คดี 'บอส อยู่วิทยา' รื้อใหม่ได้ มีแล้ว 'พยานใหม่' ตัวแปรพลิกคดี!


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทนายแนะ 2 ทาง รื้อคดี "บอส อยู่วิทยา" ยอมกรีดเลือดสาวไส้กู้ศรัทธากระบวนการยุติธรรม หรือ พิงกฎหมายเดินหน้าดันพยานใหม่ ที่ปรากฎตัวแล้วเข้าสำนวน สอดคล้องอัยการชี้ พนักงานสอบสวนทำได้!!

กรณี “บอส อยู่วิทยา” หรือนายวรยุทธ อยู่วิทยา ยังเป็นเผือกร้อนที่คล้ายกำลังโยนกันไปมา หลังจากความจริงที่เก็บงำถูกเปิดเผย “รองอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดี” ส่งต่อ “ตำรวจสั่งไม่ฟ้องคดี” ไม่โต้แย้งอัยการ ทำให้ตามกฎหมายคดีถือว่ามีคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด “บอส อยู่วิทยา” ที่เคยเป็นผู้ต้องหาหนีคดีขับรถชนตำรวจ บัดนี้พ้นมลทิน ไร้ความผิดติดตัว

เผยเบื้องหลังนำ 2 พยานพลิกคดี“บอส อยู่วิทยา” เข้าสำนวนผ่านกมธ.สนช.

อัยการเคยสั่งตีตกพยาน 2 ปาก ทำ “บอส” หลุดคดี ชี้ไม่ใช่หลักฐานใหม่

มีการตั้งคณะกรรมการ คณะทำงาน เดินหน้าตรวจสอบเรื่องนี้ จากองค์กรต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 5 ชุด อาทิ คณะทำงานของนายกรัฐมนตรี สำนักงานอัยการสูงสุด สภาทนายความ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรรมาธิการกฎหมายกิจการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน กรรมาธิการตำรวจฯ หาคำตอบในประเด็นที่สังคมฉงนสงสัยในการใช้ดุลพินิจสั่งคดี ประเด็นของประจักษ์พยานเก่าเล่าเรื่องใหม่ ที่ปรากฏในสำนวน หลังคดีผ่านไป 7 ปี  เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ตำรวจก็เปลี่ยนสูตรคำนวณความเร็วรถใหม่หลังผ่านไป 4ปี ตอกย้ำพยานหลักฐานเปลี่ยน ทำให้คดีพลิก !!

การตั้งคณะกรรมการ คณะทำงานตรวจสอบเรื่อง "บอส อยู่วิทยา" หลายชุด จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ทางคดี ที่ยุติเด็ดขาดไปแล้วได้หรือไม่!?

นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความ ให้ความเห็นว่า นอกจากการรื้อฟื้นคดีที่ต้องให้ทายาทของผู้ตายฟ้องเองโดยหาพยานหลักฐานใหม่แล้ว ยังมีวิธีการทำได้ 2 วิธี

1.หากผลการตรวจสอบของคณะกรรมการ คณะทำงานต่างๆพบว่ามีความบกพร่อง ผิดปกติ อันขัดต่อกฎหมาย ในการใช้ดุลพินิจสั่งคดี หรือหลักฐานได้มาโดยมิชอบ จะส่งผลให้การสั่งคดี  “บอส อยู่วิทยา” มิชอบด้วยกฎหมาย ผู้มีอำนาจ ในที่นี้อาจเป็นอัยการสูงสุด สามารถสั่งรื้อฟื้นเริ่มต้นการพิจารณาหลักฐานอีกครั้งเปิดช่องให้มีการใช้ดุลพินิจสั่งคดีได้อีกครั้ง

"แต่โอกาสที่ผลสอบของคณะทำงานหรือคณะกรรมการจะออกมาแบบฟันธงว่ามีความผิดปกติของคนในองค์กร คงเป็นไปได้ยาก ทางนี้จึงเป็นทางเลือกที่ทำได้ แต่จะกล้าทำกรีดเลือดตัวเองหรือเปล่า โดยมองว่ายาก จะกล้าทำหรือเปล่า"

วิธีที่ 2.กฎหมายให้ช่องไว้ ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 147 "เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้"

คดีนี้มีพยานหลักฐานใหม่ พยานที่ไม่เคยไปให้การ ไม่เคยอยู่ในสำนวน  คือ พยานผู้เชี่ยวชาญคนใหม่ “ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”ที่คำนวณความเร็วรถของนายบอส ได้ 177กิโลเมตรของชั่วโมง ซึ่งพนักงานสอบสวนสามารถรื้อคดีขึ้นมาใหม่ได้เลย นำอาจารย์เข้าไปเป็นพยาน  และเชื่อว่ายังมีพยานหลักฐานอื่นอีก ที่อาจยังไม่ปรากฏในสำนวน ยังไม่ถูกพิสูจน์ สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานใหม่ได้ พนักงานสอบสวนทำได้เอง 

ทั้ง 2 วิธีทำได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะทำหรือไม่?

มุมมองทางกฎหมายของทนายเดชา สอดคล้องกับ น.ส.ณัฐวสา ฉัตรไพฑูรย์ อัยการพิเศษฝ่ายสถาบันกฎหมายอาญา ที่ออกเอกสารเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีนี้ ตอบสังคมว่าเหตุใดอัยการจึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง "บอส อยู่วิทยา" โดย ในข้อที่ 7 อัยการพิเศษท่านนี้ให้ความเห็นว่า “แม้พนักงานอัยการได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ก็ไม่ตัดสิทธิของผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องต่อศาลเอง นอกจากนี้ ในกรณีที่ปรากฎพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ ก็อาจมีการรื้อฟื้นคดีโดยพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนพยานหลักฐานใหม่เพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหานั้นใหม่ได้ตามกฎหมาย

จากนี้คงต้องจับตาว่า คดีนี้จะไปต่ออย่างไร ทางเลือก 2 ทาง ทีเสมือนทาง 2 แพร่ง ทางหนึ่งคือ "ยอมรับ" ในความผิดพลาด ลงดาบ ลงทัณฑ์ให้เห็นหากมีผู้ทำผิดเพื่อกู้ชื่อเสียงเรียกศรัทธากระบวนการยุติธรรมคืนมา แต่นั่นราวกับยอมสาวไส้ให้กากิน แต่อีกทางเลือกคือการรับกลายๆแล้วเดินหน้ารื้อคดีต่อ ดันพยานใหม่เข้า่สำนวนโดยไม่ต้องชี้ชัดฟันว่าใครผิดหรือถูก ทางออกของเรื่องนี้จะเป็นเช่นไร !! 

ย้อนคดี “ทายาทกระทิงแดง” พบทำสำนวนอ่อน

อสส. ตั้งกรอบ 3 ประเด็น ตรวจสอบคำสั่งไม่ฟ้อง “บอส วรยุทธ”

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ