ยลโฉม “ดาวหางนีโอไวส์” ใกล้โลกมากสุด รอบเกือบ 7 พันปี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนคนไทย เฝ้าดู ดาวหางนีโอไวส์ หลังเข้าใกล้โลกมากสุด โดยช่วงเวลาสังเกตการณ์ที่ดีสุดของไทย คือวันที่ 18-22 ก.ค. 2563

ชาวเชียงใหม่ส่อง "ดาวพฤหัสบดี" ใกล้โลกสุดในรอบปี

สหรัฐฯ-จีน-ยูเออี ต่อแถวส่ง “ยานอวกาศ” ไปดาวอังคาร!

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 63 จากกรณี ดาวหางนีโอไวส์ หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) ซึ่งเป็นดาวหางคาบยาว กำลังได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์และผู้คนทั่วโลก เนื่องจากได้ออกมาปรากฏแสงสว่างเหนือน่านฟ้าในหลายประเทศ โดยจะเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกมากที่สุด ในวันที่ 23 ก.ค. 2563 ด้วย ระยะห่าง 103 ล้านกิโลเมตร

นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลว่า ดาวหางนีโอไวส์ จะโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้ ก่อนเข้าใกล้โลกใช้เวลาประมาณ 6,767  ปี โดยค้นพบจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศไวส์ (Wide-field Infrared Survey Explorer : WISE) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นอินฟราเรด ในโครงการสำรวจประชากรดาวเคราะห์น้อยและวัตถุใกล้โลก ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 เคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ที่ระยะห่าง 43 ล้านกิโลเมตร

นายศุภฤกษ์  คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ระบุว่า สำหรับประเทศไทย ในช่วงครึ่งแรกของเดือน ก.ค. ดาวหางนีโอไวส์ จะปรากฏในช่วงรุ่งเช้า ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ตำแหน่งใกล้ขอบฟ้ามาก และยังเพิ่งโคจรผ่านจุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด จึงถูกแสงอาทิตย์กลบ สังเกตได้ค่อนข้างยาก แต่ในช่วงครึ่งหลัง ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป ดาวหางนีโอไวส์จะเปลี่ยนมาปรากฏในช่วงหัวค่ำ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และความสว่างจะลดลงเรื่อยๆ แต่ยังคงสว่างในระดับที่ยังสามารถสังเกตการณ์ได้ด้วยตาเปล่า จึงเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้ยลโฉมและบันทึกภาพความสวยงามของดาวหางดวงนี้ 

โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการสังเกตการณ์ดาวหางนีโอไวส์ที่ดีสุด คือช่วงวันที่ 18-22 ก.ค. 2563 เนื่องจากดาวหางเคลื่อนที่ห่างจากดวงอาทิตย์พอสมควร และคาดว่าจะมีค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ 5 แม้เป็นช่วงแสงสนธยาก็มีโอกาสที่จะมองเห็นดาวหางดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่า หากท้องฟ้าบริเวณขอบฟ้าใสเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 21 ก.ค.  เป็นคืนเดือนมืดไร้แสงจันทร์รบกวน เป็นโอกาสเหมาะที่จะเฝ้าสังเกตการณ์ดาวหางนีโอไวส์ด้วยตาเปล่า ส่วนวันที่ 23 ก.ค. เป็นช่วงที่ดาวหางเข้าใกล้โลกที่สุด แต่จากข้อมูลพบว่าดาวหางจะมีค่าความสว่างลดลง รวมทั้งในคืนดังกล่าวตรงกับคืนดวงจันทร์ขึ้น 2 ค่ำ อาจมีแสงจันทร์รบกวนเล็กน้อย ขณะเดียวกันประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝนที่มีเมฆมาก บริเวณใกล้ขอบฟ้ามีเมฆปกคลุมค่อนข้างหนา จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการสังเกตการณ์ดาวหางดังกล่าว  และหลังจากนั้นความสว่างจะลดลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้ 

ขณะเดียวกัน สมาคมดาราศาสตร์ไทย เผยผลการพยากรณ์โดยศูนย์ดาวเคราะห์น้อยของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล คาดว่าแสงของ ดาวหางนีโอไวส์ จะจางลงเรื่อย ๆ ช่วงสิ้นเดือน ก.ค. และวันที่ 7 - 15 ส.ค. จะไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้แล้ว แต่ยังคงสังเกตได้ง่ายด้วยกล้องสองตา ทั้งนี้การพยากรณ์ความสว่างมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้ ให้ใช้เป็นแนวทางเท่านั้น

 

Photo :  David Becker / NASA / AFP และ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ