโรปเข้ามาสำรวจและล่าอาณานิคม

ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีการคุกคามชนพื้นเมือง และนำไปสู่การค้าทาสอย่างโหดเหี้ยม ในสหรัฐฯ มีอนุสรณ์สถานที่สร้างให้โคลัมบัส 18 แห่ง ไปจนถึงมีการกำหนดวันโคลัมบัส เพื่อเฉลิมฉลองการมาถึงทวีปอเมริกาของเขา ซึ่งมันถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง และเหตุการณ์ครั้งนี้ปลุกให้คนออกมาทำลายรูปปั้นของเขาด้วยความโกรธเกรี้ยว

นอกจากรูปปั้นแล้ว ผู้ประท้วงในเมืองกลาสโกลว์ของอังกฤษ ได้นำชื่อถนนที่พวกเขาตั้งใหม่มาติดข้างใต้ชื่อถนนเดิมคือ Cochrane Street ซึ่ง Cochrane เป็นชื่อของนักค้าทาสสมัยนั้น ขณะที่ชื่อ Sheku Bayoh ที่นำมาติดใหม่ คือชื่อของนักเคลื่อนไหวชาวผิวสีในสก็อตแลนด์ ที่เสียชีวิตระหว่างการจับกุมของตำรวจในปี 1932

เช่นเดียวกับป้าย Harriet Tubman ที่ผู้ประท้วงนำมาติดข้างชื่อถนน Ingram Street ซึ่ง Ingram คือชื่อของนักค้าทาสเช่นเดียวกัน ขณะที่ชื่อ Harriet ที่เอามาติดข้างๆ คือชื่อของนักรณรงค์เลิกทาส มีการสังเกตว่า เกือบทุกถนนในสก็อตแลนด์ของอังกฤษ ล้วนมีความหมายเกี่ยวข้องกับการค้าทาสชาวผิวสีในอดีต นับเป็นอีกสัญลักษณ์ที่สะท้อนการเหยียดสีผิวที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมตะวันตก

อย่างไรก็ตาม ในสังคมตะวันตก การเหยียดสีผิวยังสะท้อนในสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น ธงสมาพันธรัฐอเมริกา หรือ Confederate Flag โดยธงสมาพันธรัฐอเมริกาคือ ธงรบของกองกำลังรัฐเทนเนสซีในช่วงสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ ในช่วงปี 1860 ที่ความขัดแย้งในตอนนั้นเกี่ยวข้องกับการค้าทาสของคนผิวสี ซึ่งต่อมาธงนี้ถูกกลุ่มคนเหยียดสีผิวนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม จนธงนี้มีความหมายในเชิงลบ แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้างในสหรัฐฯ

จากเหตุการณ์การเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ทำให้เหล่านาวิกโยธินของสหรัฐฯ สั่งปลดและแบนธงสมาพันธรัฐอเมริกาออกจากฐานทัพและภายในสำนักงานทั้งหมด ไปจนถึงสติ๊กเกอร์ของธงนี้ที่ติดตามรถถัง เสื้อผ้า หรือแก้วกาแฟ รวมไปถึงสมาคมการแข่งรถสต็อกคาร์แห่งชาติ หรือนาสคาร์ ที่สั่งห้ามใช้ธงนี้ในทุกการแข่งขันอย่างเด็ดขาด

สำหรับการประท้วงลุกฮือที่เกี่ยวกับการเหยียดสีผิวเกิดขึ้นแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์ แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราเห็นปรากฏการณ์คนทุบทำลายรูปปั้นของนักค้าทาสมากมายขนาดนี้ แม้รูปปั้น ชื่อถนน และสัญลักษณ์เหล่านี้จะเป็นชื่อของคนในอดีตที่ถูกใช้มานานแล้ว แต่การที่รูปปั้นเหล่านี้ยังปรากฏอยู่อาจสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ฝังอยู่ในสังคมเป็นเวลาหลายร้อยปีจนถึงปัจจุบัน รูปปั้นบางแห่งเคยถูกประชาชนเรียกร้องให้รัฐถอนออก แต่มันมักใช้เวลานาน ซึ่งปรากฏการณ์ครั้งนี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนชื่อถนน และถอดรูปปั้นหลายแห่งออกอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

อัปเดตข่าว สถานการณ์ โควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุด 11 มิ.ย. 63

อัปเดตข่าวสถานการณ์ โควิด-19 (COVID-19) ล่าสุด 11 มิ.ย. 63

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ