เสียงรอบเหมืองอัคราเปิด-ปิด เพื่อ"เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แม้ว่าการต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการระหว่างรัฐบาลไทยและ บ.คิงส์เกต กรณีเหมืองทองอัครา จะยังไม่มีข้อยุติ แต่ถ้าไปฟังความเห็นชาวบ้านรอบเหมือง มีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่ายชัดเจน ฝ่ายหนึ่งต้องการให้มีการไกล่เกลี่ยเพื่อกลับมาเปิดเหมืองอีกครั้งเพื่อช่วยเศรษฐกิจในพื้นที่ ขณะที่อีกฝ่ายไม่อยากให้เปิด เพราะกลัวผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ร้านอาหารตามสั่งของ นางภริตา ซัทตัน วัย 50 ปี ในหมู่บ้านหนองขนาก ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ซึ่งอยู่ติดกับถนนใหญ่ ก่อนเข้าไปยังเมืองทองอัครา มีบรรยากาศเงียบเหงา เพราะถนนเส้นนี้ไม่ค่อยมีรถสัญจรผ่านไปมาเหมือนเมื่อก่อน เพราะมีเพียงคนในชุมชนและพนักงานเหมืองบางส่วนที่ยังคงอยู่ในพื้นที่เท่านั้น

กลุ่มหนุนเหมืองทองอัคราเชื่อ มีกลุ่มค้านเพราะขายที่ไม่ได้

นางภริตา เปิดเผยว่า หลังเหมืองอัคราปิดตัวลง ขายอาหารตามสั่งได้เพียงวันละประมาณ 1,000 บาทเท่านั้น ต่างจากตอนที่เหมืองเปิดทำการ ขายได้ราววันละ 10,000 บาท จึงสนับสนุนอยากให้รัฐบาลไกล่เกลี่ยกับ บ.คิงส์เกต และอนุญาตให้เปิดเหมืองอีกครั้ง

ส่วนกรณีที่มีชาวบ้านอีกกลุ่มออกมาค้านการทำเหมืองนั้น นางภริตา มองว่า เสียผลประโยชน์จากการที่บริษัททำเหมืองไม่ซื้อที่ดิน หรือไม่ให้ราคาที่ต้องการโดยฝ่ายที่ค้านเหมืองเป็นเพียงคนส่วนน้อย และมีการจ้างคนนอกพื้นที่มาประท้วงด้วย ส่วนที่อ้างว่าเจ็บป่วยจากเหมืองนั้น สาเหตุอาจไม่ได้มาจากเหมือง แต่เป็นสารเคมีทางการเกษตรที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะส่วนตัวก็ไม่รู้สึกว่าเหมืองทำให้สุขภาพแย่ลง

ด้านฝ่ายคัดค้านการทำเหมืองอัคราอย่างเช่น นายมานิจ ลำพะสอน วัย 68 ปี ชาวบ้านหมู่บ้านเขาดิน ต.เขาเจ็ดต้น อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ยืนยันว่า สาเหตุที่ตนเองออกมาคัดค้านการทำเหมืองไม่ใช่เพราะขายที่ดินไม่ได้ แต่ไม่อยากขาย เพราะไม่อยากสนับสนุนเหมืองทำลายสิ่งแวดล้อม

นายมานิจ ระบุว่า ตอนเหมืองเปิดรรู้สึกได้ชัดว่าหายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก อากาศเต็มไปด้วยฝุ่นจากการระเบิดเหมือง ท้องฟ้าเห็นฝุ่นสีแดงชัดเจน แต่พอเหมืองปิดตัวลง สภาพอากาศก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับตนเองไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกร ไม่ได้ใกล้ชิดสารเคมี จึงเชื่อว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบจากเหมือง

ส่วนที่ฝ่ายสนับสนุนให้เปิดเหมืองบอกว่าฝ่ายคัดค้านเหมืองจ้างคนนอกพื้นที่มาประท้วง  น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง แกนนำชาวบ้านฝ่ายที่คัดค้านการทำเหมือง ชี้แจงว่า มีคนนอกพื้นที่มาร่วมคัดค้านด้วยจริง แต่ไม่เคยมีการว่าจ้าง โดยเป็นกลุ่มคนในจังหวัดอื่นที่บริษัทลูกของ บ.อัคราฯ จะไปสร้างเหมืองและเห็นผลกระทบของชาวบ้านรอบเหมืองที่นี่ เลยมาร่วมค้านด้วย

น.ส.สื่อกัญญา ยืนยันว่า ไม่ได้เสียผลประโยชน์จากการขายที่ดินไม่ได้ เพราะบริษัททำเหมืองเคยมาเสนอขอซื้อที่ที่มีอยู่เพียง 1 ไร่เศษ โดยให้ราคาสูงถึง 7 ล้านบาท แต่ไม่ว่าจะให้ราคาสูงแค่ไหนตนเองไม่ขาย เพราะไม่คุ้มกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยังมองว่า การที่หัวหน้า คสชใ.ช้ ม.44 สั่งปิดเหมืองเมื่อปลายปี 2559 เป็นสิ่งจำเป็น เพราะขณะนั้นสิ่งแวดล้อมถูกทำลายจนอยู่ในภาวะวิกฤตว จะร้องเรียนไปยังรัฐบาลไหน ๆ ก็ไม่เคยได้รับการแก้ไข คำสั่ง ม.44 จึงเป็นการช่วยชาวบ้าน และมีความหวังและเชื่อว่าสุดท้ายรัฐบาลจะชนะคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ ซึ่งส่วนตัวอยากให้ต่อสู้ถึงที่สุด ไม่อยากให้ไกล่เกลี่ยอนุญาตเปิดเหมืองขึ้นอีกครั้ง

เปิดใจ กรรมการบริษัทอัคราฯ เชื่อ หากรัฐไม่ใช้ ม.44 สั่งปิดเหมืองไม่ได้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ