คดี 'บอส' ทำหมอฟันอึ้ง! กางสูตรเคมี 'โคเคน' เคยเป็น 'ยาชา' แต่เมื่อ 150 ปีก่อน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทันตแพทย์ ประสานเสียง อธิบาย ปมอ้างโคเคน จากยารักษาฟัน "บอส อยู่วิทยา" เผย เคยใช้เป็นยาชา ทั้งโลกเลิกใช้ไปเมื่อกว่า 150 ปีก่อน กางสูตรเคมีอธิบายตัวยาในปัจจุบัน!

จากกรณีคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบข้อเท็จจริง คดี “นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส” ทายาทธุรกิจดัง ขับรถยนต์ชนเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต เมื่อปี 2555 ว่า พนักงานสอบสวนในคดีนี้ให้ข้อมูลต่อกมธ. ว่าเหตุที่ไม่ดำเนินคดีกับ "บอส" ฐานเสพโคเคน เพราะสอบพยานซึ่งเป็นทันตแพทย์ให้การยืนยันว่า สาร Benzoylecgonine ที่สาขาวิชานิติเวชวิทยา  ภาควิชาพยาธิวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่ามาจาก “โคเคน” ซึ่งพบ ในเลือดของ “บอส “ เกิดจากยาที่ใช้รักษาฟัน ทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ เกิดเป็นสารดังกล่าว

ตร.อ้างพยานหมอฟัน ชี้ 'โคเคน' ใน 'บอส อยู่วิทยา' เกิดจากยารักษาฟัน !

ประเด็นนี้ทำให้เกิดข้อสงสัย วิพากษ์วิจารณ์ อย่างกว้างขวาง โคเคนอยู่ในยารักษาฟัน จริงหรือ!!

ทันตแพทย์ ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล ภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นทันตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตสาธารณสุขของราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thongchai Vachirarojpisan ถึงโคเคน กับยารักษาฟันว่า

“โคเคนใช้ในการทำฟันจริงหรือ ? 

ยาชาที่หมอฟันใช้ในปัจจุบันที่ขึ้นบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ ลิโดเคน แม้จะลงท้ายด้วย เคนเหมือนกัน แต่เป็นคนละตระกูลกันกับ โคเคน

"โคเคน เคยใช้เป็นยาชา จัดอยู่ในตระกูล Esters ที่เคยใช้มาเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ปัจจุบันไม่มีหมอฟันคนใดในโลกใช้อีก เพราะว่าพบอาการแพ้ยาได้มากและมีฤทธิ์เสพติด ปัจจุบันยาชาที่หมอฟันใช้จะเป็น ยาชาตระกูล Amines ที่พัฒนาขึ้นมาเช่น ลิโดเคน เมพิวาเคน อาติเคน ซึ่งปลอดภัยกว่า มีโอกาสพบการแพ้ยาชาได้น้อยมากๆๆๆ

โคเคนที่เป็นสารเสพติด กับ ลิโดเคนที่ใช้เป็นยาชา อยู่กันคนละตระกูล โครงสร้างทางเคมี ไม่เหมือนกัน

ดังนั้นไม่ต้องห่วงนะครับว่าจะเวลาหมอฟันฉีดยาชาแล้ว จะตรวจพบโคเคนในกระแสเลือด 555

หมอเฮ้าส์”

ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก ห้องทำฟันหมายเลข 10 โพสต์ถึงกรณีนี้ว่า  “โคเคนรักษาฟัน หมอฟันงง ทั้งประเทศ”

ก่อนโพสต์อธิบายต่อว่า

“เรื่องนี้จะไม่แปลกถ้าเป็นเมื่อ ศตวรรษที่ 18 !!! หมอฟันคนนั้นต้องนั่งไทม์แมชชีนมาแน่นอน

หนึ่งในยาที่ใช้มากที่สุดในทางทันตกรรม คือ ยาชา โดยยาชาตัวแรกที่นำมาใช้ทางการแพทย์คือโคเคน (cocaine) ในปี ค.ศ.1859 (150 ปีมาแล้ว!!!) แต่ด้วยข้อเสียของโคเคนที่มีระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้น และมีฤทธิ์เสพติด จึงมีการพัฒนายาที่มีสูตรโครงสร้างคล้ายโคเคน ชื่อ Procaine ขึ้นในปีค.ศ. 1904

แต่ในปีค.ศ.1948 มีการนำยาชาที่มีสูตรโครงสร้างต่างไปจาก cocaine และ procaine ได้แก่ lidocaine และมียาชาที่พัฒนาต่อเนื่องตามมาได้แก่ mepivacaine (ค.ศ. 1965) prilocaine (ค.ศ. 1983; ยาชนิดนี้ไม่มีใช้ในประเทศไทย) และ articaine (ค.ศ. 2000)

โดยยาชาทั้งสามกลุ่มนี้มีสูตรโครงสร้างคนละแบบกับโคเคน รวมทั้งกระบวนการขับยาออกจากร่างกายก็ได้สารเคมีคนละกลุ่มกับโคเคน

พร้อมระบุแหล่งข้อมูลอ้างอิง Reference: Oral Maxillofacial Surg Clin N Am 25 (2013) 453–465

จากนั้นโพสต์อธิบายย้ำอีกครั้งว่า

“คนก็ยังอาจสงสัยยาชามันชื่อลงท้าย "เคน"เหมือนกัน(แต่จริงๆมันก็คนละโครงสร้างหละนะ) ถ้าไปฉีดยาชา"ลิโดเคน"ทำฟันมาจริงแล้วไปตรวจ"โคเคน"มันจะขึ้นผลหลอกว่ามีโคเคนหรือเปล่า(false positive)

จากการวิจัยก็บอกว่า ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ครับ

แปลว่าตรวจเจอโคเคนก็คือโคเคน อย่ามาโบ้ยยาชาที่รักของหมอฟันนะ

เอาเอกสารวิชาการมาให้ดูกัน ว่ากันด้วยหลักการและเหตุผลนะครับ

เคน ธีรเดช เตะฟุตบอลไม่เก่งฉันใด

แฮรี่ เคน ก็แสดงละครไม่ได้ฉันนั้น”

ทันแพทย์ ต่างประสานเสียง พร้อมอ้างอิงข้อมูลทางวิชาการ สรุปตรงกัน โคเคน ใน ยารักษาฟัน หรือในที่นี้คือยาชา ไม่มีในปัจจุบัน 

กมธ.ตร.แจงไม่แจ้งข้อหา"เสพ"เหตุทันตแพทย์ให้ยาผสมโคเคน

รพ.รามาฯ พบ"โคเคน"ในร่างกาย"บอส อยู่วิทยา"แต่ไม่มีในสำนวน

อย่างไรก็ตามประเด็นนี้คณะพนักงานสอบสวน คดี "บอส อยู่วิทยา" โดยอ้างอิงไปถึง คำให้การของทันตแพทย์ ที่ไม่มีเอกสารยืนยันต้องตอบสังคมให้ชัดเจน

 

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ