กรมทางหลวง แจง ศาลาริมทาง ใช้งบแค่ 38,000 บาท ผู้รับเหมาตีราคาผิด ยันคุณภาพดี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรณีการสร้างจุดรอรถของกรมทางหลวง ใน จ.ศรีสะเกษ และ จ.ชุมพร ที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีรูปแบบสวยงาม ทันสมัย แต่บังแดดบังฝนไม่ได้ รวมถึงมีข้อกังขาเรื่องการใช้งบประมาณ ที่แม้จะเป็นศาลารูปแบบเดียวกัน แต่ใช้เงินในการสร้างแต่ละพื้นที่ต่างกัน ล่าสุดรองอธิบดีกรมทางหลวง ชี้แจงรายละเอียดงบก่อสร้าง พร้อมเปิดเผยที่มาการออกแบบว่า เป็นรูปแบบสำหรับใช้ก่อสร้างในพื้นที่จำกัดและแก้ปัญหาทัศนวิสัยไม่ดี

เมื่อวันที 17 มิ.ย. 63 นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย รองอธิบดีกรมทางหลวง ชี้แจงกรณีการก่อสร้างจุดรอรถริมทางใน จ.ศรีสะเกษ และ จ.ชุมพร ที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีรูปแบบสวยแต่ใช้ประโยชน์ไม่ได้จริง โดยบอกว่าเป็นการก่อสร้าง โดยใช้แบบแปลนของกรมทางหลวงในรูปแบบ Type E สำหรับบริเวณที่มีพื้นที่น้อย โดยปรับปรุงจากแบบ Type F ที่มีลักษณะเป็นเก้าอี้ไม้ หลังคามุงกระเบื้อง ที่เคยใช้ในอดีต โดยเปลี่ยนมาใช้วัสดุเป็นโครงเหล็กให้มีความคงทนขึ้น โดยศาลาแบบ Type E นี้ ปัจจุบันมีโครงการก่อสร้างทั้งหมด 461 หลัง กระจายอยู่ 26 จังหวัดทั่วประเทศไทย ใช้งบประมาณ 55 ล้านบาท

ดราม่าศาลาริมทางศรีษะเกษ ชาวเน็ตฮา ชาวบ้านโวยไร้ประโยชน์ ทางหลวงยอมแก้ ยันจำเป็นต้องสร้างแบบนี้จริง...


โดยส่วนกรณีงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างศาลา Type E ใน จ.ศรีสะเกษ ใช้งบสร้างหลังละ 120,000 บาท ในขณะที่ จ.ชุมพร ใช้งบสร้างหลังละ 38,000 บาท ต่างกัน 3 เท่าตัวนั้น นายอภิรัฐ เปิดเผยว่า กรมทางหลวงได้ตั้งราคากลางสำหรับการก่อสร้างศาลารูปแบบ Type E ไว้ที่หลังละ 110,000-130,000 บาท ซึ่งเป็นการคำนวณรวมราคาวัสดุในการก่อสร้างทุกอย่าง ยึดตามราคากลางของเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์ ส่วนกรณีที่ จ.ชุมพร ใช้งบในการก่อสร้างเพียง 38,000 บาทต่อหลังนั้น ตรวจสอบแล้วเป็นการตีราคาผิดพลาดของผู้รับเหมาเอง เมื่อเสนอราคามา ทางโครงการก็จะพิจารณาเลือกราคาที่ถูกที่สุด ซึ่งประชาชนไม่ต้องกังวลว่าคุณภาพจะไม่ดี เพราะในสัญญาการก่อสร้างมีการระบุคุณสมบัติของวัสดุต่าง ๆ ไว้ชัดเจน ยืนยันว่าไม่มีการทุจริตหรือฮั้วประมูล

ทั้งนี้ส่วนข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่หลายคนมองว่า ศาลารอรถแบบ Type E ไม่ตอบโจทย์การใช้งานในสภาพพื้นที่  นายสมบูรณ์ เทียนธรรมชาติ ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง ระบุว่า ปัจจุบัน รูปแบบการสร้างศาลารอรถของกรมทางหลวงที่นิยมใช้มี 5 รูปแบบ คือ Type A,B,C,D,E โดย Type A-D จะมีลักษณะศาลาหลังคาทรงจั่ว ความกว้างอย่างน้อย 6.25 เมตร โดยในแต่ละแบบจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในสภาพพื้นที่ เช่น สำหรับพื้นต่างระดับจะมีการสร้างเสายกสูงขึ้นมา เป็นต้น แต่ลักษณะโดยรวมคือเป็นศาลาหลังคาทรงจั่วเหมือนกัน ส่วน Type E เป็นศาลาทรงโปร่งที่ใช้สำหรับพื้นที่แคบ มีความกว้างเพียง 2.5 เมตร เท่านั้น

นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า การเลือกสร้างศาลาแต่ละแบบในจุดต่าง ๆ จะคำนึงเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยจะต้องเว้นระยะเคลียร์ คือ ระยะปลอดภัยระหว่างศาลากับทางรถวิ่ง สำหรับพื้นที่ไม่มีทางเท้าอย่างน้อย 3 เมตร และสำหรับพื้นที่มีทางเท้า 1 เมตร เพื่อป้องกันกรณีรถเสียหลักเข้ามาเฉี่ยวชนแล้วจะไม่เกิดอันตรายกับคนรอรถ ทำให้จุดที่มีทางเท้ากว้าง 3.5 เมตร สามารถสร้างศาลาแบบ Type E ได้เท่านั้น ไม่สามารถสร้างเป็นศาลาหลังคาทรงจั่วได้ นอกจากนี้ ยังมีบริบทอื่น ๆ เช่น ต่อให้มีพื้นที่กว้าง แต่หากเป็นจุดใกล้ทางแยก ก็ต้องสร้างศาลาแบบ Type E ที่มีลักษณะโปร่งเพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพจนเกิดอุบัติเหตุ รวมไปถึงการสร้างศาลาแต่ละจุดต้องปรึกษาคนในชุมชนบริเวณนั้นด้วย ว่ายินยอมให้สร้างศาลาแบบหลังคาจั่วหรือไม่

สำหรับศาลาที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์นั้น กรมทางหลวงยืนยันว่าจะเร่งแก้ไขให้ใหม่ในจุดที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามา ซึ่งเบื้องต้นมีการออกแบบต่อเติมตามความต้องการของประชาชนแต่ละพื้นที่ เช่น บางจุดอาจจะต่อเติมแผ่นกั้นด้านข้างและด้านหลัง เพิ่มกันสาดเพื่อกันฝน หรือเพิ่มต้นไม้ให้เกิดความร่มรื่น แต่ว่าต้องคำนึงเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญด้วย

อัปเดตข่าว สถานการณ์ โควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุด 17 มิ.ย. 63

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ