แนะวิธีสอนเด็กเล็ก ป้องกันถูกละเมิดทางเพศ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ปัญหาเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นปัญหาทางสังคมที่สะสมมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อเกิดการล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้เด็กถูกคนร้ายข่มขู่ให้ปกปิดเรื่องที่เกิดขึ้นมีคำถามว่า แล้วพ่อแม่ควรจะสอนลูกอย่างไร และระบบการศึกษา ควรปรับให้มีการสอนเรื่องนี้หรือไม่

มูลนิธิเพื่อนหญิง เผย หญิงไทยร้องเรียนความรุนแรง 100 คน/เดือน

92 องค์กรผู้หญิง-เด็ก จี้ ศธ.เร่งแก้ปัญหาครูข่มขืนนักเรียน

เมื่อเกิดปัญหาการล่วงละเมิด เด็กส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะบอกกับพ่อแม่ เพราะผู้กระทำมีอำนาจในการข่มขู่เด็ก สิ่งที่พ่อแม่สามารถทำได้คือสอนให้ลูกรู้จักการป้องกันตัวเอง สอนให้เด็กรู้จักความสำคัญของสรีระร่างกาย ไม่ให้ใครมาแตะต้องตัวได้ง่ายๆ

ทีมข่าวพีพีทีวีพูดคุยประเด็นนี้กับแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ แพทย์เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็ก โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ให้ข้อมูลว่าผู้ปกครองควรทำให้เรื่องนี้ สามารถคุยกับลูกได้ โดยการให้เด็กแสดงความเห็นและบ่งบอกว่าเราเต็มใจรับฟังเรื่องนี้ จะทำให้เด็กรู้สึกไว้ใจและกล้าคุยกับครอบครัวหากมีการล่วงละเมิดทางเพศขึ้น

ขณะเดียวกัน ให้ใช้หลัก No Go Tell ซึ่งนำมาจากต่างประเทศ มาปรับใช้ในการสอนลูก ป้องกันไม่ให้เกิดการถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะ ณ อวัยวะที่ไม่ควรให้คนอื่นจับ อย่าง หน้าอก หรือ อวัยวะเพศ

ตัวอย่างเช่น หากเด็กถูกแตะเนื้อต้องตัวในบริเวณที่ไม่ควรจับ ให้เด็กปฏิเสธด้วยน้ำเสียงจริงจังทันทีว่า “ไม่” หรือ “NO” จากนั้นให้หลีกหนีโดยพาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้นทันที โดยให้เด็กจดจำคำว่า “GO” และขอความช่วยเหลือจากผู้ที่ไว้ใจได้ให้มาช่วยเหลือโดยเร็ว หรือ “TELL”

เมื่อมองไกลไปถึงการเรียนการสอน แพทย์หญิงวนิดา มองว่า โรงเรียนควรสอดแทรกเรื่องนี้เข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนให้เด็กตั้งแต่ระดับอนุบาล อาจทำในรูปแบบเกมที่ทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนานและเกิดความเข้าใจได้ง่าย ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้เกิดการเรียนการสอนอย่างจริงจัง เพื่อให้เด็กรู้ว่าการถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นอย่างไรและสามารถปกป้องตัวเองได้อย่างไร

แพทย์หญิงวนิดา เผยว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา คุณหมอต้องดูแลเด็กในกรณีนี้มาแล้วกว่า 1000 คน  ปีหนึ่ง มีเด็กที่ประสบปัญหาถูกล่วงละเมิดมาหาคุณหมอ โดยเฉลี่ย  ปีละมากถึง 80 คน

ขณะที่หลายหน่วยงานมีสถิติเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงและล่วงละเมิดทางเพศที่ยังไม่ตรงกัน แต่ก็จำนวนไม่น้อย อย่างข้อมูลจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยข้อมูลเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรง สถิติตั้งแต่ปี 2559-2561 พบว่าเด็กที่ถูกทารุณกรรมมีจำนวนเฉลี่ยประมาณ 200 คนต่อปี  แต่ความเป็นจริงมีเด็กที่ถูกทารุณกรรมมากกว่านั้นมาก

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ