เปิดใจ กรรมการบริษัทอัคราฯ เชื่อ หากรัฐไม่ใช้ ม.44 สั่งปิดเหมืองไม่ได้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทีมข่าวพูดคุยกับกรรมการบริษัทกรรมการ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า ส่วนตัวเชื่อว่าตอนนั้น รัฐไม่ใช้มาตรา 44 สั่งปิดเหมือง ก็จะไม่สามารถปิดเหมืองทองคำได้

ป.ป.ช.พบเส้นทางการเงิน"สินบน"คดีเหมืองอัครา

หมอเรวัต ค้านงบ 111 ล้านสู้คดี “เหมืองทองอัครา” ชี้ “บิ๊กตู่”ไม่ใช่จนท.รัฐ ต้องรับผิดชอบเอง

แม้ว่าการต่อสู้คดีเหมืองทองอัคราระหว่างรัฐบาลกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มองว่า มีโอกาสสูงที่บริษัทเอกชนจะชนะการฟ้องร้อง เพราะมีการใช้มาตรา 44 ในการสั่งปิด ขณะที่ทีมข่าวพูดคุยกับกรรมการบริษัทกรรมการ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า ส่วนตัวเชื่อว่าตอนนั้น รัฐไม่ใช้มาตรา 44 สั่งปิดเหมือง ก็จะไม่สามารถปิดเหมืองทองคำได้

ทีมข่าวพีพีทีวีได้รับข้อมูลจาก นายสิโรจน์ ประเสริฐผล กรรมการ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ได้รับสัมปทานเหมืองทองคำ หลังจากติดต่อประสานงานไปเพื่อสอบถามข้อมูล นายสิโรจน์ ระบุว่า สะดวกให้ข้อมูลเป็นข้อความ เพราะ ต้องเดินทางไปต่างจังหวัด

ทีมข่าวถามคำถาม 3 ข้อกับนายสิโรจน์ และได้รับคำตอบดังนี้

ประเด็นแรก คือ การดำเนินการของเหมืองชาตรี มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ นายสิโรจน์ ยืนยันว่า การดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี มีการตรวจสอบ กำกับดูแลอย่างเคร่งครัด โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทุกครั้งที่มีการร้องเรียน บริษัทฯ ไม่เคยนิ่งนอนใจ แต่ได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบ โดย นายสิโรจน์ ยกตัวอย่างกรณีการจัดตรวจสุขภาพรายไตรมาสให้กับพนักงานที่ทำงานในเหมืองกว่า 1,000 คน ผลปรากฎว่าพนักงานทุกคนมีผลการตรวจสุขภาพปกติ ไม่มีใครป่วยจากสารโลหะหนักหรือสารอื่นๆ ที่ใช้ในการดำเนินงาน ทั้งๆ ที่ล้วนทำงาน "อยู่ในเหมือง" ทำให้มั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัย

เมื่อถามว่าหากตอนนั้น รัฐบาลใช้กฎหมายปกติ ในการสั่งปิดเหมืองฯ ไม่ได้ใช้ ม.44 บริษัทจะดำเนินการอย่างไร นายสิโรจน์ มองว่า เหมืองแร่ทองคำชาตรี ไม่ได้ดำเนินกิจการที่ขัดต่อกฏหมายหรือสร้างผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม พร้อมบอกว่ามีเอกสารทางราชการและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน ดังนั้นหากรัฐใช้กฏหมายปกติในการดูแล จะไม่มีเหตุผลใด ๆ ในการสั่งปิดเหมืองได้ และบริษัทจะไม่มีการปลดพนักงาน มีแต่จะเกิดการจ้างงานและการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่

ส่วนความคืบหน้าคดีความตอนนี้ นายสิโรจน์ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทางบริษัท คิงส์เกทฯ และรัฐบาลไทยได้ไปให้ข้อมูลต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแล้ว โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญ และพยานจากทั้งสองฝ่ายขึ้นให้ข้อมูลที่ประเทศสิงคโปร์ หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้นำส่งเอกสาร และข้อมูลต่างๆ ไปก่อนหน้านี้ ปัจจุบัน ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดี และยังไม่มีคำตัดสินชี้ขาด แต่บริษัทฯ พร้อมเจรจากับรัฐบาลเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดแก่ทุกฝ่าย รวมถึงชาวไทยทุกคน

ทีมข่าวพีพีทีวี สัมภาษณ์พิเศษ นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) แสดงความเห็นว่า แม้สุดท้ายรัฐบาลจะมีหลักฐานชัดเจนว่าบริษัท คิงส์เกท คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ก็ยังมีโอกาสสูงที่จะแพ้คดี เพราะเป็นการสั่งปิดโดยให้เหตุผลเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ให้เหตุผลเรื่องการคอร์รัปชั่นหรือทำสัญญาโดยมิชอบตั้งแต่ต้น รวมทั้งมีการใช้มาตรา 44 ในการสั่งปิดโดยที่ไม่เปิดโอกาสให้บริษัทต่อสู้หรือชี้แจง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

นอกจากนี้ทีมข่าวยังพบว่า นายมานะ เคยเขียนบทความเผยแพร่ในเว็บไซต์ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เรื่อง “5 เรื่องควรรู้ ' ทำไมคนไทยต้องเสียค่าโง่' (อยู่เรื่อย!!)” ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการ ตั้งข้อสังเกตการต่อสู้คดีชั้นอนุญาโตตุลาการระหว่างรัฐและเอกชน เช่น มองว่า คดีส่วนใหญ่รัฐมักจะเป็นฝ่ายแพ้และต้องจ่ายเงินให้กับเอกชน

นอกจากนี้ยังระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้รัฐเสียเปรียบทางคดี ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มผู้ลงทุน มีประสบการณ์การลงทุน มีการศึกษาบริบทของประเทศที่จะลงทุน ให้ฝ่าย “เจ้าหน้าที่รัฐ” อาจไม่เท่าทันลูกเล่นของเอกชน ในบทความมีการยกตัวอย่างคดีดังที่ฝ่ายรัฐเคยชนะคดี ว่า ส่วนใหญ่จะเป็นคดีที่มีหลักฐานชัดว่าเอกชนมีการกระทำที่ไม่โปร่งใส

“ประยุทธ์” ลั่น สั่งปิดเหมืองทองอัครา ทำในฐานะนายกฯ

 

 

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ