ความสำคัญของหนังสือบุด มรดกชาติภาคใต้ที่ถูกโจรกรรม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากเหตุโจรกรรมหนังสือบุดที่โด่งดังไปทั้งประเทศ ไขคำตอบว่า หนังสือบุดคืออะไร? มีความสำคัญอย่างไร? และ “เหตุใดเราจึงควรรักษามรดกตกทอดชิ้นนี้ไว้?”

จากกรณี “หนังสือบุดโบราณ” ถูกขโมยไปจากศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช แล้วนำไปปล่อยขายในตลาดมืด จนเกิดการเปิดศูนย์รับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยเมืองนครนั้น

นักวิชาการ จี้ ม.ราชภัฎนครศรีฯ รับผิดชอบ “หนังสือบุดโบราณ” สมัยอยุธยา ถูกขโมยเร่ขาย

ตร.ชี้ผู้ซื้อหนังสือบุดโบราณ แจ้งเอาผิดผู้ขายคดีฉ้อโกง

นิวมีเดีย PPTVHD36 นำเสนอข้อมูลและความสำคัญของหนังสือบุด เพื่อสร้างความเข้าใจว่า “เหตุใดเราจึงควรรักษามรดกตกทอดชิ้นนี้ไว้?”

หนังสือบุดคืออะไร?

สุรเชษฐ์ แก้วสกุล กรรมการฝ่ายฆราวาส ศูนย์รับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยเมืองนครเล่าให้ฟังว่า “ในโลกโบราณก่อนที่เราจะมีการตีพิมพ์หนังสือโดยเครื่องพิมพ์สมัยใหม่ มีหนังสือหรือสมุดขายในร้านสะดวกซื้อทุกหัวมุมถนน ในโลกโบราณเรามีวัสดุที่ใช้ในการจดบันทึกไม่มากนัก อาจจะเป็นจารึกที่ทำด้วยหินหรือโลหะ กลุ่มของใบลาน กลุ่มของกระดาษซึ่งทำจากเปลือกไม้ การจดบันทึกจำเป็นจะต้องพึ่งสิ่งของพวกนี้ หนังสือบุด คือหนึ่งในวิธีการจดบันทึกในโลกโบราณ”

การทำหนังสือบุดนั้นจะนำเปลือกต้นไม้ ซึ่งหากเป็นภาคใต้ จะใช้ต้นกฤษณา หรือที่คนโบราณจะเรียกว่า ย่านของกฤษณา นำเปลือกของมันมาทุบ แล้วนำมาแผ่เป็นแผ่นขนาดใหญ่ ก่อนจะตัดให้ได้ขนาด แล้วพับเป็นทบ

หนังสือบุดทำหน้าที่คล้าย ๆ กับสมุดในโลกสมัยใหม่ คือจดบันทึกองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ก็ดี ยารักษาโรคก็ดี ตำรายันต์ ตำรับตำราต่าง ๆ มันคือกระดาษที่ใช้บันทึกองค์ความรู้ต่าง ๆ ในโลกโบราณ ก่อนที่เราจะมีระบบการพิมพ์และการเขียนสมัยใหม่” สุรเชษฐ์กล่าว

ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา บอกว่า หนังสือบุดสมุดข่อยมีทั้งหนังสือทางโลกทางธรรม คัมภีร์ศาสนา ตำนานเมือง ตำราต่าง ๆ มากมาย แต่ต่อมาขาดการเอาใจใส่ ผู้คนไม่ได้สนใจ

อาจารย์ศรีศักรกล่าวว่า “สังคมไทยได้ของใหม่แล้วลืมของเก่า ก็ถูกทิ้งไป ทีนี้ของเก่า ถ้าวัดไม่รักษามันก็ล้มหายไป เอาไปทำเป็นมวลสาร ทำพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และอีกอันหนึ่ง ชาวต่างประเทศ หรือคนที่รู้ มากว้านซื้อไป จะพบว่าของดี ๆ ระยะแรก ๆ สมุดข่อยใบลานที่สวย ๆ ถูกต่างประเทศกว้านซื้อไปหมด โดยเฉพาะเยอรมนีและญี่ปุ่น เวลาจะเรียนรู้ต้องไปต่างประเทศ เมืองไทยไม่ได้สนใจ ยกว้นวัดบางวัดเขาก็รักษาไว้ มันไม่ได้รับการดูแลมันก็เริ่มสูญหายไป”

อาจารย์ยังเสริมว่า หนังสือบุดสมุดข่อยถูกสร้างขึ้นด้วยจิตใจของผู้สร้าง เป็นคัมภีร์สวยงาม มีความเชื่อ กลายเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง “เวลาเขาเก็บรักษาดีมาก มีผ้าห่อ สวยงามมาก แล้วเก็บไว้ในตู้พระธรรม ทีนี้ต่อมาบางวัดก็รักษาได้ บางวัดก็รักษาไม่ได้”

ความสำคัญและคุณค่าของหนังสือบุด

สุรเชษฐ์บอกว่า คุณค่าของหนังสือบุดคร่าว ๆ มีอยู่ 2 แง่มุม คือคุณค่าทางกายภาพ และคุณค่าทางจิตวิญญาณ

คุณค่าทางกายภาพ หมายความถึงความรู้ที่เขียนอยู่ในหนังสือบุด คุณค่าทางด้านจิตกรรม การลงสี ทักษะเชิงช่างของบุคคลในอดีต ซึ่งเหล่านี้สามารถนำมาปรับใช้กับยุคปัจจุบันได้บางส่วน

“ผมคิดว่าเราอาจจะต้องเลือก เช่นเดียวกับองค์ความรู้หลาย ๆ อย่าง คือมันมีทั้งสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว และสิ่งที่ยังอกาลิโกอยู่”

“อกาลิโก” เป็นศัพท์ทางพุทธ หมายถึงสิ่งหรือความรู้หรือหลักธรรมที่ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานเพียงไหน ก็ยังสามารถใช้ได้อยู่ ดังนั้นองค์ความรู้ทางศาสนาในหนังสือบุดจึงไม่ประกอบไปด้วยกาล พุทธสาวกสามารถนำมาปรับใช้ได้ในปัจจุบัน

“ส่วนในแง่ของอื่น ๆ เช่นตำรายา ก็มีการพยายามจะทำวิจัยโดยการถ่ายภาพหนังสือบุดตำรายา มาปริวรรต และศึกษาตัวยา แล้วก็ทำการวิจัยในโลกสมัยใหม่ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าปริมาณจำนวนมากของหนังสือบุดที่มีในภาคใต้ หากได้รับการพินิจอย่างละเอียด ให้คุณค่า อาจจะสามารถเลือกสรรหลาย ๆ อย่างมาใช้ในโลกสมัยใหม่ได้” สุรเชษฐ์กล่าว

ด้านอาจารย์ศรีศักร มองว่า หนังสือบุดเป็นหลักฐานทางกายภาพที่แสดงให้เห็นว่า สังคมที่มีลายลักษณ์เป็นสังคมที่มีอารยะ หนังสือบุดจึงเป็นสัญลักษณของอารยธรรม ขณะเดียวกัน หนังสือบุดก็มีคุณค่าในทางศิลปะด้วย “ผู้สร้างเขาทำด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ไม่ใช่ทำเพื่อค้าขาย ทำให้สวยงาม มันก็เป็นสิ่งที่ดีงามขึ้นมา”

ต่อมา คุณค่าทางจิตวิญญาณ สุรเชษฐ์เล่าให้ฟังว่า หนังสือบุดเป็นหนังสือที่ได้รับการเคารพบูชา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือตำรายา หรือตำรานวดจับเส้น เดิมจะอยู่ในบ้านหรือตระกูลที่สืบทอดตำรายา ตำรานวดต่าง ๆ นี้ โดยการรวบรวมของสถาบันราชภัฏในสมัยก่อน จะส่งตัวแทนไปยังบ้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้มีความรู้ในอดีต ซึ่งมีหนังสือบุดอยู่ในหิ้งบูชา และทำการเคารพบูชาอยู่ทุกวัน

“ในแง่ของคุณค่า แต่ละเล่มล้วนเป็นสิ่งที่มีประวัติ มีความทรงจำ ของแต่ละบ้าน เคยถูกใช้งานจริง เคยได้รับการบูชาจริง เพราะฉะนั้นมันจึงมีคุณค่าทั้งในแง่กายภาพ และในแง่ของความทรงจำที่คนใต้ได้เก็บเอาไว้ในเอกสารเหล่านี้”

อนาคตหนังสือบุด

การถูกโจรกรรมไปในครั้งนี้ อาจทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ต้องหันกลับมามองเรื่องของการรักษาสมบัติชาติที่เป็นลายลักษณ์อักษรให้คงอยู่โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

สุรเชษฐ์บอกว่า การที่เขาสามารถระบุได้ว่าหนังสือที่ถูกนำไปปล่อยขายคือหนังสือของราชภัฏและสามารถตามกลับคืนมาได้ สิ่งที่ส่งเสริมให้การดำเนินการนี้สำเร็จก็คือโลกดิจิทัล โดยเขามีโอกาสได้ถ่ายรูปสีมากถาสมัยที่ยังอยู่ที่ศูนย์วัฒนธรรมทุกหน้าทุกเล่ม ดังนั้นจึงมีรูปสำหรับตรวจสอบและใช้เปรียบเทียบได้

นอกจากนี้ โลกอินเทอร์เน็ตทำให้ทีมงานสามารถเข้าถึงวงการค้าและนักสะสมได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน รวมถึงสามารถเข้าถึงคนที่ครอบครองอยู่ได้ แล้วคนที่ครอบครองเมื่อเห็นข่าวว่าหนังสือถูกขโมย นอกจากตามสื่อโทรทัศน์ ก็คือสื่ออนไลน์ ทำให้พวกเขามีความประสงค์จะคืนหนังสือบุด

“เพราะฉะนั้นโลกอินเทอร์เน็ตจึงเป็นสิ่งที่น่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญอันหนึ่งที่เชื่อมความรู้โบราณกับโลกปัจจุบัน เบื้องต้นหนังสือที่ได้รับคืนมา โครงการจะถ่ายรูปทุก ๆ หน้าไว้ ทำทะเบียนทุก ๆ หน้า และหลังจากที่ได้ปรึกษาหารือกับตำรวจและราชภัฏแล้ว ก็มีโอกาสสูงมากที่เราจะเผยแพร่ให้เป็นออนไลน์ เพื่อให้ทุกคนสามารถจดจำมันได้ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถจดจำได้ว่าหนังสือเหล่านี้คือหนังสือที่เคยอยู่ที่ราชภัฏ เป็นหนังสือของคนใต้ โอกาสที่จะหายในอนาคตจึงน่าจะเป็นเรื่องยาก” สุรเชษฐ์กล่าว

อาจารย์ศรีศักรบอกว่า เหตุที่หนังสือบุดสูญหายไปเกิดจากการปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับดูแลอย่างที่ควร ทั้งที่มันเป็นมรดกที่มคุณค่าของไทย “มันก็เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองนครศรีธรรมราชในระดับหนึ่ง อีกระดับหนึ่ง คือมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ”

การปล่อยให้หนังสือบุดตกไปอยู่ในมือของผู้ที่ไม่รู้คุณค่า จึงนับเป็นความน่าเสียดายอย่างยิ่ง

คนนครศรีฯ คาดหนังสือบุด-สมุดข่อย สูญ 500-1,000 เล่ม

โจรกรรมหนังสือบุด-สมุดข่อย เชื่อ มีเกลือเป็นหนอน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ