เตือนภัยหน้าฝน คนไทยป่วย “ไข้เลือดออก” กว่า 3 หมื่นรายใน 7 เดือน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โรคไข้เลือดออกระบาดหนักในประเทศ ช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาป่วยแล้ว 3 หมื่นกว่าราย เสียชีวิต 21 ราย แพทย์ย้ำปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน 3 ข้อ และไม่ควรทานยาด้วยตนเอง โดยเฉพาะ แอสไพริน ไอบูโพรเฟน และสเตียรอยด์

กรมควบคุมโรค รายงาน สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 21 ก.ค. 63 มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศแล้ว 31,438 ราย เสียชีวิต 21 ราย  โดยจากข้อมูลการกระจายของผู้ป่วย พบว่ามีผู้ป่วยกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย

เมื่อเป็น “ไข้เลือดออก” ห้ามกินอาหารสีดำ-แดง เพราะจะทำให้อาการทรุด จริงหรือ ??

ชัยภูมิ ไข้เลือดออก ระบาดหนัก พบสัปดาห์ละกว่า 200 คน

ภูมิภาคที่พบอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ตามลำดับ

กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากสุด 3 อันดับแรกคือกลุ่มอายุ 15-24 ปี รองลงมาคืออายุ 10-14 ปี และอายุ 25-34 ปี ตามลำดับ

ส่วน 3 จังหวัดแรกที่พบอัตราป่วยสูงสุดในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา คือ แม่ฮ่องสอน รองลงมาคือชัยภูมิ และเลย ตามลำดับ

“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ได้ แม้ว่าจำนวนผู้ป่วย ณ ช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 จะมีรายงานผู้ป่วยน้อยกว่าปี 2562 ก็ตาม แต่เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงนี้ที่เป็นฤดูฝน มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะและวัสดุต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เป็นสาเหตุทำให้โรคไข้เลือดออกสามารถแพร่ระบาดได้ง่าย”

พญ.ชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ไข้เลือดออกมักมีอาการแรกเริ่มเหมือนโรคอื่น ๆ คือมีไข้สูง ซึ่งทำให้จำแนกจากโรคอื่นได้ยาก แต่สามารถสังเกตได้เบื้องต้นคือ จะมีไข้สูง แต่มักไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ ไม่หอบ แต่จะปวดท้อง ท้องเสีย มีผื่น มีจุดเลือดออกตามร่างกาย ซึ่งดดยปกติ หากมีไข้สูงติดต่อกัน 2 วัน ก็ควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

พญ.ชีวนันท์เสริมว่า ปกติผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกสามารถติดซ้ำได้ โดยอาจมีอาการรุนแรงขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคน

“เนื่องจากโรคไข้เลือดออกไม่มียารักษาหายขาด อาการต่าง ๆ ของโรคไข้เลือดออก เกิดจากปฏิกิริยาร่างกายที่พยายามสร้างภูมิคุ้มกัน ถ้าเราเคยติด  เซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายจะจำได้ แต่ไข้เลือดออกมี 4 ชนิด สมมติเราติดชนิดที่ 1 ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันชนิดที่ 1 เมื่อติดชนิดที่ 1 ซ้ำก็จะไม่ป่วย แต่ถ้าติดชนิดอื่นก็ป่วยเพราะไม่มีภูมิ ร่างกายที่เคยมีภูมิก็จะสู้กับชนิดที่ไม่มีภูมิ ถ้ามันสู้รุนแรง อาการก็รุนแรง”

ผอ.กองโรคติดต่อนำโดยแมลง เน้นย้ำว่า ยาลดไข้ที่แนะนำหากคิดว่ามีความเสี่ยงติดไข้เลือดออกคือ พาราเซตามอล (Paracetamol) ส่วนยาประเภทอื่นที่ห้ามคือกลุ่ม เอ็นเสด (NSaids), แอสไพริน (Aspirin) เพราะแอสไพรินมีผลข้างเคียง ทำให้ถ้ามีเลือดออกจะหยุดได้ยาก, ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เนื่องจากมีฤทธิ์กัดกระเพาะ เกิดแผลในระบบทางเดินอาหาร

ดังนั้นแล้ว ประชาชนจึงควรป้องกันไข้เลือดออกตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยการไม่สร้างแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ให้ทุกคนป้องกันตัวเองเป็นอันดับแรก ไม่อยู่ในที่ที่ยุงเยอะ ถ้าต้องไป ก็ให้ใส่เสื้อแขนยาว ทายากันยุง

“อีกส่วนที่สำคัญ คือ “บ้าน” บ้านของเรา เราไม่ให้คนอื่นเข้า ก็อย่าให้ยุงเข้า อย่าให้วางไข่ เก็บบ้านให้สะอาด ทำพื้นที่ให้สว่าง ไม่มีที่ทึบ ภาชนะน้ำขังควรมีฝาปิด และเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์” พญ.ชีวนันท์กล่าว

ทางกรมควบคุมโรค ได้แนะนำประชาชนและทุกหน่วยงานกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและในชุมชน ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้

1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง

2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่

ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา

นอกจากนี้ ประชาชนสามารถป้องกันไม่ให้ยุงกัดได้ โดยสวมใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว ใช้สารไล่ยุงชนิดต่างๆ เช่น DEET ใช้กลิ่นกันยุง เช่น ตะไคร้ หรือสารเคมีอื่น ๆ นอนในมุ้ง

หากมีอาการไข้สูงปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หน้าแดง มีผื่น มีรอยจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา เบื่ออาหาร จุกแน่นลิ้นปี่ หรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว”

อาการและอาการแสดงของโรคไข้เลือดออก

หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรค ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันได้ ตั้งแต่มีอาการคล้ายไข้เดงกี (dengue fever: DF) ไปจนถึงมีอาการรุนแรง (dengue hemorrhagic fever: DHF) และรุนแรงมาก จนถึงช็อกและเสียชีวิต (dengue shock syndrome: DSS)

โรคไข้เลือดออก มีอาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ เรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลัง ดังนี้ คือ 1.ไข้สูงลอย 2-7 วัน 2.มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง 3.มีตับโต กดเจ็บ 4.มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว/ภาวะช็อก

การดำเนินโรคของโรคไข้เลือดออก แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะไข้ ระยะวิกฤต/ช็อก และระยะฟื้นตัว

ระยะไข้

ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส บางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชักมาก่อน ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง (flushed face) ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรืออาการไอ เบื่ออาหาร อาเจียน และไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน อาจพบมีผื่น อาการเลือดออกที่พบบ่อยคือ ที่ผิวหนัง มีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ ส่วนใหญ่จะคลำตับ โต ได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย ในระยะที่ยังมีไข้อยู่ ตับจะนุ่มและกดเจ็บ

ระยะวิกฤติ/ช็อก

ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออก จะมีอาการรุนแรง มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค (ถ้ามีไข้ 2 วัน) หรือเกิดวันที่ 8 ของโรค (ถ้ามีไข้ 7 วัน) ภาวะช็อกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการเลวร้ายลง และจะเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมง หลังเริ่มมีภาวะช็อก

ระยะฟื้นตัว

ระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยค่อนข้างเร็ว ในผู้ป่วยที่ไม่ช็อกเมื่อไข้ลดส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยช็อกถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ระยะฟื้นตัวมีช่วงเวลาประมาณ 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน

การติดต่อ

โรคไข้เลือดออกติดต่อกันได้โดยมี “ยุงลายบ้าน” เป็นแมลงนำโรคที่สำคัญ และในชนบทบางพื้นที่ จะมี “ยุงลายสวน” เป็นแมลงนำโรคร่วมกับยุงลายบ้าน เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้ ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย พร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นป่วยได้

โรคไข้เลือดออกไม่ติดต่อจากคนสู่คน ติดต่อกันได้โดยมียุงลายเป็นแมลงนำโรค การติดต่อจึงต้องใช้เวลาในผู้ป่วยและในยุง ระยะที่ผู้ป่วยมีไข้สูงประมาณวันที่ 2-4 จะมีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก ระยะนี้จะเป็นระยะติดต่อจากคนสู่ยุง และระยะเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสในยุงจนมากพออีกประมาณ 8-10 วัน จึงจะเป็นระยะติดต่อจากยุงสู่คน

ชัยภูมิไข้เลือดออกระบาดหนัก ป่วยแล้วเกือบ 600 คน

สธ.ยืนยันพบผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตรายแรกของไทย เผยมีไข้เลือดออกร่วม

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ