อดีตพนง.เหมืองอัคราฯ โอด ปิดเหมืองขาดรายได้ ขณะที่ ฝ่ายค้าน ยัน สิ่งแวดล้อมสำคัญกว่า


โดย PPTV Online

เผยแพร่




อดีตพนักงานเหมืองอัคราเปิดผลตรวจสุขภาพกับทีมข่าวพีพีทีวี ยืนยันทำเหมืองมา 15 ปี ไม่พบโลหะหนักในร่างกาย โอดปิดเหมืองกระทบรายได้และเศรษฐกิจชุมชน ขณะที่ฝ่ายคัดค้านเหมืองเผยคลิปน้ำเสียไหลลงที่นา พร้อมโต้แย้งว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเทียบกันไม่ได้กับสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมสภาพ

“วิษณุ” ไม่ขอพูด แนวทางสู้คดีเหมืองอัคราฯ หวั่น เสียรูปคดี

เปิดใจ กรรมการบริษัทอัคราฯ เชื่อ หากรัฐไม่ใช้ ม.44 สั่งปิดเหมืองไม่ได้

นี่เป็นผลตรวจสุขภาพของนายคมสัน ขวัญแก้ว วัย 47 ปี ชาวหมู่บ้านลำประดา ต.เขาทราย อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร อดีตพนักงานเหมืองแร่ทองคำของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ตรวจโดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในวันที่ 7 มกราคม 2558 วันเดียวกับที่มีการชาวบ้านในหมู่บ้าน โดยผลตรวจโลหะหนักในร่างกาย ทั้งไซยาไนด์ สารหนู และแมงกานีส อยู่ในเกณฑ์ปกติ

นายคมสัน เปิดเผยว่า เริ่มเข้าไปทำงานในเหมืองตั้งแต่เริ่มเปิดปี 2543 โดยเป็นหนึ่งในคนงานสร้างเหมือง รายได้วันละ 300 บาท ก่อนขยับขยายเข้าเป็นพนักงานประจำฝ่ายผลิต และปรับตำแหน่งขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้เป็นหัวหน้าห้องทอง รายได้เดือนละ 40,000 กว่าบาท ก่อนที่เหมืองจะปิดตัวลงในเดือนมกราคมปี 2560

กรณีฝ่ายคัดค้านร้องเรียนให้ปิดเหมืองโดยอ้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ นายคมสัน มองว่า เป็นการเจ็บป่วยตามปกติ ไม่มีหลักฐานว่าสาเหตุมาจากเหมือง เพราะตนเองทำงานในเหมืองมากว่า 15 ปี อยู่ฝ่ายผลิตที่ใกล้ชิดสารเคมี แต่ไม่เคยตรวจพบสารเคมีในร่างกาย ซึ่งการที่เหตุผลนี้ทำให้เหมืองปิดตัวลง กระทบโดยตรงกับตนเอง ต้องเปลี่ยนอาชีพเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เหลือรายได้เพียงเดือนละ 5,000 บาท และชาวบ้านในชุมชนก็ค้าขายสินค้าได้น้อยลง เพราะไม่มีพนักงานเข้ามาจับจ่ายใช้สอย ขณะที่ บ.อัคราฯ ก็ยุติการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการจัดกิจกรรมภายในชุมชนทำให้คนในชุมชนขาดรายได้เช่นกัน แม้จะไม่ได้ทำงานในเหมือง

อีกมุมหนึ่ง ทีมข่าวพีพีทีวีได้รับข้อมูลจากฝ่ายคัดค้านการเปิดเหมือง นำคลิปวิดีโอที่ถ่ายไว้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 เป็นภาพที่นาของชาวบ้านที่ติดกับบ่อกักเก็บกากแร่ของเหมือง พบน้ำสีดำไหลเข้าท่วม นี่เป็นน้ำที่มีนักวิจัยเก็บตัวอย่างแล้วไปตรวจพบไซยาไนด์ลักษณะเดียวกับไซยาไนด์ในบ่อกักเก็บกากแร่ในภายหลัง โดยผู้ถ่ายคลิปตั้งข้อสังเกตว่าน้ำปริมาณมากและมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ

น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง วัย 43 ปี แกนนำชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมือง มองว่า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ชาวบ้านรอบเหมืองต้องเผชิญ สาหัสกว่าการขาดรายได้ของอดีตพนักงานเหมือง เพราะมีคนในพื้นที่มีเพียงไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ที่ได้ทำงานในเหมือง เพรา บริษัท โลตัสฮอลวิศวกรรมเหมืองแร่และก่อสร้าง ซึ่งเป็นบริษัทที่รับช่วงจาก บ.อัคราฯ มาคุมเรื่องการขุดเจาะและระเบิดเหมือง มาจาก จ.ลำปาง คนงานส่วนใหญ่ จึงเป็นคน จ.ลำปาง และบางส่วนก็มาจากจังหวัดอื่น ๆ

ส่วนมุมองถึงมุมเศรษฐกิจ นายเจนศิลป์ เจริญบวรศักดิ์ ประธานหอการค้า จ.พิจิตร ระบุว่า ชาวพิจิตรราว 80-90 เปอร์เซ็นต์ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่พื้นที่ อ.ทับคล้อ โดยเฉพาะใน ต.เขาเจ็ดต้น ที่มีการตั้งเหมือง เป็นที่ราบสูงที่ค่อนข้างแห้งแล้ง เพาะปลูกไม่ค่อยขึ้น แต่การทำเหมืองทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ 3 จังหวัดรอบเหมือง คือ พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก 500-600 ล้านบาทต่อปี ซเมื่อคำนวณเงินสะพัดในพื้นที่ พบว่าชาวบ้าน อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ได้ส่วนแบ่ง 60 เปอร์เซ็นต์ เพราะพื้นที่เหมืองส่วนใหญ่อยู่ในเขต จ.พิจิตร

และเงินหมุนเวียนในพื้นที่ไม่ได้มาจากการจ้างงานของบริษัททำเหมืองเพียงอย่างเดียว เพราะมีคนเข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก ทำให้มีการใช้จ่าย และมีการเปิดหอพัก สร้างรายได้ให้คนในชุมชน เมื่อปิดเหมืองจึงกระทบต่อรายได้ของชาวบ้าน ส่วนตัวจึงมองว่าควรกลับมาเปิดเหมืองอีกครั้ง แต่ บ.อัคราฯ ก็ต้องดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างรัดกุมขึ้น

นอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทีมข่าวพยายามติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องผลกระทบของเหมืองต่อสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานรัฐในพื้นที่ โดยติดต่อไปทางผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานปฏิเสธให้สัมภาษณ์ โดยให้เหตุผลว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาอนุญาโตตุลาการ ไม่สามารถออกความเห็นหรือให้ข้อมูลใด ๆ ได้

“ประยุทธ์” ลั่น สั่งปิดเหมืองทองอัครา ทำในฐานะนายกฯ

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ