ส่อง แอปพลิเคชั่น ติดตามโควิด-19 ในต่างแดน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากกรณีดีเจติดโควิด-19 ล่าสุด และพบว่า ในช่วงวันเวลาที่ชายติดเชื้อผู้นี้ทำงานในที่ต่างๆ กลับมีผู้เช็คอินผ่านแอปพลิเคชันไทยชนะของร้านและสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ เพียง 3 คนเท่านั้น ขณะที่ในต่างประเทศรัฐบาลและเอกชนก็มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับการติดตาม เฝ้าระวัง การแพร่ระบาดโควิด-19 เช่นกัน โดยพีพีทีวี ช่อง 36 รวบรวมมาเป็นตัวอย่างในบางประเทศที่มีทั้งผู้ให้ความร่วมมือ ขณะที่บางประเทศก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน

เริ่มที่ เกาหลีใต้ กับ Corona 100m App เป็นที่นิยมอย่างมาก และนอกจาก Corona 100m App แล้ว เกาหลีใต้มีอีก 6 แอปพลิเคชั่น สำหรับติดตามสถานการณ์การระบาด แต่ Corona 100m App มียอดดาวน์โหลดมากติด 15 อันดับแอปพลเคชั่น ยอดนิยมใน Google Play Store เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ใช้ระบบแอนดรอยด์

เปิดระบบติดตาม โควิด-19 ของเกาหลีใต้

Corona 100m App มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 1 ล้านครั้ง ตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัว (11 ก.พ. 2563) และเพิ่มขึ้น 20,000 คนทุกๆ ชั่วโมง ซึ่งการทำงาน คือ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะทำการยืนยันตัวตน พร้อมสัญชาติ เพศ อายุ เพื่อแอปพลิเคชั่นจะนำไปแสดงผล ตั้งแต่สถานที่ที่ผู้ป่วยคนนั้นๆ เคยเดินทางไปมา ระยะห่างระหว่างผู้ติดเชื้อกับคนอื่นๆ ที่ใช้งานแอปพลิเคชั่นเดียวกัน เพื่อช่วยให้คนหลีกเลี่ยงไปพื้นที่ดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมี Corona Map ซึ่งผู้พัฒนาจะนำข้อมูลของรัฐบาลที่สื่อสารให้กับประชาชน เช่น สถานที่ที่มีผู้ติดเชื้อ จากนั้น Corona Map จะแปลงข้อมูลนั้นออกมาเป็นแผนที่ในระบบดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนเข้าใจง่ายๆ ว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ตรงจุดใดและเคยไปสถานที่ใดมาบ้าง

ในเบื้องต้นทั้ง 2 แอปพลเคชั่น ถูกพัฒนาขึ้นมาจากเงินส่วนตัวของผู้พัฒนา อย่าง Corona 100m App ผู้พัฒนาคือ แบ วอน-ซอค แต่ปัจจุบันมีการบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนในการพัฒนาต่อไปอีก

ต่อมาคือ ญี่ปุ่น โดยกระทรวงสาธารณสุข ทดสอบการใช้แอปฯ โคโค่ (COCOA) ย่อมาจาก COVID-19 Contact Confirming Application หรือแอปพลิเคชันยืนยันใกล้ชิดโควิด-19  เพื่อแจ้งเตือนประชาชน หากเคยมีการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 การทำงานจะเก็บข้อมูลเส้นทางการเดินทางของผู้ใช้งาน จากนั้นหากพบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ใกล้จะประมวลผลและแจ้งเตือน

โดยมีที่ตรวจพบเชื้อสามารถเข้าไประบุสถานะตัวเองได้เพื่อแจ้งเตือนไปยังผู้ใชงานคนอื่นๆ ที่เคยเข้าไปใกล้เพื่อคนคนนั้นจะสังเกตอาการของตนเองและได้รับการตรวจเชื้อได้ทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการปล่อยให้ประชาชนดาวน์โหลดและใช้งานจริง รัฐบาลญี่ปุ่นทำการทดลองใช้ก่อน 1 เดือนเพื่อความแม่นยำ และใช้การทำงานผ่านระบบบลูทูธ โดยยึดหลักห้ามละเมิดสิทธิมนุษยชน ข้อมูลจะถูกเก็บไว้ภายในเครื่องเท่านั้น ผู้ใช้คนอื่นจะไม่สามารถระบุตัวตน แล้วเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ติดเชื้อได้

สิงคโปร์ ใช้แอปพลิเคชั่น TraceTogether จะติดตามการมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดด้วยบลูทูธ แต่มีคนดาวน์โหลดมาใช้น้อยกว่าร้อยละ 20 ของประชากรในประเทศ แต่ยังมีข้อบกพร่องเมื่อโหลดมาแล้วทำให้ไม่สามารถรับโทรศัพท์ได้โดยที่ยังใช้แอปพลิเคชั่นนี้

โซนยุโรปเร่งพัฒนาแอปพลิเคชั่นแต่ยังติดเรื่องสทิธิมนุษยชน

ทางฝั่งยุโรป เห็นชัด คือ เยอรมนีที่เปิดตัวแอปพลิเคชันเฝ้าระวังโควิด-19 โดยรัฐบาลเยอรมนีและบริษัทดอยซ์ เทเลคอม รวมถึง บริษัทเอสเอพี และสถาบันวิจัย คิดค้นแอปพลิเคชันนี้ขึ้นมา ซึ่งผู้ใช้งานที่ตรวจพบ โควิด-19 สามารถกรอกข้อมูลลงแอปฯ เพื่อแจ้งให้กับทุกคนที่มีแอปฯ นี้เช่นกัน หากไปอยู่ในระยะใกล้ชิดกับผู้ป่วย โควิด-19

หรือ สหราชอาณาจักร  ล่าสุด NHS หรือระบบสาธารณสุขแห่งชาติของสหราชอาณาจักร กำลังพัฒนาแอปพลิเคชั่นติดตามตัวตน ที่ใช้ API Contact Tracing Bluetooh ของกูเกิล-แอปเปิล ถือเป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุขประเทศแรกที่ใช้งาน API ตัวนี้

โดย Matt Hancock รัฐมนตรีสาธารณสุขของอังกฤษว่า NHS กำลังร่วมมือกับทั้งสองบริษัทอยู่จริง และระบุว่าการใช้งานแอพตัวนี้เป็นไปตามความสมัครใจ ส่วนการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด

สำหรับ NHS  เป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับดาวน์โหลดลงสมาร์ทโฟน ใช้เทคโนโลยีบลูทูธ เพื่อตรวจสอบเมื่อผู้ใช้สัมผัสกับผู้อื่นที่มีแอปพลิชั่นในโทรศัพท์ของตน ออกแบบมาเพื่อ แจ้งเตือนคุณหากคุณได้สัมผัสกับผู้ที่มีอาการโควิด-19 หรือได้รับการทดสอบในเชิงบวก ซึ่งการแจ้งเตือนอาจแนะนำให้คุณแยกตัวเป็นเวลา 14 วันและรับการทดสอบโคโรนาไวรัสหากคุณมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ

เยอรมนีเปิดตัวแอปพลิเคชันเฝ้าระวังโควิด-19

เช่นเดียวกับ สวิตเซอร์แลนด์ ใช้ชื่อว่า แอปพลิเคชั่น "SwissCovid" ที่สร้างขึ้นโดย Swiss Federal Institute of Technology Lausanne (EPFL) และออกแบบมาเพื่อติดตามผู้ที่อาจติดเชื้อโควิด-19 แต่ยังถูกคัดค้านโดยรัฐสภาในแง่สิทธิมนุษยชน

บางประเทศส่งตรงถึงมือถือทุกคน!

ต่อมาคือ อิสราเอล เมื่อหน่วยงานความมั่นคงติดตามความเคลื่อนไหวของประชาชนผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยผ่านการเห็นชอบจากสภาอิสราเอล โดยการทำงานเมื่อหน่วยความมั่นคงและหน่วยงานสาธารณสุขอิสราเอล มองว่า บุคคลนั้นเข้าข่ายติดเชื้อโควิด-19 จะส่งข้อความเตือนบุคคลดังกล่าว รวมทั้งส่งข้อความเตือนคนรอบข้างที่ใกล้ชิดหรือเกี่ยวข้องกับบุคคลนั้นเพื่อให้ระวังตัวเอง

แต่ดูเหมือนว่าวิธีการนี้จะถูกคัดค้านจากหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนอิสราเอล โดยระบุว่า การติดตามในลักษณะนี้เหมือนกับหน่วยข่าวกรองอิสราเอลติดตามตวามเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้าย แต่ทางการยืนยันว่า เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วยในด้านสาธารณสุขที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

ขณะเดียวกัน ทางการอิสราเอล ก็เปิดให้ใชเแอปพลิเคชั่น The Shield ติดตามการปฏิสัมพันธ์ตั้งแต่ปลาย มี.ค. โดยมีคนดาวน์โหลดไปแล้ว 1.5 ล้านครั้ง เมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา แอปพลิเคชั่นนี้จะเฝ้าระวังการเดินทาง โดยเก็บข้อมูลไว้ในโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้เอง หากต่อมา ผู้ใช้ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อก็สามารถตัดสินใจได้ว่าจะเปิดเผยข้อมูลสถานที่ของตัวเองให้กับเจ้าหน้าที่หรือไม่

เช่นเดียวกับที่ อินเดีย โดยความร่วมมือจากผู้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ จะใส่คำเตือนสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ ความยาว 30 วินาที แทนเสียงเรียกเข้า หรือ ริงโทน เพื่อให้ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ทุกครั้งที่ติดต่อผ่านทางโทรศัพท์มือถือ

แต่มีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่อินเดียจำนวนมากแสดงความไม่พอใจในระบบดังกล่าว เนื่องจากเสียงของระบบคำเตือนโคโรนาไวรัสนั้นเริ่มต้นด้วยเสียงไอ สร้างความรำคาญให้กับผู้ใช้งาน

รวมถึงมีแอปพลิเคชั่น ชื่อ AarogyaSetu ในการติดตามผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาและคนที่มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ผ่านบลูทูธที่จะสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ติดเชื้ออยู่ใกล้กับใครบ้าง โดยทางการอินเดียเปิดเผยว่ามีคนโหลดแอปนี้มากถึง 75 ล้านครั้งแล้ว และมีภาษาให้เลือกมากถึง 11 ภาษาและสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งในสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบแอนดรอยด์และ iOs

ออสเตรเลีย ใช้แอปพลิเคชัน COVIDSafe มีต้นแบบมาจากสิงคโปร์ ซึ่งอนุญาตให้เจ้าหน้าสาธารณสุขสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์ของคนที่ได้รับเชื้อโดยใช้สัญญาณบลูทูธ จะมีการเก็บข้อมูลของเจ้าของโทรศัพท์มือถือที่อยู่ในรัศมี 1.5 เมตรจากผู้ติดเชื้อนานว่า 15 นาที

สำหรับประเทศไทย กับการสแกน "ไทยชนะ" ใช้วันแรก 17 พ.ค. 2563 ช่วงที่มีการผ่อนคลายระยะที่ 2 แต่จากกรณีดีเจล่าสุดคงเป็นบทเรียนแล้วว่าการ์ดของการสแกน "ไทยชนะ" ในสถานที่ต่างๆ ที่อาจเป็นจุดเสี่ยง ตกลงอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม หากคุณเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 และสแกน "ไทยชนะ" คุณจะได้รับข้อความว่า 

"คุณได้รับข้อความนี้เนื่องจากเป็นผู้ที่สแกน "ไทยชนะ" ที่ร้านอาหารสามวันสองคืน  สาขาพระราม 3  ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิดในร้าน  จึงขอให้สังเกตอาการทางอาการทางเดินหายใจ เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ มีไข้ ภายในระยะเวลา 14 นับจากวันสุดท้ายที่ไปที่ร้านอาหารแห่งนี้ หากมีอาการป่วยให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน เพื่อขอรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาทันที และระหว่างนี้ให้สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง แยกของใช้จากผู้อื่น  สอบถามเพิ่มเติม โทร 1422

ด้วยความปรารถนาดีจากกรมควบคุมโรค

ที่มาข้อมูล : CNN BUSINESS / BBC /  Deutsche Welle ฯลฯ

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ