นักวิจัยพบหอยทากจิ๋วเล็กที่สุดในประเทศไทย คาดเล็กที่สุดในโลก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทีมผู้วิจัย ม.บูรพา และ ม.เกษตรศาสตร์ พบหอยทากจิ๋วในถ้ำของประเทศไทย โดยเป็นหอยทากที่มีขนาดเล็กที่สุดในประเทศ ราว 0.68 มิลลิเมตรเท่านั้น

ทีมผู้วิจัยเกี่ยวกับความหลากชนิดของหอยทากจิ๋วบริเวณเขาหินปูน ซึ่งประกอบด้วย ผศ.พงษ์รัตน์ ดำรงโรจน์วัฒนา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับ ดร.กรอร วงษ์กำแหง ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนิสิตภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยการค้นพบหอยทากจิ๋วในถ้ำต่าง ๆ ของประเทศไทย

นักวิจัย ม.มหาสารคาม พบ “หอยแก้วน้อย” หอยทากบกชนิดใหม่ของโลก

จุฬาฯ เปิดตัว "ฟาร์มหอยทากเชิงนิเวศ" แห่งแรกในเอเชีย !!

หอยทากจิ๋วชนิดใหม่ อาจมีขนาดเล็กที่สุดในโลก

หอยทากจิ๋วถ้ำที่ทีมวิจัยพบจัดได้ว่าเป็นหอยทากบกที่มีขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย เมื่อโตเต็มที่แล้วมีขนาดประมาณ 0.7 มิลลิเมตร โดยขนาดที่เล็กที่สุดพบที่ถ้ำเพชรโพธิ์ทอง จ.สระแก้ว มีขนาดเพียง 0.68 มิลลิเมตรเท่านั้น จัดอยู่ในสกุลเดียวกับหอยทากจิ๋วที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก คือ สกุล  Angustopila โดยชนิดที่เล็กที่สุดในโลกมีขนาด 0.86 มิลลิเมตร คือ Angustopila dominikae ที่ประเทศจีน

ผศ.พงษ์รัตน์ระบุว่า “หอยทากที่พบนั้นมีขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย ถ้าถามว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกมั้ย โดยทั่วไปถือว่าเป็น แต่ในทางวิชาการ เนื่องจากยังไม่มีการเผยแพร่ตามหลักการขั้นตอน ก็ยังพูดได้ไม่เต็มปากว่าเป็นชนิดใหม่”

หอยทากจิ๋วสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยทีมวิจัยได้ถ่ายภาพหอยทากจิ๋วคู่กับวัตถุต่าง ๆ เช่น เหรียญ 50 สตางค์ รูเข็มเย็บผ้า เป็นต้น เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัด ๆ ว่าหอยทากจิ๋วที่ค้นพบนี้มีขนาดเล็กเท่าไร

ปัจจุบันหอยทากจิ๋วในถ้ำของไทยยังอยู่ระหว่างการจัดจำแนกชนิดและรอการตั้งชื่อต่อไป คาดว่าจะมีประกาศการค้นพบอย่างเป็นทางการภายใน 1-2 ปี โดยต้องผ่านกระบวนการทางงานวิจัยเสียก่อน เช่น ศึกษาหอยทากจิ๋วขนิดนี้ผ่านกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน เขียนบทความทางวิทยาศาสตร์ ส่งให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจและแก้ไข เป็นต้น

พบหอยทากจิ๋วได้ที่ไหน?

“หอยทากชนิดนี้จะอยู่เฉพาะภูเขาหินปูน เท่าที่พบคือในภาคตะวันออก ชลบุรี ระยอง สระแก้ว สระบุรี ที่ภาคอีสานก็มี ถ้าพูดจริง ๆ น่าจะทั่วประเทศ แต่น่าจะยังไม่มีคนศึกษามากกว่า” ผศ.พงษ์รัตน์กล่าว

อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์บอกว่า “เวลาพูดถึงถ้ำ เราจะนึกถึง ปลาถ้ำ กุ้งถ้ำ เราก็สงสัยว่ามีหอยมั้ยในถ้ำ ก็ลองหา แต่พอเจอในถ้ำก็มีคำถามว่า ‘แล้วถ้ำอื่นล่ะ?’ ซึ่งเราไม่ได้เจอทุกถ้ำ ถ้ำไหนเป็น ‘ถ้ำเป็น’ ก็ยังเจออยู่ ถ้ำเป็นคือถ้ำที่ยังคงสภาพดีอยู่ มีหินงอกหินย้อย เป็นถ้ำที่ไม่มีสิ่งรบกวนมาก”

สำหรับถ้ำแรกที่พบ คือถ้ำเพชรโพธิ์ทอง จ.สระแก้ว พบบริเวณในสุดของถ้ำ แต่ไม่พบในส่วนอื่นของถ้ำ นอกจากนี้ ยังมีที่ถ้ำพระขยางค์ จ.ระนอง “บางถ้ำ ถ้าถ้ำชื้น แสงส่องไม่ถึงเดินเข้าไป 20-30 เมตรก็เจอ แต่ถ้าถ้ำแห้ง มีแสงมาก เดินเข้าไป 200-300 เมตรไม่เจอก็มี ขึ้นอยู่กับแสง ความชื้น”

หอยทากจิ๋วสำคัญอย่างไร?

หอยทากจิ๋วในถ้ำเป็นเหมือนดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของถ้ำ หากเป็นถ้ำที่มีมนุษย์เข้าไปทำกิจกรรม เช่น ถ้ำท่องเที่ยว ถ้ำของวัดต่าง ๆ จะไม่พบหอยหากจิ๋ว ซึ่งสำหรับถ้ำที่ยังพบอยู่นั้น หากไม่ได้รับการดูแลรักษาให้ดี ก็อาจทำให้หอยทากจิ๋วชนิดนี้สูญพันธุ์ได้ เพราะโดยปกติต่อถ้ำจะพบตัวอย่างหอยทากจิ๋วเป็น ๆ เพียง 10-20 ตัวเท่านั้น

“การรักษาหอยทากจิ๋วไว้เป็นเรื่องต้องทำ มีการประเมินว่า เรากำลังอยู่ในยุคสูญพันธุ์ใหญ่ (Mass Extinction) ครั้งที่ 6 ซึ่งครั้งล่าสุดคือยุคครีตาเชียสที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ ณ วันนี้ ในทางวิชาการ โดยหลักการ สิ่งมีชีวิตไม่ควรจะลดจำนวนลงไปอีก ทำอย่างไรจึงจะทำให้พวกเขาอยู่ได้นานที่สุด ทำให้หายไปจากโลกช้าที่สุด” ผศ.พงษ์รัตน์กล่าว

ทั้งนี้ อาจารย์ยอมรับว่า การทำถ้ำท่องเที่ยวเป็นเรื่องปากท้อง การทำมาหากินของบางชุมชน แต่หากจำเป็นจริง ๆ แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายสิ่งมีชีวิตในถ้ำ

ผศ.พงษ์รัตน์มองว่า “ถ้ำก็มีชีวิตของมัน การติดไฟนีออน การมีคนเข้าไปเที่ยว อาจไปเปลี่ยนวิถีชีวิตสิ่งมีชีวิตในถ้ำ ไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้ เป็นการมองแค่ปลายจมูก พอผ่านไป 4-5 ปีถ้ำก็โทรม คนก็ไม่เที่ยว สุดท้ายธรรมชาติก็หายไปด้วย”

เมื่อใดที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปรบกวนถ้ำ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การติดไฟนีออน ความร้อนจากหลอดไฟทำให้สูญความชื้น เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากคนหรือนักท่องเที่ยว ล้วนส่งผลกระทบในทางลบต่อถ้ำทั้งสิ้น

แต่อีกแนวทางหนึ่งที่อาจสามารถทำได้ อาจารย์แนะนำว่า อาจทำเป็นการท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงอนุรักษ์ เพิ่มกิมมิกหรือไฮไลต์ให้กับถ้ำ โดยที่พยายามรบกวนถ้ำและหอยทากจิ๋วให้น้อยที่สุด อาจจัดกิจกรรมตามหาหอยทากจิ๋วในถ้ำ แต่ต้องมีแนวทางการจัดการที่ดีและรัดกุม

“แต่เดิมใจจริง ๆ ผมอยากให้มีรายงานอย่างเป็นทางการก่อนถึงค่อยออกมาเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับหอยทากจิ๋วเหล่านี้ แต่กลัวว่าถ้ารอต่อไปถ้ำอาจจะไม่เหลืออะไรแล้ว กลัวจะเป็นรายงานครั้งแรกและครั้งสุดท้าย” ผศ.พงษ์รัตน์กล่าว

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ