ระเบิดเลบานอน เปรียบเทียบ 'ฮิโรชิมา' ย้อนรอยบึ้มเขย่าโลก ที่มาน่าตกใจสารเคมีชนวนเหตุสลด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โศกนาฏกรรมเขย่าโลก ระเบิดใหญ่ ในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ชนวนระเบิดจากสารแอมโมเนียมไนเตรท ในคลังสินค้าท่าเรือ เหตุระเบิดยังคงเป็นปริศนา อุบัติเหตุ หรือการโจมตี ของกลุ่มก่อการร้าย ด้วยช่วงเวลาที่สอดคล้องกับวันตัดสินคดีสำคัญฯ

ราว 4 ทุ่มของวันที่ 4 สิงหาคม ตามเวลาในบ้านเรา เลบานอนเกิดเหตุระเบิดสะเทือนขวัญกลางกรุงเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน เกิดจากการระเบิดของสารแอมโมเนียมไนเตรท สารผลิตระเบิดที่ถูกบรรจุไว้ในคลังสินค้าใกล้กับท่าเรือ ปริมาณ 2,750 ตัน

ระเบิดเขย่าเมืองหลวงเลบานอน เสียชีวิตกว่า 70 คน

เหตุระเบิดครั้งนี้มีแรงสั่นสะเทือนเท่ากับแผ่นดินไหว 3.5 แมกนิจูด ทำลายบ้านเรือนอย่างรุนแรงรัศมีทำลายบออกไปไกลถึง 10 กิโลเมตร

ผู้คนที่อยู่ใกล้กับจุดระเบิดต่างต้องช่วยกันนำคนบาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาล ที่เบื้องต้นคาดว่ามีผู้เสียชีวิต 78 คน และมีผู้บาดเจ็บมากกว่า 4,000 ราย  เจ้าหน้าที่ยังคงค้นหาผู้สูญหายอีกหลายร้อยคนใต้ซากปรักหักพังของอาคาร

ขณะนี้โรงพยาบาลทั่วกรุงเบรุตที่ล้นแน่นด้วยผู้ป่วยโควิด-19 อยู่แล้ว ยิ่งล้นแน่นมากขึ้นด้วยผู้บาดเจ็บจากเหตุระเบิด จนผู้บาดเจ็บบางรายต้องถูกนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลนอกเมือง

ผู้บาดเจ็บบางคนอยู่ใกล้กับจุดระเบิดขนาดที่ว่า แรงระเบิดทำให้พวกเขาลอยขึ้นไปในอากาศก่อนจะตกลงมา

เหตุระเบิดนี้ครั้งนี้เกิดขึ้นที่คลังสินค้าบริเวณท่าเรือ ในกรุงเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน เมื่อเวลาหกโมงเย็นตามเวลาท้องถิ่น หรือเมื่อสี่ทุ่มของเมื่อคืนนี้ตามเวลาของบ้านเรา

เหตุระเบิดครั้งนี้เกิดจากการระเบิดของสารแอมโมเนียมไนเตรท สารเคมีผลิตระเบิดกำลังสูงที่ถูกเก็บไว้ภายในคลังสินค้า ในปริมาณมากถึง 2,750 ตัน มาเป็นเวลา 6 ปี

โดยแอมโมเนียม ไนเตรทชุดนี้ถูกยึดมาจากเรือขนส่งสินค้าเมื่อ 6 ปี ที่แล้ว ก่อนจะนำมาเก็บไว้ในโกดังนี้ เหตุระเบิดส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งเมือง บ้านเรือนผู้คนในรัศมี 9 กิโลเมตร ถูกแรงระเบิดทำลายอย่างรุนแรงจนกลายเป็นซากปรักหักพัง ขณะที่อีก 14 กิโลเมตรมีรายงานความเสียหาย

เท่ากับว่าแรงระเบิดครั้งนี้ส่งไปไกลถึงราว 23 กิโลเมตร

มีรายงานว่าเหตุระเบิดครั้งนี้มีแรงสั่นสะเทือนเท่ากับแผ่นดินไหวระดับ 3.5 แมกนิจูด และได้ยินไปไกลถึงเกาะไซปรัส ทางตะวันออกของทะเลเมอร์ดิเตอร์เรเนียน ซึ่งอยู่ไกลจากจุดเกิดเหตุถึง 240 กิโลเมตร

"แองจี้ เฮสติ้งส์” เผยสภาพห้องพักพัง จากเหตุระเบิดเลบานอน

หากจะให้เห็นภาพชัดว่าระเบิดนี้รุนแรงขนาดไหน เราสามารถเทียบแรงระเบิดครั้งนี้ได้กับแรงระเบิดของนิวเคลียร์ ผู้เชี่ยวชาญคำนวณว่าแรงระเบิดจากสารแอมโมเนียม ไนเตรท 2 พันกว่าตันครั้งนี้ เทียบได้กับแรงระเบิด TNT 240 ตัน ซึ่งระเบิดนิวเคลียร์ฮิโรชิมา มีความแรงราว 15,000 ตัน

ดังนั้นระเบิดที่เบรุตมีความแรงคิดเป็นเพียงร้อยละ 1.6 ของระเบิดนิวเคลียร์ฮิโรชิมา แต่ก็เห็นได้ว่าเพียงแค่ร้อยละ 1.6 ก็รุนแรงมากขนาดนี้

ยกตัวอย่าง เช่นการระเบิดของนิวเคลียร์ลิตเติ้ลบอยที่ทิ้งลงยังเมืองฮิโรชิมา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 1945 เว็บไซต์ nuclearsecrecy.com ได้จำลองรัศมีความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากระเบิดลูกนี้ถูกทิ้งลงไปยังที่อื่นๆ ซึ่งจะเห็นว่าหากเป็นกรุงเบรุตเหมือนกัน รัศมีของการระเบิดนั้นจะครอบคลุมแทบทั้งหมดของเมืองหลวงเลยทีเดียว

ในขณะที่นิวเคลียร์ลิตเติ้ลบอยว่าน่ากลัวแล้ว แต่นั่นคือระเบิดเมื่อ 80 ปีก่อน เพราะในปัจจุบันโลกของเราพัฒนาอาวุธจนสามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์ที่มีศักยภาพมากกว่านั้น ได้แก่ ซาร์ บอมบา ระเบิดนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่พัฒนาขึ้นโดยรัสเซีย ซึ่งหากทิ้งลงไปยังกรุงเบรุต จากการคำนวณจะพบว่า แรงระเบิดนั้นแทบจะทำลายเกือบทั้งประเทศเลบานอนเลยทีเดียว

36 ภาพ "ระเบิดเลบานอน" กรุงเบรุตพังราบ

ทั้งนี้เหตุระเบิดจากสารเคมีอย่าง แอมโมเนียมไนเตรท ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2015 ที่จีนเองก็เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับท่าเรือนครเทียนจิน โดยครั้งนั้นเป็นคลังเก็บแอมโมเนียมจำนวน 800 ตันส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 173 ราย

นอกเหนือจากจีนแล้ว ในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส สเปน และเม็กซิโกเองก็เคยเกิดเหตุระเบิดทำนองนี้ ร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมาเกิดที่เยอรมนี ในปี 1921 ที่โรงงานเคมี เมืองลุกวิดฮาเฟน ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตมากถึง 561 ราย ส่วนในอเมริกา รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในปี 1947 กับเรือขนส่งสินค้า มีผู้เสียชีวิต 581 ราย

เมื่อเหตุระเบิดเริ่มสงบลง ในช่วงกลางคืนชาวเลบานอนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับจุดระเบิดได้เข้ามาสำรวจอาคารบ้านเรือนของตัวเอง

ทั้งภายในและภายนอกอาคารได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ทุกอย่างถูกระเบิดเหลือแต่ซาก

แม้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะถูกรายงานว่าเป็นอุบัติเหตุ

แต่เหตุระเบิดครั้งนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมคลังสินค้าแห่งนี้ถึงได้รับอนุญาตให้เก็บสารแอมโมเนียม ไนเตรท สารเคมีผลิตระเบิดไว้ในปริมาณมากมายขนาดนี้ และอยู่ใกล้กับบ้านเรือนผู้คน

เป็นอุบัติเหตุจริงๆ หรือมีอะไรแอบแฝงหรือไม่

มิเชล อูน ประธานาธิบดีของเลบานอนโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ว่า การเก็บสารแอมโมเนียม ไนเตรทไว้มากถึง 2,750 ตัน โดยไม่ปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดเป็นเรื่องที่รับไม่ได้

แอมโมเนียม ไนเตรท เป็นสารเคมีที่นิยมนำมาใช้ในการผลิตปุ๋ยและระเบิด ซึ่งการเก็บสารเคมีชนิดนี้จะต้องปฏิบัติตามแนวทางต่างๆ อย่างเคร่งครัด  เช่น สถานที่เก็บจะต้องกันไฟ ไม่เป็นไม้ และต้องไม่มีน้ำรั่วไหล เนื่องจากสารแอมโมเนียมไนเตรทติดไฟง่ายมาก และแอมโมเนียมไนเตรทไม่ควรเก็บรักษาไว้ใกล้สารเคมีที่ไวไฟ อีกทั้งต้องมีกำแพงกันไฟสูง 50 ฟุตกั้นสถานที่จัดเก็บ หากอยู่ใกล้ตึกหรือสิ่งของที่สามารถติดไฟได้ และสถานที่จัดเก็บนี้ต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยอยู่อย่างแน่นหนา ควรเก็บมากที่สุด 300 ตัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าคลังสินค้าแห่งนี้ที่เลบานอนเก็บเกินปริมาณที่ควรจะเป็นไปมาก

ผลจากการสืบสวนเบื้องต้นพบว่า ที่จริงแล้วเจ้าหน้าที่เลบานอนทราบมานานกว่า 6 ปีแล้วว่าท่าเรือแห่งนี้มีสารเคมีอันตรายอย่างแอมโมเนียมไนเตรทเก็บสะสมอยู่  

มีข้อมูลว่า สารเคมีดังกล่าวเดินทางมาถึงเลบานอน เมื่อเดือนกันยายน ปี 2013 โดยเรือบรรทุกสินค้าสัญชาติรัสเซียที่เดินทางจากจอร์เจียไปยังโมซัมบิก โดยเรือลำดังกล่าวแวะจอดที่ท่าเรือในกรุงเบรุต หลังประสบปัญหาขัดข้องระหว่างการเดินเรือ ทางการเบรุตเองห้ามไม่ให้เรือลำนี้เดินทางต่อ จากนั้นไม่นานลูกเรือก็หนีไป ทิ้งเรือไว้กับท่าเรือแห่งนี้  สินค้าภายในจึงถูกถ่ายออกเก็บไว้ในคลังเก็บสินค้าที่ท่าเรือ

หลังจากนั้น ในช่วง 3 ปีแรก ชาฟิก เมอร์ฮี ผู้อำนวยการกรมศุลกากรเลบานอนส่งหนังสือด่วนถึงทางการหลายครั้ง เพื่อหาวิธีจัดการกับสินค้าที่ไม่ได้รับเชิญ ที่มีสารแอมโมเนียมไนเตรท ที่เป็นวัตถุระเบิดอันตรายรวมอยู่ด้วย โดยแนะให้ส่งออกแอมโมเนียมไมเตรทเหล่านี้ ส่งต่อให้ทางการทหาร หรือขายต่อให้กับบริษัทเอกชน แต่ไม่เคยได้รับการตอบกลับจากทางการ ส่งผลให้แอมโมเนียมไมเตรทไม่เคยถูกย้ายออกไปไหน และนำมาสู่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น

ตอนนี้ทางการเลบานอนได้ประกาศให้พื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ และอนุมัติงบประมาณ 66 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2 พันล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้อีกทั้งสั่งเร่งสืบสวนหาสาเหตุของการระเบิดครั้งนี้โดยทันที โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับหายนะครั้งนี้จะต้องได้รับโทษอย่างสูงสุด

สื่อท้องถิ่นของเลบานอนรายงานว่าคลังสินค้าแห่งนี้ยังเป็นคลังเก็บดอกไม้ไฟ คลิปวีดีโอที่โพสต์บนโซเชียลมีเดียหลายคลิปเผยให้เห็นแสงไฟลักษณะคล้ายแสงแฟลชจำนวนมากกระพริบๆ อยู่ในหมู่ควันดำ ก่อนจะเกิดการระเบิดใหญ่ครั้งที่สอง อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า ประกายไฟสีขาวอาจเป็นปฏิกริยาระเบิดของสารเคมี

และในการระเบิดครั้งที่สองนี้เองที่มีแรงสั่นสะเทือนเท่ากับแผ่นดินไหวระดับ 3.5 แมกนิจูด มีอานุภาพทำลายล้างอาคารบ้านเรือนในรัศมี 10 กิโลเมตร

มีรายงานว่ามีอาคารหนึ่งหลังถล่มลงมาทั้งอาคาร และควันจากการระเบิดครั้งที่สองลอยสูงขึ้นไปบนฟ้าหลายพันฟุต เบื้องต้นยังไม่มีรายงานยืนยันว่า แสงไฟที่มีลักษณะคล้ายแสงแฟลชนั้นเกิดจากดอกไม้ไฟจริงหรือไม่

ด้านกองทัพของสหรัฐอเมริกาตั้งข้อสันนิษฐานว่า เหตุระเบิดครั้งนี้ดูคล้ายเหตุโจมตีมากกว่า

เช่นเดียวกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่บอกว่า เหตุระเบิดครั้งนี้ดูเหมือนเป็นเหตุโจมตีที่รุนแรง

อย่างไรก็ตามนายพล อับบาส อิบราฮม ผู้บัญชาการหน่วยความมั่นคงของประเทศประกาศว่า ยังไม่อยากให้เลบานอนด่วนสรุปอะไร หรือคาดการณ์ไปแล้วว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ก่อการร้าย โดยเลบานอนจะเร่งเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคลังสินค้าอันตรายแห่งนี้โดยเร็วที่สุด

เลบานอนเป็นอีกประเทศในตะวันออกกลาง ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของความขัดแย้งในตะวันออกกลางเป็นเวลาหลายสิบปี และเหตุระเบิดที่คลังสินค้าแห่งนี้เกิดขึ้นใกล้กับจุดเกิดเหตุลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรี และเกิดในเวลาก่อนการตัดสินคดีลอบสังหารนี้เพียงแค่ 2 วัน

เลบานอนเป็นประเทศเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ชายฝั่งด้านตะวันออกของทะเลเมเดอร์ติเรเนียนในตะวันออกกลาง มีประชากรราว 6.8 ล้านคน ที่มีพรมแดนติดกับซีเรียเป็นระยะทางยาวตั้งแต่ภาคเหนือถึงภาคตะวันออก และมีพรมแดนทางใต้ติดกับอิสราเอล และตกเป็นพื้นที่ความขัดแย้งระหว่างซีเรียกับอิสราเอลตั้งแต่ปี 1982 โดยทั้งสองประเทศเคยเข้ายึดครองพื้นที่บางส่วนของเลบานอน ก่อนจะถอนกองทัพออกไปในปี 2005

การยึดครองเลบานอนของอิสราเอล ทำให้เกิดองค์กรที่ชื่อว่าเฮซบอลเลาะห์ขึ้น เป็นองค์กรที่เคลื่อนไหวทั้งทางทหารและการเมืองเพื่อต้อต้านการยึดครองของอิสราเอล

องค์กรเฮซบอเลาะห์ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากทั้งอิหร่านและซีเรีย โดยสหรัฐฯ และอิสราเอลขึ้ยบัญชีดำว่ากลุ่มฮิซบอเลาะห์เป็นกลุ่มก่อการร้าย

และก่อนหน้าเหตุระเบิดครั้งนี้ไม่นาน เพิ่งเกิดเหตุตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มเฮซบอเลาห์ โดยอิสราเอลกล่าวหาว่า ฮิซบอเลาะห์พยายามแทรกซึมเข้าไปในพรมแดนอิสราเอล ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิสราเอลให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า อิสราเอลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดครั้งนี้

ที่น่าสนใจคือ จุดเกิดเหตุระเบิดคลังสินค้าครั้งนี้ เกิดขึ้นใกล้กับจุดเกิดเหตุคาร์บอมบ์ที่ลอบสังหารราฟิก ฮาริรี อดีตนายกรัฐมนตรีของเลบานอนในวันวาเลนไทน์เมื่อปี 2005 และเกิดขึ้นก่อนการประกาศคำพิพากษาคดีลอบสังหารนี้ ที่กลุ่มฮิซบอเลาะห์ถูกตั้งข้อหาเพียง 2 วัน

ในครั้งนั้นมือระเบิดฆ่าตัวตายใช้ระเบิดทีเอ็นทีประมาณ 1,800 กิโลกรัมมัดเข้ากับรถยนต์ และเข้าไปจอดรอขบวนรถของฮาริรีก่อนจะจุดชนวนระเบิด เมื่อขบวนรถของนายกรัฐมนตรีผ่านไป

ผู้คนในกรุงเบรุตรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของระเบิดครั้งนั้น เหมือนกับเหตุระเบิดคลังสินค้าในครั้งนี้ ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตอีก 22 คน และได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 200 คน

เป็นคดีสะเทือนขวัญของชาวเลบานอน และกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ของเลบานอนและตะวันออกกลาง

หลังเกิดเหตุมีหลายฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ โดยรัฐบาลเลบานอนได้กล่าวหาซีเรีย เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่นายกรัฐมนตรีฮาริรีต้องการให้ซีเรียถอนกำลังออกจากเลบานอน

แต่การถอนกำลังซีเรียออกจากเลบานอนก็ทำให้กลุ่มฮิสบอเลาะห์ตกเป็นผู้ต้องสงสัยเช่นกัน เพราะการถอนกำลังของซีเรีย ทำให้กลุ่มฮิซบอเลาะห์ขึ้นมามีอำนาจในเลบานอน และตั้งแต่นั้นมาเราก็เห็นกลุ่มฮิซบอเลาะห์ขึ้นมามีบทบาทการการเมือง

ซึ่งต่อมาในปี 2007 คณะตุลาการศาลพิเศษซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยสหประชาชาติ ได้ออกหมายจับสมาชิกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ 5 คน เป็นชายทั้งหมด โดยกลุ่มฮิซบอเลาะห์ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และยืนกรานว่าจะไม่ส่งตัวใครให้ยูเอ็น

โดยศาลพิเศษของยูเอ็นจะประกาศคำพิพากษาในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ซึ่งล่าสุดยังไม่มีหลักฐานหรือรายงานว่าเหตุระเบิด 2 เหตุนี้เชื่อมโยงกันหรือไม่

เจ้าหน้าที่ คาด "แอมโมเนีย ไนเตรท"ชนวนเหตุระเบิดเลบานอน

เลบานอนเล็งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 2 สัปดาห์หลังเหตุระเบิด

ที่มา:รายการรอบโลกDAILY 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ