รพ.สิรินธร แจงน้องรุ้งป่วยด้วยโรคSLE ไม่เกี่ยวการรักษา


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรณีที่พ่อของเด็กหญิงวัย 18 ยื่นร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครขอให้ตรวจสอบโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ว่ารักษาผิดพลาดหรือไม่ หลังส่งลูกสาวเข้ารักษาด้วยอาการปวดท้อง แต่กลับทรุดหนักอย่างรวดเร็ว ล่าสุดผู้อำนวยการโรงพยาบาลชี้แจงกับทีมข่าวพีพีทีวี ยืนยันว่า การที่ผู้ป่วยมีอาการทรุด จนเป็นเจ้าหญิงนิทรากว่า 2 สัปดาห์ ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดในการรักษา แต่เป็นอาการของโรค SLE หรือ โรคแพ้ภูมิตัวเองเฉียบพลัน

อัปเดตข่าว สถานการณ์ โควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุด 17 ก.ค. 63

อัปเดตข่าวสถานการณ์ โควิด-19 (COVID-19) ล่าสุด 17 ก.ค. 63

พญ.คัชรินทร์ เจียมศรีพงษ์ ผอ.โรงพยาบาลสิรินธร ชี้แจงกรณีพ่อของ น.ส.นารดา มีศรี หรือ “น้องรุ้ง” เด็กสาววัย 18 ที่ป่วยเป็นโรคประหลาดหมดสติไปกว่า 2 สัปดาห์หลังเข้ารับการรักษาอาการปวดท้องในโรงพยาบาล เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อวานนี้ ( 16 ก.ค.)ให้ตรวจสอบโรงพยาบาลว่าสาเหตุการหมดสติเป็นเจ้าหญิงนิทราของลูกมาจากการรักษาผิดพลาดหรือไม่

โดย ผอ.โรงพยาบาลสิรินธร ยืนยันว่า การรักษาเป็นไปตามมาตรฐานของการรักษาโรค SLE หรือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง แต่น้องรุ้งมีอาการเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ทำให้ทรุดหนักอย่างรวดเร็วหลังถึงมือหมอ ซึ่งแพทย์ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการยื้อชีวิต และทำเรื่องส่งตัวไปทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่มีอุปกรณ์และยารักษาพร้อมกว่า ซึ่งได้ทำการรักษาในแนวทางเดียวกัน จนกระทั่งมีอาการดีขึ้นและสามารถออกจากโรงพยาบาลไปรักษาตัวที่บ้านได้

พญ.คัชรินทร์ เปิดเผยไทม์ไลน์การรักษาน้องรุ้งอย่างละเอียด โดยระบุว่า น้องรุ้งเริ่มเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 18 เม.ย. เวลา 03.20 น. ด้วยอาการปวดท้อง เมื่อแพทย์เจาะเลือดไปตรวจ พบว่ามีค่าโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เอ็นไซม์ตับสูง จึงฉีดยาแก้ปวดท้อง และให้ดื่มยาเพิ่มโพแทสเซียม ซึ่งคือน้ำสีเขียวที่พ่อน้องรุ้งบอกสื่อ จากนั้นโรงพยาบาลได้แนะนำให้น้องนอนโรงพยาบาลเพื่อดูอาการ แต่น้องรุ้งติดสมัครเรียนต่อ จึงขอกลับบ้านในช่วงบ่าย

ต่อมา วันที่ 21 เม.ย.เวลา 15.00 น. น้องรุ้งเข้ารักษาอีกครั้ง ครั้งนี้มีอาการปวดท้อง ซึม และเกร็ง และอาการแย่ลงเรื่อย ๆ จนประมาณ 21.00 น. มีอาการชักโดยไม่ทราบสาเหตุ แพทย์จึงให้ยากันชักและใส่ท่อช่วยหายใจ จากนั้นให้เข้า CT Scan ไม่พบอะไรผิดปกติ ตอนนั้นแพทย์ได้ทำเรื่องย้ายเข้าห้อง ICU แต่ห้องเต็มจึงต้องย้ายผู้ป่วยที่อาการไม่วิกฤตเท่าออกมาก่อน น้องรุ้งจึงได้ย้ายเข้าห้อง ICU เวลา 00.30 น. ของวันรุ่งขึ้น

พญ.คัชรินทร์ เล่าต่อว่า หลังจากที่เข้าห้อง ICU แล้ว น้องรุ้งมีอาการแย่ลงเรื่อย ๆ โดยมีความดันตก หัวใจเต้นผิดปกติ การทำงานปอดผิดปกติ และเมื่อเจาะเลือดไปตรวจ พบเกล็ดเลือดผิดปกติ แพทย์จึงให้เข้า CT Scan ซ้ำ ก็ยังไม่พบอะไรผิดปกติ และได้เจาะเลือดตรวจเพิ่ม สันนิษฐานว่าน้องรุ้งเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองอย่างเฉียบพลัน (SLE) ทำให้ส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกายพร้อมกันหลายระบบ จึงให้ยารักษาตามมาตรฐานการรักษาของโรค SLE ทันที

จากนั้นได้ติดต่อโรงพยาบาลใหญ่ 9 แห่งที่มีความพร้อมทั้งอุปกรณ์และยารักษาโรคมากกว่ารับน้องไปรักษาต่อ ซึ่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตอบรับการรักษา จึงส่งตัวย้ายโรงพยาบาลวันที่ 23 เม.ย. ก่อนที่ผลเลือดจะออกวันที่ 25 เม.ย. ยืนยันว่าน้องรุ้งป่วยเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE จริง ๆ

พ่อร้องผู้ว่าฯกทม. หมอรพ.รัฐ ฉีดยาลูกสาว เป็นเจ้าหญิงนิทรา

ส่วนกรณีที่พ่อของน้องรุ้งให้สัมภาษณ์ว่ามีแพทย์จากโรงพยาบาลพูดว่า “จะรับลูกสาวกลับไปเสียชีวิตที่บ้านไหม” ขณะที่น้องรุ้งรักษาตัวอยู่ในห้อง ICU พญ.คัชรินทร์ ระบุว่า ได้มีการเรียกแพทย์และพยาบาลที่อยู่ในห้องไอซียูวันดังกล่าวมาสอบถาม ไม่พบว่ามีใครพูดแบบนั้นกับพ่อของน้องรุ้ง มีเพียงพยาบาลเล่าให้ฟังว่าพ่อเข้ามาถามว่าหากถอดเครื่องช่วยหายใจ ลูกสาวจะเสียชีวิตใช่หรือไม่ ซึ่งพยาบาลตอบว่าใช่ ซึ่งเป็นการตอบไปตามอาการของน้องรุ้งตอนนั้น

ทีมข่าวโทรศัพท์สอบถาม ผศ.พญ.ณับผลิกา กองพลพรหม แพทย์ประจำห้อง ICU รพ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นแพทย์ที่รักษาน้องรุ้งต่อจาก รพ.สิรินธร ยืนยันว่า การรักษาของ รพ.สิรินธร ก่อนที่จะมาถึงตนเองทำถูกต้องแล้ว และถือว่าแพทย์ตัดสินใจได้ค่อนข้างไวในการวินิจฉัยว่าเป็นโรค SLE และให้ยารักษาทันท่วงที เพียงแต่อาการของโรค SLE ต้องใช้เวลาในการรักษาจึงยังไม่เห็นผลทันที ซึ่งพอมาถึง รพ.จุฬาลงกรณ์ ก็ให้ยาต่อเนื่องจาก รพ.สิรินธร เลย เพียงแต่ปรับยาอื่น ๆ ที่เป็นยาเฉพาะจนอาการน้องรุ้งดีขึ้นตามลำดับ

ขณะที่อาการของ น.ส.นารดา มีศรี หรือ น้องรุ้ง ปัจจุบันดีขึ้นมากแล้ว สามารถพูดได้แล้วใช้ร่างกายท่อนบนได้ตามปกติ แต่ว่าขาทั้ง 2 ข้างยังใช้งานไม่ได้และยังต้องทำกายภาพบำบัด ซึ่งวันนี้พ่อน้องรุ้งส่งคลิปวีดีโอมาให้กับทีมข่าวพีพีทีวี น้องรุ้งขอบคุณพ่อที่ต่อสู้เพื่อหาข้อเท็จจริงของอาการป่วยและขอบคุณสื่อที่นำเสนอเรื่องราว

จากคลิปนี้จะเห็นว่า น.ส.นารดา หรือน้องรุ้งสามารถพูดและขยับร่างกายส่วนบนได้คล่องแคล่วแล้ว ซึ่งน้องรุ้งบอกว่าตนเองกำลังพยายามรักษาและทำกายภาพบำบัด เพราะมีความหวังอยากกลับมาเดินได้อีกครั้ง ขณะที่ ผอ.รพ.สิรินธร ยอมรับว่าความหวังของน้องรุ้งอาจต้องใช้เวลา เพราะผู้ป่วยโรค SLE มีโอกาสน้อยมากที่จะกลับมาใช้ร่างกายได้สมบูรณ์ตามปกติ

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ